วันศุกร์ที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

พลิกนาข้าว ปลูกเมลอน ขรก.เกษียณปั้นดินเป็นเงิน

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

เมลอน เรียกได้ว่าเป็นพืชสวนปราบเซียนประเภทหนึ่งก็ว่าได้ เพราะนอกจากจะต้องลงทุนสูงและมีรายละเอียดการเพาะปลูกที่ต้องอาศัยการดูแลเอาใจใส่ค่อนข้างมาก มีต้นทุนการปลูกสูง ราคาจึงสูงตาม ทำให้ต้องขายในตลาดผู้มีรายได้สูงจึงเป็นแรงจูงใจและท้าทายให้ จรัส แก้วงษ์ อดีตข้าราชการเกษตรอำเภอ ที่เกษียณอายุราชการแล้วผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรผู้ปลูกเมลอน ต่อยอดจากการปลูกข้าว ปลูกมะนาวและพืชสวน ในที่นาบ้านเกิดของตนเอง บ้านน้ำโทกหมู่4  ตำบลแม่ทะ อำเภอแม่ทะ จังหวัดลำปาง
           
จรัสเล่าว่า ก่อนหน้านี้เขาทำนาข้าวแต่ด้วยสภาพพื้นที่มีปัญหาเรื่องขาดแคลนน้ำ ได้ผลผลิตข้าวไม่ดีนัก จึงอยากหันมาปลูกพืชเศรษฐกิจที่ใช้พื้นที่น้อยได้ผลผลิตราคาดี ง่ายต่อการจัดการพื้นที่ปลูก ซึ่งพบว่าเมลอนเป็นพืชเศรษฐกิจที่น่าสนใจ ให้ผลตอบแทนสูงและด้วยประสบการณ์ด้านงานส่งเสริมการเกษตรในชีวิตราชการ ทำให้มีเพื่อนผู้เชี่ยวชาญหลายด้านให้คำแนะนำ ประกอบกับการศึกษาหลายช่องทางเรียนรู้การปลูกเมลอน ทำให้มั่นใจต่อการลงทุนและความเสี่ยงของการตัดสินใจทำโรงเรือนเฟสแรก
           
“ในเรื่องเทคนิคการปลูกผมก็ศึกษาและมีที่ปรึกษาที่ดี หลังจากตัดสินใจว่าจะปลูกเมลอน ผมเริ่มวางแผนเตรียมพื้นที่ปลูกบนที่นาเดิม เตรียมดินโดยการเน้นใช้ปุ๋ยหมักและวิถีอินทรีย์เป็นจุดเริ่มต้น จากนั้นก็ออกแบบโรงเรือนให้มีการลงทุนน้อยที่สุด ผมเลือกใช้ไม้ไผ่ทำโครงแทนที่จะใช้เป็นโครงหลังคาสำเร็จรูปซึ่งแพงกว่า เกือบ 10 เท่าตัว ดังนั้นจุดเริ่มต้นของการลงทุนจึงไม่หนักมากสำหรับการปลูกเฟสแรก”
           
จรัสสร้างโรงเรือนง่ายๆด้วยโครงไม้ไผ่คลุมด้วยพลาสติก และมุ้งตาข่ายกันแมลงตามแบบโรงเรือนทั่วไป ในพื้นที่เพียง 8 x 24 เมตร ปลูกเมลอนได้ 360 ต้น เขาเล่าพร้อมกับนำชมแปลงเมลอนที่กำลังจะเก็บเกี่ยวว่า
           
กว่าปลูกเมลอนให้ได้ผลผลิตที่มีดีหมายถึงผลสวย ได้น้ำหนัก มีเทคนิคไม่ซับซ้อน แต่ต้องดูแลใกล้ชิดตั้งแต่งอกลำต้นออกมา การตัดแต่งกิ่งแขนง นับใบให้เหลือยอดที่สมบูรณ์ ตามสูตรสำเร็จให้ได้ผลผลิตเพียงต้นละ 1 ลูกเท่านั้น  แต่ด้วยลักษณะเฉพาะตัวของเมลอน เป็นพืชที่ต้องการสร้างความหวาน นอกจากดินที่มีคุณภาพดีแล้ว สูตรการให้น้ำและปุ๋ยสร้างความหวานตามหลักวิชาการเกษตรที่ถูกต้อง บวกกับโรงเรือนปิดที่ป้องกันแมลงวัชพืชได้ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สารเคมีประเภทยาฆ่าแมลงใดๆ เป็นจุดแข็งของผลผลิตปลอดสารพิษที่ได้ราคางาม
           
เมลอนแปลงแรกที่เขาปลูกได้ผลผลิตดีเป็นที่น่าพอใจ คือผิวสวย น้ำหนักดี เฉลี่ยลูกละ 1.4-1.5 กิโลกรัม บางต้น 1 ลูกน้ำหนักมากถึง 2 กิโลกรัม ถือว่าประสบความสำเร็จในระดับดีในเรื่องของการควบคุมสภาพแวดล้อมในแปลงเพาะปลูกที่เหมาะสม ขณะที่กำลังเก็บเกี่ยวในแปลงแรกเขายังได้เตรียมโรงเรือน ใหม่ สร้างจากโครงเหล็กที่แข็งแรงอีก 5 แปลง และเตรียมพื้นที่ปลูกแบบเปิด(นอกโรงเรือน) โดยจะใช้เทคนิคการเกษตรแบบปลอดภัย มาตรฐาน GAP (Good Agriculture Practice) รองรับอีกประมาณ 3,000 ต้น
           
ธนกร ฐานะปัญญาดีเกษตรกรผู้ปลูกเมลอนบ้านดอกสบันงา หมู่ 8 อ.แม่ทะ ในฐานะเกษตรกรพี่เลี้ยงสำหรับการปลูกเมลอนให้กับจรัส กล่าวเสริมว่า เมลอนสายพันธุ์ที่มีความต้องการทางตลาดสูงคือ เมลอนกรีนเนท เนื้อสีเขียว และเมลอนอัลฟ่า เนื้อสีออกส้ม ซึ่งแปลงปลูกเมลอนของตนและที่แปลงแรกของจรัสก็ปลูกทั้งสองสายพันธุ์ เพื่อหวังผลทางการตลาด ในเบื้องต้นวางแผนการตลาดไว้ว่าจะขายร่วมกับเครือข่ายผู้ปลูกเมลอนจังหวัดลำพูน ซึ่งมีตลาดห้างสรรพสินค้ารองรับอยู่แล้วแต่ขณะนี้ผลผลิตที่เก็บเกี่ยว ขายปลีกให้หน่วยงานต่างๆในพื้นที่จังหวัดลำปาง และกลุ่มพ่อค้าคนกลางก็ยังไม่พอขาย
           
"เมลอนเป็นผลไม้ที่กำลังเป็นที่นิยมในท้องตลาด อายุการเพาะปลูกตั้งแต่งอกต้น จนเก็บเกี่ยว 8 เดือนแต่หากควบคุมคุณภาพให้ดีก็ได้ผลตอบแทนที่คุ้มค่า ราคาหน้าสวนขาย กิโลกรัมละ 100 บาท บางทีเราก็ขายปลีกตามตลาดนักเกษตร หรือตลาดนัดของหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจต่างๆในราคาหน้าสวนก็ขายดีมาก ช่วงเทศกาลที่สวนผมแทบไม่พอขาย อีกตลาดที่ใหญ่มากคือ ห้างสรรสินค้าต่างๆยังมีความต้องการสูง แต่ราคาขายอาจจะลดลงเหลือเพียง กิโลกรัมละ 70 บาทหากมีกำลังการผลิตที่ส่งป้อนได้ตามออเดอร์ก็ยังมีผลกำไรงาม
           
“สิ่งที่เห็นจากพี่จรัส หันมาปลูกเมลอนในเชิงเศรษฐกิจวันนี้ คือการเปิดเครือข่ายผู้ปลูกเพิ่มขึ้น เมื่อมีหลายรายรวมกันก็มีผลผลิตรองรับการตลาดเชิงพาณิชย์ เช่นห้างสรรพสินค้าได้ตลอดปีโดยที่เกษตรกรไม่ต้องแบกภาระต้นทุนฟาร์มขนาดใหญ่"ธนกรกล่าวเสริมอย่างมีความหวังส่งเสริมให้ความท้ายทายในใจของเกษตรกรรายใหม่ให้มีฝันใหญ่ในการก้าวสู่การปลูกพืชตลาดบนมากขึ้น
           
แปลงปลูกเมลอนของ จรัส แก้วงษ์ นับเป็นตัวอย่างของเกษตรกรรายใหม่ที่มีใจหาญกล้าก้าวสู่การปลูกพืชตลาดบนสร้างรายได้ใหม่อีกหนึ่งช่องทาง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1079 วันที่ 20 - 26 พฤษภาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์