ระดมความเห็น เตรียมร่างพ.ร.บ.ฉบับใหม่แก้ปัญหาการจัดการทรัพยากรแร่ และการจัดเก็บค่าภาคหลวงแร่ใหม่ ด้านอุตสาหกรรมเซรามิกและเหมืองแร่ดินขาวลุ้นปลดล็อคต่อใบอนุญาตประทานบัตรอ้างมีผลต่อการวางแผนการผลิตและการตลาดในระยะยาว
จากการประชุมระดมความคิดเห็น
“มุมมองการบริการจัดการทรัพยากรแร่ของประเทศไทย”โดยกรมทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
ณ โรงแรมเวียงลคอร อ.เมือง จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.2559 ตามที่กรมทรัพยากรธรณีมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรแร่
ภายใต้ พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510
ซึ่งมีสาระสำคัญเกี่ยวข้องในการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ในประเทศไทยหลายประเด็น ซึ่งการสัมมนานี้เป็นส่วนหนึ่งของการระดมความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่ที่มีเหมืองแร่ทั่วประเทศ
เพื่อเป็นข้อมูลจัดทำร่าง พ.ร.บ.ฉบับใหม่ทดแทน ฉบับ พ.ศ.2510
ซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการวิสามัญ ตามที่กระทรงอุตสาหกรรมได้เสนอปรับปรุง
พ.ร.บ.แร่ พ.ศ.2510 และ พ.ร.บ.พิกัดอัตราค่าภาคหลวงแร่ พ.ศ.2509 เข้าด้วยกันการประชุมครั้งนี้มีตัวแทนจากทุกภาคส่วนที่มีส่วนได้ส่วนเสียกับทรัพยากรเหมืองแร่ในลำปางร่วมรับฟัง
เช่น สมาคมเหมืองแร่จังหวัดลำปาง
สมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปางผู้มีส่วนในการใช้แร่ดินขาวเป็นวัตถุดิบต้นน้ำในอุตสาหกรรมเซรามิก
ตลอดจนภาคประชาสังคมที่สนใจในประเด็นผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากอุตสาหกรรมเหมืองแร่

“ลำปางเป็นพื้นที่ที่มีเหมืองแร่หลากหลาย
ทั้งหินแร่ เหมืองลิกไนต์ เหมืองของบริษัทปูนซิเมนต์ และเหมืองดินขาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมเซรามิก
ซึ่งแต่ละส่วนก็มีข้อกำหนดกฎหมายที่ยังรอการแก้ไข
เช่นการประทานบัตรเหมืองแร่ดินขาวที่รอกันมาหลายปีจนป่านนี้ยังไม่สามารถต่อใบอนุญาตได้เพราะติดระเบียบ
ดังนั้นข้อไหนที่เป็นปัญหาก็รวบรวมข้อมูลไปพิจารณาเชื่อว่าในระยะ 2
ปีนี้น่าจะมีแผนและทางออกที่ชัดเจน” อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีกล่าว
ชัยณรงค์
จุมภู นายกสมาคมเครื่องปั้นดินเผาลำปางกล่าวว่า ขณะนี้อุตสาหกรรมเซรามิกให้ความสนใจในเรื่องนี้มากเนื่องจากแร่ดินขาวมีความสำคัญต่ออุตสาหกรรมเซรามิก
ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมหลักของลำปางมีมูลค่าการส่งออกปีละไม่น้อยกว่า 3,000 ล้านบาท
และที่ผ่านมาทราบว่า อุตสาหกรรมเหมืองแร่ดินขาวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ
กังวลต่อปัญหาการต่อใบอนุญาตประทานบัตรเพื่อนำแร่ดินขาวขึ้นมาใช้ประโยชน์
ทั้งนี้ข้อมูลเกี่ยวกับกฎหมายเหมืองแร่จะมีความเกี่ยวเนื่องต่อทิศทางและแผนการพัฒนาอุตสาหกรรมเซรามิกและอุตสาหกรรมเชื่อมโยงกันในอนาคตด้วยเช่นกัน
ด้านแหล่งข่าว
จากโรงงานอุตสาหกรรมเหมืองแร่ดินขาวในจังหวัดลำปาง ระบุว่า
ขณะนี้โรงงานดินขาวส่วนใหญ่ยังทำเหมืองแร่นำดินขาวตามปกติ
ซึ่งปริมาณเหมืองแร่ดินขาวในลำปาง บริเวณรอยต่ออำเภอเมืองกับอำเภอแจ้ห่มยังมีปริมาณมากหลายร้อยล้านตัน
แต่ข้อกังวลต่อปัญหาคือความไม่ชัดเจนทางกฎหมายเกี่ยวกับการต่อใยอนุญาตประทานบัตร
ซึ่งมีผลต่อการวางแผนการผลิตและการตลาดในระยะยาว
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1084 วันที่ 24 - 30 มิถุนายน 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น