วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ฝนตก พายุมา ต้นไม้ถูกกล่าวหาว่าทำมนุษย์เดือดร้อน

จำนวนผู้เข้าชม website counter

กุลธิดา สืบหล้า...เรื่อง
            
หลังพายุฝนผ่านพ้น เราคงเห็นมหกรรมหนึ่งเกิดขึ้นจนน่าตกใจ นั่นก็คือการระดมสรรพกำลังสังหารโหดต้นไม้ โทษฐานก่อให้เกิดความสุ่มเสี่ยงต่อสายไฟฟ้า สร้างความเสียหายให้สิ่งก่อสร้าง อาคารบ้านเรือน หรือแม้แต่ทำใบและกิ่งเล็ก ๆ หล่นเกลื่อนพื้นถนน ก็คนมันขี้เกียจกวาดน่ะ ต้นไม้หลายต้นจึงโชคร้าย เมื่อมันไม่ได้รับอนุญาตให้เติบโต
           
สำหรับคนรักต้นไม้คงเสียใจไม่น้อย แล้วยังข่าวคราวการตัดต้นไม้ใหญ่ทิ้งอย่างไร้ค่า ซึ่งมีให้เห็นเป็นระยะในโลกโซเชียลนั่นอีกคราวนี้ได้แต่นั่งคับแค้นอยู่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ทำอะไรไม่ได้ จริง ๆ ทำได้นะ ทุกวันนี้กรุงเทพฯ เขามีเครือข่ายต้นไม้ในเมืองกันแล้ว มีการผลักดันให้เกิดโครงการ “สายตรวจต้นไม้โดยเชิญชวนคนรักต้นไม้ทุกคนทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย (รวมลำปางด้วย...เฮ)ช่วยกันทำหน้าที่สอดส่อง ดูแล และตรวจตราต้นไม้ในชุมชนของตัวเองว่ามีปัญหาอะไร ทั้งการตัดแต่งกิ่งที่ผิดสภาพ ปัญหาการตัดยอด การเทคอนกรีตชิดลำต้น ฯลฯ จากนั้นถ่ายภาพแล้วแชร์ลงในโลกโซเชียล พร้อมกับติดแฮชแท็ก (#) สายตรวจต้นไม้ เพื่อให้เกิดความเคลื่อนไหวทางออนไลน์และเกิดแนวทางการแก้ไขปัญหาต่อไป
           
เราไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับการตัดต้นไม้ในทุกกรณี เพียงแต่อยากให้ตัดอย่างถูกวิธีก็เท่านั้น เกี่ยวกับการตัดต้นไม้นี้ ศ. กิตติคุณ เดชา บุญค้ำศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภูมิสถาปัตยกรรม) ประจำปี พ.ศ. 2549 ผู้ก่อตั้งภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ให้ความรู้ที่ถูกต้องตามศาสตร์รุกขกรรม นั่นคือ ต้องปล่อยให้ต้นไม้โตเกินระยะสายไฟและห้ามตัดแบบบั่นยอด แต่ตัดแบบ “ทอนยอด” เพราะการตัดแบบบั่นยอดเป็นวิธีที่ผิดมาก ๆ ปัญหาจะไม่มีวันจบ แต่จะยิ่งเรื้อรัง เพราะจะทำให้มีกิ่งกระโดงแตกออกใหม่อีกมากมายนับสิบ ๆ กิ่ง แล้วกิ่งพวกนี้แหละที่จะไปพันสายไฟอีกเหมือนเดิม แถมโตขึ้นมาแล้วยังอ่อนแอตลอดชีวิตวิธีตัดที่ถูกต้อง คือ การทอนยอด คือ ตัดกิ่งที่อยู่ในระยะสายไฟออก เปิดพื้นที่ช่วงสายไฟให้โล่งขึ้น และตัดให้ชิดคอกิ่ง เพื่อให้ต้นไม้สมานแผลได้ บริเวณที่ตัดจึงจะไม่มีกิ่งใหม่แตกออกมาอีก จึงลดปัญหากิ่งไม้พันสายไฟ และควบคุมรูปทรงของต้นไม้ ตัดกิ่งแห้ง สางไม่ให้ทึบเกินไป แค่นี้ต้นไม้ในเมืองของไทยก็สามารถอยู่ร่วมกับสายไฟได้เช่นเดียวกับที่นานาประเทศเขาทำกัน
           
ล่าสุดตื่นเต้นดีใจเหลือเกิน ที่นายกรัฐมนตรีเห็นถึงความสำคัญของต้นไม้ใหญ่ในเขตเมือง โดยพูดถึงหลักการของรุกขกรรม เนื่องจากที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่มักละเลยการใช้หลักวิชาการ ส่งผลให้ต้นไม้ถูกทำลายอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์ นอกจากนี้ บิ๊กตู่ยังเห็นถึงความสำคัญของการมีรุกขกร ที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงาน ซึ่งมีหน้าที่สร้างถนน ทางเท้า และติดตั้งเสาไฟฟ้า เพื่อช่วยดูแลต้นไม้อย่างถูกวิธี ให้สามารถอยู่ร่วมกับสายไฟฟ้าและชุมชนเมืองได้ ไม่ใช่คิดจะตัดทำลายแต่เพียงอย่างเดียว ทั้งยังขอให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการดูแล หากพบเห็นการทำลายต้นไม้อย่างไม่ถูกต้อง สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์ดำรงธรรมทั่วประเทศ อย่างนี้คนรักต้นไม้ต้องติดตามแล้วล่ะว่าจะมีอะไรเป็นรูปธรรมให้ชื่นใจบ้าง
           
ทุกวันนี้ เราต่างรับรู้ถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนจนน่ากังวล ภาวะโลกร้อนไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไปแล้ว ช่วยกันรักษาต้นไม้ใหญ่และปกป้องพื้นที่สีเขียวไว้ให้มากที่สุด อาจคือวิธีง่าย ๆ ที่จะทำให้เมืองเล็ก ๆ ของเราไม่ร้อนระอุไปมากกว่านี้ก่อนอื่น ขอรุกขกรมาประจำที่เทศบาลนครลำปางสักคนเถอะ

...............
           
หมายเหตุ ในประเทศที่ให้ความสำคัญกับต้นไม้ใหญ่มาก จะมีวิชารุกขกรรม (Arboriculture) เป็นสาขาวิชาที่เกี่ยวกับการดูแลจัดการต้นไม้ใหญ่โดยเฉพาะ และเรียกผู้ที่ประกอบวิชาชีพนี้ว่า รุกขกร (Arborist) ซึ่งก็คือ ผู้เชี่ยวชาญในด้านการดูแลต้นไม้ มีความรู้เกี่ยวกับความต้องการของต้นไม้อย่างถูกต้อง ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีหน้าที่รักษาสมดุลระหว่างมนุษย์กับต้นไม้อีกด้วยที่ผ่านมาเราตัดแต่ง ดูแลรักษาต้นไม้ในเมืองกันอย่างไม่ถูกต้อง ต้นไม้จึงไม่เพียงมีรูปทรงอัปลักษณ์ แต่ยังก่อให้เกิดปัญหาตามมา รุกขกรที่เชี่ยวชาญจะตัดแต่งต้นไม้ให้สวยงามโดดเด่นได้ ทั้งยังช่วยทำให้ต้นไม้มีสุขภาพสมบูรณ์ไปพร้อม ๆ กัน

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1082 วันที่ 10 - 16 มิถุนายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์