ในบรรยากาศที่ผู้นำประเทศ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หงุดหงิดหัวใจกับการทำงานของสื่อวันละ 3 เวลา และในสถานการณ์ที่คนบริโภคข่าวสาร เสื่อมศรัทธาในสื่อที่ไม่มีความรับผิดชอบ ในการนำเสนอภาพและข่าวที่เป็นการละเมิดสิทธิของผู้อื่น เช่นกรณีการถ่ายทอดสด อาจารย์มหาวิทยาลัยราชภัฎพระนคร ยิงตัวตาย
กระหึ่มแห่งเสียงเรียกร้องให้มีการจัดการสื่ออย่างเด็ดขาด มีกฎหมายคุมเข้มสื่อที่ละเมิดก็ดังขึ้น
ในขณะที่องค์กรวิชาชีพที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย รวมทั้งสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย กลายเป็นเป็ดง่อย อ่อนเปลี้ยเสียขา ไม่สามารถจัดการอะไรได้ ร้ายกว่านั้นคือสื่อในสังกัดผู้นำองค์กรวิชาชีพนั้นเอง กลับตกเป็นจำเลยที่ฝ่าฝืนแนวปฏิบัติด้านจริยธรรมที่ตัวเองร่างขึ้นมา
สภาพอันวังเวงในหลักการกำกับ ดูแลกันเองขององค์กรวิชาชีพนี่เอง ที่ทำให้ความชอบธรรมในการตรากฎหมาย ที่มี “สภาพบังคับ” ซึ่งผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทั้งหลายต่อต้านกันมานาน มีมากขึ้น และถึงแม้ “จอกอ” ในฐานะสื่อคนหนึ่งจะเคยยืนหยัดในแนวทางเดียวกับผู้ร่วมวิชาชีพ คือปฏิเสธการมีกฎหมายอย่างสิ้นเชิงในทุกกรณี แต่เมื่อวันนี้ได้เข้ามามีบทบาทในการร่วมร่างกฏหมายคุมสื่อ ความคิดก็เปลี่ยน และเริ่มเชื่อว่า การมีกฎหมายที่มีสภาพบังคับกับสื่อที่ละเมิดจริยธรรม ชนิดกระทำความผิดติดนิสัยนั้น คงปฏิเสธไม่ได้แล้ว
มีกฎหมายอย่างน้อย 2 ฉบับที่จะต้องพิจารณา และผลักดันให้มีสภาพบังคับ แต่หลักคิดสำคัญที่ไม่เคยเปลี่ยนแปลงสำหรับ “จอกอ” คือ จะต้องมีกลไกสนับสนุนให้องค์กรวิชาชีพสื่อเข้มแข็ง และสามารถจัดการดูแลกันได้อย่างแท้จริง แปลว่า มาตรการทางสังคม ควรเป็นมาตรการแรกในการจัดการสื่อที่ละเมิด
ถ้าได้ทำทุกวิถีทางแล้ว องค์กรวิชาชีพสื่อยังมีสภาพลูบหน้า ปะจมูก ผู้นำองค์กรยังไม่สามารถยืนยันความเป็นอิสระจากสังกัด ไม่กล้าวิพากษ์วิจารณ์ ไม่กล้าตำหนิสื่อในสังกัดตัวเองที่ทำผิด ก็คงต้องยอมรับบทบาทของ “สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ” ที่จะเกิดขึ้นด้วย ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
นอกจากร่างกฎหมายดังกล่าวแล้ว จะมีการแก้ไข ร่าง พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.2550 ที่ใช้มาเกือบ 10 ปี สมควรทบทวนและแก้ไข ให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนไป
จอกอ ในอีกบทบาทหนึ่งของผู้ชำนาญการ ประจำกรรมาธิการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เสนอให้แก้ไขประเด็น การกำหนดให้สิ่งพิมพ์ที่จะจดแจ้งตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้ จะต้องสังกัดองค์กรวิชาชีพที่มีข้อบังคับด้านจริยธรรม เป็นการล้อมคอกไว้ชั้นหนึ่งก่อน เพื่อสนับสนุนให้เกิดสภาวิชาชีพที่แข็งแรง และดูแลกันเองได้ ตาม ร่าง พ.ร.บ.สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
แต่ไม่ว่ากฎหมายฉบับใด มีเรื่องน่าเป็นห่วงว่าจะมีการ “สอดไส้” ใส่หลักการรัฐคุมสื่อโดยตรง เช่น ความพยายามในการแก้ไข พ.ร.บ.จดแจ้งการพิมพ์ ที่จะให้อำนาจกับตำรวจ หรือ ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ที่ยังไม่แน่ใจว่า จะถูก “แปลงสาร” เป็นแบบใด เมื่อเข้าสู่กระบวนการของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1082 วันที่ 10 - 16 มิถุนายน 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น