
เพราะชอบกินผักเป็นชีวิตจิตใจ สงวนและนพพร สีธรรมใจ คู่สามี-ภรรยาที่รักสุขภาพ จึงลงมือปลูกผักไว้กินเอง แม้บ้านจะมีพื้นที่อยู่เพียงน้อยนิด แต่ทั้งสองก็ไม่ละความพยายาม เริ่มจากผักในกระถางริมรั้วไล่ลามไปจนถึงระเบียงชั้นสอง กระทั่งถึงวันที่มีสมาชิกครอบครัวเพิ่มขึ้น ทั้งสองคนจึงเริ่มจริงจังกับการปลูกผักมากขึ้น เพราะอยากให้ลูกๆรักการกินผัก พร้อมกับเรียนรู้ที่จะปลูกเองด้วยครอบครัวสีธรรมใจช่วยกันปรุงดิน ผสมปุ๋ย แต่ก็เริ่มท้อกับการถางหญ้า พรวนดิน ทั้งยังต้องสู้รบกับบรรดาศัตรูพืชอย่างแมลงและหอยทาก สงวนเริ่มตระหนักแล้วว่า การปลูกพืชในดินนั้นมีข้อจำกัดมากมาย จึงเริ่มหาข้อมูลเกี่ยวกับการปลูกพืชแบบไฮโดรโพนิกส์


“เราได้ความรู้เกี่ยวกับการปลูกผักแบบปลอดภัยจริง ๆจาก รศ.ดร.อานัฐ ตันโช ซึ่งทำงานกับโครงการหลวง ได้เรียนรู้เรื่องสูตรปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ของโครงการหลวงที่ปลอดสารพิษ ทำให้มั่นใจจริงๆว่า ผักจะไม่มีสารตกค้างแน่นอน” นพพรเล่าพลางยิ้ม
“ปุ๋ยของโครงการหลวงเป็น Food Grade หรือธาตุอาหารครับ เราจะให้ในปริมาณเหมาะสมกับความต้องการของผักแต่ละชนิด ไม่มีการเร่งโต ไม่มีการใช้ยาฆ่าแมลงเด็ดขาด เพราะเราปลูกเอง กินเอง และขายเองครับ”สงวนกล่าวเพิ่มเติม
Hydroponics คือ การปลูกพืชโดยให้รากพืชแช่อยู่ในน้ำสารละลายธาตุอาหารโดยตรงผักส่วนใหญ่สามารถปลูกด้วยวิธีนี้ได้ สงวนและนพพรเลือกปลูกทั้งผักสลัดและผักไทยโดยแยกโต๊ะปลูก เนื่องจากผักทั้งสองประเภทต้องการธาตุอาหารแตกต่างกันไม่ว่าจะเป็นกรีนโอ๊ก เรดโอ๊ก ฟิลเลย์ เรดคอรัล บัตเตอร์เฮด คอส เรดคอส ซึ่งทั้งหมดเป็นผักกินใบและนำมาใช้ในจานสลัดใช้เวลาปลูกราว 1 เดือนครึ่งก็เก็บขายได้ ส่วนผักไทยพวกเขาเลือกปลูกผักคะน้า ผักกาดขาวเบา ผักกวางตุ้ง และผักฮ่องเต้ราว 1 เดือนก็เก็บขาย ทั้งนี้ ก่อนการเก็บเกี่ยวยังได้แทนที่สารละลายธาตุอาหารด้วยน้ำธรรมดา หรือที่นพพรเรียกว่า “รันน้ำเปล่า” เพื่อให้ผักของพวกเขาสะอาด ปลอดภัยมากที่สุด
เมื่อเร็วๆนี้ มีข้อมูลที่น่าสนใจจากคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งได้ศึกษาเรื่องการสะสมไนโตรตในผักสลัดจากแหล่งปลูกต่างกัน 6 แหล่งแล้วพบว่า ผักสลัดที่ปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์นั้น มีปริมาณไนเตรตตกค้างน้อยที่สุด

ทุ่มเทให้กับการปลูกผักแบบไฮโดรโพนิกส์มา2 ปีเต็ม ทุกวันนี้บ้านแทบไม่เหลือพื้นที่ว่างอีกต่อไป สงวนเพิ่มโต๊ะปลูกผักอีกหลายโต๊ะ รวมทั้งสร้างโรงเรือนใหม่ให้ได้มาตรฐาน แม้จะไม่เทียบเท่าโรงเรือนระบบ EVAP ที่ต้องใช้เงินสูงถึงหลักล้าน แต่เขาก็มั่นใจว่า ในอนาคตใบบุญบ้านสวนผักจะสามารถผลิตผักป้อนตลาดได้อย่างมีประสิทธิภาพและสม่ำเสมอแม้จะเป็นฤดูร้อนก็ตาม

สองสามีภรรยาจะเดินทางไปจังหวัดเชียงใหม่เพื่อซื้อปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ผักของโครงการหลวงเป็นระยะ ถึงแม้ว่าจะมีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง อีกทั้งปุ๋ยและเมล็ดพันธุ์ก็ราคาสูงตามคุณภาพ แต่ทั้งสองคนภูมิใจที่ผักของใบบุญบ้านสวนผักมีมาตรฐานเดียวกับผักของโครงการหลวง สำหรับสงวน เขายังเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงคำว่า “เกษตรกร”
“ตั้งแต่หันมาปลูกผักนี่ รู้เลยว่าเกษตรกรเป็นอาชีพที่ต้องอดทนมาก ถ้าต้องซื้อผักผมจะไม่กล้าต่อเลยครับ” สงวนหัวเราะ อีกสิ่งหนึ่งที่เขาค้นพบจากการปลูกผักแบบไฮโดรโพนิกส์ ซึ่งมีรายละเอียดให้ประหลาดใจอยู่เสมอ นั่นคือ “ธรรมชาติเป็นเรื่องมหัศจรรย์จริงๆ” สงวนทิ้งท้าย
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น