
ติวเข้มผู้ประกอบการเซรามิกทำธุรกิจสมัยใหม่ ยกขีดความสามารถแข่งขันในตลาด AEC คัด 10 โรงงานร่วมเปิดตลาดที่เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศพม่า
เมื่อวันที่ 25 เม.ย.59 นายสมชัย กมลเทพเทวินทร์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง เป็นประธานเปิดการอบรมตามโครงการลำปางเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานแรงงานจังหวัดลำปาง สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง และมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยคณะการสื่อสารมวลชน จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-27 เม.ย. 59 พร้อมกันนี้ได้มีการแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนในการจัดโครงการดังกล่าว ที่โรงแรมบุษย์น้ำทอง อ.เมือง จ.ลำปาง
นายเกียรติพงษ์ แสนยากุล แรงงานจังหวัดลำปาง ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานว่า กิจกรรมครั้งนี้ได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2554 ได้ขับเคลื่อนเรื่อยมา และเพิ่งได้รับงบประมาณเข้ามาในปี 2559 จำนวน 2 ล้านบาท มีผู้ประกอบการสมัครเข้าร่วมโครงการมาจำนวน 150 แห่ง เพื่อให้ผู้ประกอบการเซรามิก มีความรู้ได้รับการถ่ายทอดองค์ความรู้การทำธุรกิจเซรามิกแบบสมัยใหม่ และเป็นไปอย่างสร้างสรรค์เพื่อเข้าสู่ตลาด AEC และมีโอกาสเข้าร่วมเจรจาธุรกิจหรือขยายการค้าหรือมีการเพิ่มการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน
เนื่องจากเล็งเห็นถึงประโยชน์และความจำเป็นที่จะต้องเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการเซรามิกขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของจังหวัดลำปางในการเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) เพื่อยกระดับขีดความสามารถของตนเอง ให้สามารถใช้ประโยชน์จากโอกาสที่มีอยู่เดิมและกำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเต็มที่ รวมทั้งมีความรู้ในการทำธุรกิจกับกลุ่มประเทศอาเซียนเพื่อรับมือกับการแข่งขันทางการค้าที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยมีการอบรมพัฒนาและให้คำปรึกษาแนะนำเชิงลึกแก่ผู้ประกอบการเซรามิกที่เข้าร่วมโครงการฯ ให้มีความรู้เกี่ยวกับกระบวนการในการพัฒนาธุรกิจและมีแผนกลยุทธ์เพื่อใช้ในการเตรียมตัวออกสู่ตลาด AEC รวมทั้งมีโอกาสเข้าร่วมเจรจาธุรกิจเพื่อขยายการค้าหรือเพิ่มมูลค่าการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน
แรงงานจังหวัด กล่าวว่า เซรามิกเป็นที่หนึ่งของ จ.ลำปางอยู่แล้ว แต่การดีไซน์ที่จะนำไปสู่ความต้องการของตลาดจะทำอย่างไร ก็ต้องหาผู้เข้ามาช่วยเหลือสนับสนุนให้ความรู้ในส่วนนี้ จึงได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาช่วยในเรื่องการตลาด การออกแบบผลิตภัณฑ์ การนำสินค้าไปแสดงในกลุ่มอาเซียน คือ เมืองมัณฑะเลย์ ประเทศเมียนมาร์ เพื่อจับกลุ่มธุรกิจ ช่วงประมาณเดือน มิ.ย.59 โดยคัดเลือกจากผู้ประกอบการที่เข้าร่วมอบรมครั้งนี้ เพียง 10 โรงงานเท่านั้น เพื่อนำแผนธุรกิจไปทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน
นายชัยณรงค์ จุมภู นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปาง กล่าวว่า สมาคมฯ มีสมาชิกเป็นผู้ประกอบการเซรามิกกว่า 300 โรงงาน มีคนทำงานและแรงงานที่เกี่ยวข้องอยู่ในธุรกิจนี้ไม่ต่ำกว่า 50,000 คน โดยที่มูลค่าการตลาดของธุรกิจเซรามิกของจังหวัดลำปางในแต่ละปีนั้นมีมูลค่ารวมหลายพันล้านบาท
ตามโครงการนี้จะเป็นส่วนที่ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการจากการที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะได้เข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้การทำธุรกิจเซรามิกสมัยใหม่และเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ให้โอกาสเข้าร่วมเจรจาธุรกิจหรือขยายการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน
ตามโครงการนี้จะเป็นส่วนที่ช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการจากการที่ทางมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จะได้เข้ามาถ่ายทอดองค์ความรู้การทำธุรกิจเซรามิกสมัยใหม่และเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ ให้โอกาสเข้าร่วมเจรจาธุรกิจหรือขยายการค้าการลงทุนในกลุ่มประเทศอาเซียน
ด้านรองศาสตราจารย์ ธีรภัทร วรรณฤมล คณบดีคณะการสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้การสนับสนุนการจัดโครงการอบรมนี้ โดยการทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาโครงการ ตลอดจนเป็นผู้ดำเนินการและให้คำแนะนำในการจัดทำโครงการการจัดอบรมครั้งนี้เป็นการถ่ายทอดองค์ความรู้ในหลากหลายด้าน เช่น การอบรมการตลาดสมัยใหม่เพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาด AEC, หลักสูตรการเขียนแผนธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการเซรามิก, การอบรมโปรแกรมสำเร็จรูปเพื่อการบันทึกบัญชีเบื้องต้น และการอบรมความรู้กฎหมายด้านแรงงาน เป็นต้น เพื่อให้ผู้เข้าร่วมอบรมได้รับความรู้อย่างรอบด้านในการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมเซรามิก ซึ่งจะช่วยยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันได้เป็นอย่างดีในภาวะปัจจุบัน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1076 วันที่ 29 เมษายน - 5 พฤษภาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น