ในที่สุดพืชต่างถิ่น
ผักตบชวาก็กลับมาเต็มผืนน้ำวัง และคูคลองสาขาอีกครั้ง ความตื่นตัว
ได้กลายเป็นไฟไหม้ฟางมอดดับไปแล้ว แต่ใช่ว่ามนุษย์จะเอาชนะธรรมชาติไม่ได้
เพราะหากยังคงร่วมแรงร่วมใจกัน ก็มีพลังเพียงพอที่จะต้านทานทัพผักตบชวาได้
ปัญหาไม่ได้เกิดจากการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็วของผักตบชวา
แต่เกิดจากสำนึกที่อยู่ในภายในจิตใจของแต่ละคน คล้ายสนิมที่เกิดจากเนื้อในนั่นเอง
หาไม่แล้วกระแสรักษ์แม่น้ำวังคงไม่อ่อนแรงเช่นที่เห็นวันนี้
กระแสรักษ์แม่น้ำวังเริ่มขึ้นมาได้ราว
3 ปีมาแล้ว จากเริ่มต้นที่ลานนาโพสต์ได้นำเสนอภาพและข่าวสภาพแม่น้ำวังในเขตตัวเมืองลำปางระยะ
5 กิโลเมตรกว่าๆ ที่อยู่ในสภาพย่ำแย่ ทั้งเนื่องมาจากฝีมือคนลำปาง
และจากภัยสิ่งแวดล้อม
หลังจากที่กรมเจ้าท่าได้เข้ามาดำเนินการขุดลอกดูดทรายจากท้องน้ำที่สะสมมานานนับสิบปี
ตัดต้นไม้ข้างทางรกชัฏที่มาวันนี้ก็รกเหมือนเดิม
ทำให้ดูเหมือนว่างบประมาณหลายล้านบาทถูกนำมาใช้อย่างไม่ยั่งยืนเอาเสียเลย
แต่ดูเหมือนโชคชะตาจะไม่เข้าข้างแม่น้ำวัง เมื่อเราต้องเผชิญหน้ากับปัญหาภัยแล้ง
ฝนตกน้อยกว่า แต่การใช้น้ำดูจะไม่น้อยลงทำให้สองเขื่อนหลังของลำปางต้องเก็บกักน้ำเพื่อการชลประทาน
ทำให้น้ำปล่อยเข้าสู่แม่น้ำวังน้อยกว่าหลายปีที่ผ่านมา
แถมยังสองฝั่งแม่น้ำวังในเขตเมืองก็ยังมีการปล่อยน้ำใช้จากครัวเรือน ตลาดสด
โรงแรม เกสต์เฮาส์ริมน้ำ
ที่ปล่อยน้ำใช้ลงแม่น้ำวังน้ำตลอดเวลา
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเทศบาลนครลำปางที่เคยลั่นวาจาว่าจะจัดการกับร้านค้า
ตลาด ที่พัก โรงแรม ที่ไม่บำบัดน้ำก่อนปล่อยลงแม่น้ำ
ก็ดูเหมือนจะลืมเลือนวาจาที่เคยลั่นไว้
มาวันนี้แม่น้ำวังฟ้องสภาพตัวเองด้วยภาพ
น้ำสีคล้ำ กลุ่มกอผักตบชวาลอยเกาะกลุ่มกันเป็นแพหนา
ไม่ใช่แค่
แม่น้ำวังกลางเมืองลำปาง แต่แหล่งน้ำลำคลองของไทยหลายแห่งเต็มไปด้วยผักตบชวา
ซึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้ผักตบชวาเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วคือ
การปล่อยของเสียลงสู่แม่น้ำลำคลองด้วยฝีมือของมนุษย์เอง
การที่มีผักตบชวาเต็มผืนน้ำ
เรียกว่าปรากฏการณ์ขยายพันธ์อย่างรวดเร็วของพืชน้ำ มีสาเหตุมาจากการที่แหล่งน้ำอุดมไปด้วยธาตุอาหารของพืชน้ำเป็นจำนวนมาก
ทั้งสารไนเตรท ฟอสเฟสที่มากับสารเคมีที่เราใช้กันอยู่ในชีวิตประจำวัน โดยเฉพาะ
ผงซักฟอก ปุ๋ย เมื่อธาตุอาหารในน้ำเยอะก็เกิดการขยายตัวของผักตบชวาได้เป็นอย่างดี
จึงเป็นตัวบ่งชี้ได้ว่าสภาพแหล่งน้ำนั้นเกิดการเน่าเสีย
เราจึงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าการปรากฏตัวของผักตบชวา
เป็นตัวชี้วัดได้อย่างชัดเจนว่าน้ำทิ้งที่ปล่อยลงสู่แม่น้ำมีพวกสารซักล้าง
ตอกย้ำว่าปัญหาแม่น้ำวังยังไม่ได้รับการเยียวยาเท่าที่ควร
ที่ผ่านมายังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุเท่านั้น
แม่น้ำวังไม่ได้เป็นของใครเพียงคนใดคนหนึ่ง
หากแต่เป็นสมบัติของคนลำปาง
วันนี้มีคนลำปางหลายคนได้รวมตัวรวมกลุ่มเป็นรูปธรรมมากกว่าที่จะรวมตัวกันวิพากษ์ผ่านตัวหนังสือแต่ไม่ลงมือทำอะไรเลย
มีการรวมตัวผ่านโซเชียลมีเดีย อย่างกลุ่ม “เฮาฮักแม่น้ำวัง” รวมตัวรวมกลุ่มเพื่อนฝูงเพื่อนนักเรียนมาช่วยกันเก็บกอผักตบชวาในยามที่มีเวลา
อนึ่งว่า ใครไม่ทำ...เราทำ
เมื่อไหร่จะถึงเวลาที่ทุกคนเข้ามามีส่วนร่วมในการฟื้นแม่น้ำวังให้กลับมามีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่ง่าย แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยาก หากทุกคนช่วยกันอย่างจริงใจ เหมือนอย่างที่มีการรณรงค์ปลูกป่าที่จังหวัดน่าน
ผู้ที่ใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำก็ควรดูแลรับผิดชอบการปล่อยน้ำทิ้ง
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่เป็นผู้บังคับใช้กฎหมายก็ควรจ้องทำหน้าที่อย่างจริงจังกันเสียที
จะมัวมาแก้ปัญหาที่ปลายเหตุก็ต้องมาร้องเรียกหางบประมาณ
ก็เอางบประมาณไปรื้อๆทุบๆขุดถนนกันมาก็หลายรอบ
ปัญหาแม่น้ำวังมันก็คาราคาซังกันอยู่อย่างนั้น
ประเทศไทยมีแนวคิดในการจัดการกับผักตบชวามาเป็นเวลานาน
มี พ.ร.บ. กำจัดผักตบชวา พ.ศ. 2456 ที่ยังคงมีผลบังคับใช้จนถึงปัจจุบัน
เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของผักตบชวา ทั้งการขุดลอกคูคลอง จัดเก็บ
ทำลายผักตบชวาที่ลอยผ่านบริเวณบ้าน ไม่ให้มีการขยายพันธุ์
แต่เนื่องจากกฎหมายของประเทศไทยไม่มีความเด็ดขาดพอ และอายุกฎหมายแก่คราวรุ่นทวด เราจึงไม่สามารถจัดการกับวัชพืชชนิดนี้ได้อย่างจริงจัง
จึงทำให้เราเห็นภาพแม่น้ำเจ้าพระยาที่ภาคกลาง
แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำน้อย กว๊านพะเยา
และอีกหลายๆที่มักมีภาพผักตบชวาลอยละล่องไปกับกระแสน้ำ
จนเป็นความเคยชินของประชาชนคนไทย
แต่หารู้ไหมว่ากอผักตบชวาที่เกาะกลุ่มลอยตัวอยู่ที่ผืนน้ำ
มันคือมัจจุราชสีเขียวที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างเงียบๆ
กว่าจะรู้ตัวอีกทีผักตบชวาก็เพิ่มจำนวนเต็มผืนน้ำ
เมื่อนั้นการแก้ปัญหาก็จะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไป
หากจะโทษก็อย่าไปโทษธรรมชาติเลย
ต้องโทษที่เราทุกคนที่ไม่เคยสนใจ ซักผ้า ล้างจาน กวาดพื้นตลาด
ชะล้างคราบไขมันในตลาดสด ก็ไม่นำน้ำทั้งหลายไปบำบัด แต่ต่อท่อระบายน้ำลงแม่น้ำ
เหตุเพราะง่ายดี สะดวกดี
หลายคนอาจจะต้องคำถามว่า
สมัยก่อนก็ทำแบบนี้ ไม่เห็นมีปัญหาอะไรเลย
ตอบง่ายๆแบบไม่ต้องถามนักวิชาการ
ก็น่าจะได้คำตอบที่เราทุกคนก็รู้อยู่แก่ใจแต่ไม่เปิดใจอยากจะคิด นั่นคือ
สมัยก่อนนั้นประชากรยังไม่มา บ้านเรือนในเมืองยังไม่หนาแน่น ที่พัก อาพาร์ตเมนท์
เกสต์เฮาส์ริมน้ำยังไม่เยอะ เหมือนอย่างทุกวันนี้
ดังนั้นปริมาณน้ำใช้น้ำทิ้งก็ยังไม่มากเหมือนปัจจุบัน
อีกทั้งสิ่งแวดล้อมป่าไม้ซึ่งเป็นแหล่งน้ำถูกทำลาย ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล
ปริมาณน้ำฝนก็น้อย
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1083 วันที่ 17 - 23 มิถุนายน 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น