วันศุกร์ที่ 22 เมษายน พ.ศ. 2559

โหมโรง หมาล่าเนื้อ

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

านปีล่าสุดของ “ลานนาโพสต์” ได้มีโอกาสสนทนาสั้นๆ กับสื่ออาวุโสของลำปางหลายท่าน ประสบการณ์ที่ได้จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่ำวันนั้น จุดให้เกิดประกายความคิดที่จะบอกเล่าบางเรื่องราวของคนที่ทำงานข่าวมายาวนานเกือบ 40 ปี คล้ายจะเป็นนิเทศศาสตร์นอกตำรา ที่หาอ่านไม่ได้จากที่อื่น
           
ตั้งใจจะเล่าเรื่อง “หมาล่าเนื้อ ยุคดิจิตอล” ที่คนข่าวกลายเป็นคนงานในโรงงานอุตสาหกรรม ต้องผลิตข่าวจำนวนมาก เพื่อตอบสนองความต้องการของนายทุน ที่ขยายธุรกิจสื่อในช่องทางที่หลากหลายมากขึ้น
           
แต่ก่อนถึงจุดนั้น ในช่วงปลายของชีวิตคนข่าว ที่ปรารถนาจะท้าทายความเชื่อเรื่องสื่อใหญ่มีอิทธิพลมากที่สุด มีความน่าเชื่อถือมากที่สุด โดยเลือกที่จะวัดกันด้วยสื่อท้องถิ่นเล็กๆที่ใจไม่เล็กเท่าสื่อใหญ่ ก็ต้องฉายภาพอนาคตของสื่อทั้งระบบให้เห็นก่อนที่สื่อใหญ่จะค่อยๆล้มหายตายจากไปกับทีวีดิจิตอล
           
เรากำลังอยู่ในจุดทดสอบ ความเป็นสื่อชุมชน ทั้งช่องทางหนังสือพิมพ์ วิทยุ เคเบิลทีวีท้องถิ่น และออนไลน์ ซึ่งก็อาจอยู่ในห้วงเวลาค้นหาทางเดินที่สอดคล้องกับบริบทของสังคมท้องถิ่น
           
หนังสือพิมพ์ยังไม่ตาย เคเบิลยังอยู่ได้ วิทยุมีคนฟัง
           
ในขณะที่สื่อระดับชาติได้ปรับทิศทางธุรกิจไปสู่สื่อออนไลน์ และสื่อกระจายเสียงและแพร่ภาพ โดยเฉพาะการขยายฐานธุรกิจไปสู่สื่อทีวีดิจิตอล ซึ่งหนังสือพิมพ์ขนาดใหญ่ไทยรัฐ และเดลินิวส์ ได้กระโจนเข้าไปในตลาดภาพและเสียงอย่างเต็มตัว
           
ประเด็นที่ท้าทายมาตลอดเวลาก็คือ แม้จะไม่มีแรงกดดันจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยีการสื่อสาร แต่สื่อหนังสือพิมพ์ทั้งเมืองเล็กเมืองใหญ่ ก็ไม่สามารถเอาตัวรอดได้อยู่แล้ว หากพึ่งพิงยอดขายหรือเม็ดเงินโฆษณาอันน้อยนิดเพียงอย่างเดียว
           
คนอ่านน้อยลง คนดูเพิ่มขึ้น ความหมายคือคนรับรู้ข้อมูล ข่าวสารจากการดูผ่านๆจากสื่อสังคมออนไลน์ แล้วมีความเห็นกันอย่างครึกโครม ทั้งที่ไม่ได้อ่านข้อความละเอียด
           
ปรากฏการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น และดำรงอยู่อย่างต่อเนื่องมาในสังคมสื่ออย่างน้อยไม่ต่ำกว่า 10 ปี สื่อในเมืองใหญ่ปรับตัวอย่างเห็นได้ชัด แต่สื่อในเมืองเล็กหรือสื่อท้องถิ่น ปรับตัวน้อยมาก
           
ส่วนใหญ่ยังคง แช่แข็ง อยู่กับการทำสื่อดั้งเดิม และยังคงค้นหาโมเดล หรือรูปแบบทางธุรกิจที่เหมาะสมกับสภาพของสื่อ เช่น อาจขยายฐานไปทำสื่อวิทยุชุมชน เคเบิลทีวี ออนไลน์ แต่ก็ยังไม่สามารถตอบโจทย์ทางธุรกิจ ที่ต้องเลี้ยงตัวให้อยู่รอดให้ได้
           
แน่นอนว่า การเดินตามสื่อใหญ่ไม่ใช่คำตอบ เพราะทีวีดิจิตอลที่หลายช่องประมูลมาได้ กสทช.ด้วยมูลค่านับพันล้านบาทนั้น กำลังเข้าแถวโดดน้ำตาย เพราะผู้บริโภคข่าวสารส่วนใหญ่ยังคงมีแบรนด์รอยัลตี้เหนียวแน่นกับละครยุงชุม และ วาไรตี้บันเทิงในทีวีระบบอนาล็อคเดิม อีกทั้งไม่ได้เข้าไปดูจากหน้าจอ แต่ไปในช่องทางอื่น เป็นลักษณะของทีวีออนดีมานด์ที่อนู่นอกเหนือเงื่อนไขของกลเวลาและสถานที่  ดังนั้น หนทางที่จะไปของสื่อท้องถิ่น ซึ่งส่วนใหญ่ยังอยู่กับสื่อหนังสือพิมพ์จึงต้องแตกต่าง

หากศึกษารูปแบบของหนังสือพิมพ์ในต่างประเทศ ส่วนหนึ่งได้ปรับตัวจากสื่อกระดาษเป็นสื่ออิเล็คทรอนิคส์ อีกส่วนหนึ่งยังคงรูปอยู่ในกระดาษ แต่เป็นสื่อกระดาษที่มีแนวทางและตำแหน่งทางการตลาดชัดเจน นั่นคือการเป็นหนังสือพิมพ์ชุมชน หรือ community newspapers คือการเสนอข่าวที่ใกล้ชิดชุมชน การเสนอข่าวที่อาจไม่น่าสนใจสำหรับหนังสือพิมพ์ระดับชาติ แต่เสนอข่าวที่พวกเขารู้สึกได้ถึงความเกี่ยวข้องและผลกระทบ
           
ทำนองเดียวกับที่หนังสือระดับชาติ เสนอข่าวการปรับขึ้นค่าทางด่วน ข่าวนโยบายเศรษฐกิจและการเงินระดับมหภาค ซึ่งคนท้องถิ่นไม่ได้รู้สึกว่าเกี่ยวข้องกับชีวิตเขาอย่างไร นี่ก็เป็นทางหนึ่ง แต่จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการทำข่าว ให้เห็นเรื่องใกล้ตัวเป็นเรื่องสำคัญ และทำอย่างละเอียดต่อเนื่อง ซึ่งลานนาโพสต์ได้เป็นห้องทดลองการทำข่าวเช่นนี้มาแล้วระยะหนึ่ง
           
เราไม่อาจปฏิเสธได้ถึงความเปลี่ยนแปลงของภูมิทัศน์สื่อ หรือ Media Landscape โลกของสื่อยุคหลอมรวมได้สร้างปรากฎการณ์ใหม่ ความรู้ใหม่ทางด้านการสื่อสารที่ผู้เกี่ยวข้อง ตั้งแต่สถาบันการศึกษาซึ่งผลิตบัณฑิตให้กับตลาดแรงงานจนกระทั่งผู้ประกอบวิชาชีพสื่อตามไม่ทันเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว  โดยเฉพาะในแง่ของการบริหารจัดการ  ซึ่งมีความสลับซับซ้อนมากขึ้น  สื่อหนังสือพิมพ์ขนาดกลาง – เล็ก หลายฉบับ ในเมืองใหญ่ได้ตกขบวนรถไฟสายคอนเวอร์เจ้นท์ไป ด้วยการประเมินสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงที่ผิดพลาด
           
แต่สำหรับสื่อท้องถิ่น คงไม่ถึงขนาดจะต้องสร้างห้องข่าว Convergent เพื่อแข่งกับสื่อใหญ่ หรือถึงก้าวช้าไปบ้าง ก็คงยังไม่เจ็บหนัก แต่ความเปลี่ยนแปลงต้องเกิดขึ้น เป็นความเปลี่ยนแปลงในการทำสื่อให้ใกล้ชิดกับพื้นที่ ประการสำคัญคือหลักการที่ต้องยึดถือเคร่งครัด ไม่ใช้สื่อไปต่อยอดทำมาหากินในทางที่ไม่สุจริต
           
เราอาจบอกไม่ได้ชัดนักว่า รูปแบบธุรกิจที่สื่อโดยเฉพาะหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นจะก้าวไปเพื่อรักษาตัวให้รอดนั้นจะเป็นเช่นใด เพราะสื่อในเมืองใหญ่ก็ประเมินสถานการณ์ตัวเองไม่ได้
           
สื่อใหญ่บางสื่อในส่วนกลางประกาศจะเป็นหมายเลข ทันทีเมื่อได้ครอบครองทีวีดิจิตอล แสดงความมั่นใจว่าจะประสบความสำเร็จอย่างสูงในธุรกิจสื่อ แต่เมื่อทีวีดิจิตอลเดินเต็มระบบ วันนี้คือนับถอยหลัง กับจำนวนคนที่เดินออกไปสู่องค์กรสื่อที่ดูมั่นคงกว่า มีความเป็นมืออาชีพมากกว่า สื่อท้องถิ่นลงทุนน้อย เจ็บตัวน้อย แต่ก็จำเป็นต้องปรับตัว
           
บนฐานคิดและความเชื่อว่า ในแต่ละท้องถิ่นก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่เรียกร้องต้องการ สื่อที่บอกเล่าเรื่องใกล้ตัวของเขา สื่อที่วางใจได้ สื่อที่มั่นคงในหลักวิชาชีพ และมีความรับผิดชอบต่อผู้คนทั้งหลาย แนวทางการเป็นหนังสือพิมพ์ชุมชน ที่มีคุณภาพทัดเทียมสื่อส่วนกลาง คือทางออกหนึ่งที่เป็นไปได้
           
ในฐานะหมาล่าเนื้อ ที่น่าจะยังมีเขี้ยวเล็บ มีอีกหลายเรื่องราวที่จะบอกกล่าวกัน โปรดติดตาม

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1075 วันที่ 22 - 28 เมษายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์