วันพฤหัสบดีที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2559

ฝนไม่มา รฟ.แม่เมาะ ผลิตไฟสะดุด

จำนวนผู้เข้าชม good hits

แชร์ว่อนเน็ตโรงไฟฟ้าแม่เมาะไม่มีน้ำผลิตไฟฟ้าต้องหยุดเดินเครื่อง ด้าน กฟผ.เผยยังมีใช้ไปถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม หากฝนทิ้งช่วงอาจหยุดเดินเครื่องบางส่วน ยันไม่กระทบต่อการใช้ไฟ มีแหล่งผลิตอื่นทดแทนได้ ขณะที่น้ำในสองเขื่อนใหญ่ลำปางยังไม่พ้นวิกฤต
           
จากที่มีการแชร์ข้อมูลผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เรื่องการหยุดเครื่องจากสถานการณ์ภัยแล้งของโรงไฟฟ้าแม่เมาะ  โดยข้อความระบุว่า ถ้าน้ำแม่จางและแม่ขามเหลือ 5 ล้านลูกบาศก์เมตร จะต้องหยุดเดินเครื่องยูนิต 9 และ 13  หากเหลือ 4 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องหยุดเดินเครื่องยูนิต 8   เหลือ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องหยุดเดินเครื่องยูนิต 12  และเหลือ 2 ล้านลูกบาศก์เมตรต้องหยุดเดินเครื่องยูนิต 11  โดยจะเหลือเครื่องที่สามารถเดินเครื่องได้คือ ยูนิต 4-7 กำลังผลิต 600 เมกะวัตถ์  ซึ่งใช้น้ำ 30,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน เท่ากับ 9 แสนลูกบาศก์เมตรต่อเดือน ที่เหลืออีก 1.5 ล้านลูกบาศก์เมตร จะส่งให้กับชุมชนได้ใช้

ในเรื่องนี้ นายนิกูล ศิลาสุวรรณ ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2 (ชฟฟ2.) กล่าวว่า โรงไฟฟ้าแม่เมาะได้มีการประเมินปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำแม่จางและอ่างเก็บน้ำแม่ขามตั้งแต่สิ้นสุดฤดูฝนของปี 2558  จึงมีการออกมาตรการประหยัดน้ำ ทั้งการลดการใช้น้ำในกระบวนการผลิต อุปโภค บริโภค การนำน้ำทิ้งกลับมาใช้ใหม่ การหาแหล่งน้ำใหม่จากบ่อเหมืองคืออ่างห้วยเป็ด  สำหรับมาตรการระยะยาว มีการร่วมมือกันกับชุมชน หน่วยงานราชการ โดยการทำฝาย ปลูกป่า เน้นการรักษาต้นน้ำของอ่างเก็บน้ำ นอกจากนั้นได้ประสานงานกับกรมฝนหลวงและการบินเกษตรเรื่องการทำฝนเทียม ทำให้สามารถยืดเวลาการเดินเครื่องฯ ไปจนถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม  หากปริมาณฝนที่ตกในช่วงนี้ยังไม่เพียงพอ อาจจะต้องลดกำลังการผลิตบางส่วนลงเพื่อบริหารน้ำไว้ใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด  โดยปี 2559 มีการฝึกซ้อมแผนฉุกเฉินรองรับภาวะภัยแล้งเป็นครั้งแรก คือการประสานงานกับศูนย์ควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าแห่งชาติ ฝ่ายควบคุมระบบกำลังไฟฟ้าเพื่อหาแหล่งผลิตไฟฟ้าอื่นมาทดแทน ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบด้านการจ่ายไฟฟ้าให้กับประชาชนอย่างแน่นอน จึงขอความร่วมมือจากทุกท่านในการช่วยกันปฏิบัติตามมาตรการประหยัดน้ำต่อไป เพราะน้ำเป็นทรัพยากรที่มีค่าที่สุดในปัจจุบัน

ผู้ช่วยผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า 2  กล่าวว่า  ปัจจุบันปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำของ กฟผ.แม่เมาะ มีประมาณ 15 ล้านลูกบาศก์เมตร เพียงพอต่อการผลิตไฟฟ้าและใช้ในการอุปโภคและบริโภคของชุมชนโดยรอบ แต่หากในช่วงเดือน กรกฎาคม-สิงหาคมนี้ ฝนทิ้งช่วงจนไม่มีปริมาณน้ำเข้าสู่อ่างเก็บน้ำ โรงไฟฟ้าแม่เมาะอาจมีความจำเป็นต้องนำแผนฉุกเฉินรองรับภาวะภัยแล้งมาใช้ โดยจะหยุดเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าบางหน่วย เพื่อรักษาปริมาณน้ำให้ชุมชนได้ใช้ตลอดสิ้นฤดูฝนนี้  ซึ่ง กฟผ.แม่เมาะ ขอให้ความมั่นใจว่าการหยุดเดินเครื่องดังกล่าวจะไม่กระทบต่อการใช้ไฟฟ้าในภาพรวมของประชาชน โดย กฟผ.จะบริหารจัดการนำไฟฟ้าจากแหล่งผลิตอื่นเข้ามาทดแทนในระบบได้

ขณะที่สถานการณ์น้ำในเดือนมิถุนายน ขณะนี้น้ำในเขื่อนกิ่วคอหมามี 35 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ 20.6 เปอร์เซ็นต์  ตั้งแต่ช่วงภัยแล้งวิกฤตมีน้ำเพิ่มเข้ามา 19 ล้านลูกบาศก์เมตร สถานการณ์เริ่มฟื้นตัว  ส่วนเขื่อนกิ่วลม มีน้ำ 28.2 ล้านลูกบาศก์เมตร มีน้ำเข้ามาช่วงต้นฝน 8 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็น 26.6  เปอร์เซ็นต์ แต่ก็ถือว่ายังน้อยอยู่

วันที่  28 มิ.ย.59  นายสามารถ ลอยฟ้า  ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง นำหัวหน้าส่วนราชการ ลงพื้นที่ติดตาม สถานการณ์ น้ำในเขื่อนกิ่วคอหมา อ.แจ้ห่ม จ.ลำปาง โดยมีนายฤทัย พัชรานุรักษ์ ผอ.โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษากิ่วลม-กิ่วคอหมา บรรยายสรุปสถานการณ์น้ำในเขื่อน ในสภาพปัจจุบัน ซึ่งขณะนี้ ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ที่น้อย ขณะที่ ทางกรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายลักษณะอากาศว่าจะมีพายุดีเปรสชั่น พัดเข้ามายังพื้นที่ภาคเหนือในเร็ววันนี้ ซึ่งคาดหวังว่าสถานการณ์น้ำในเขื่อนจะมีปริมาณเพิ่มมากขึ้น

นายสามารถ กล่าวว่า จากที่ได้ออกไปติดตามสถานการณ์น้ำในเขื่อนกิ่วคอหมา พบว่า มีปริมาณน้ำน้อยเหลือเพียง 21 % ของความจุอ่าง และมีน้ำใช้การได้ 29 ล้านลูกบาศก์เมตร เตรียมแผนสำรองน้ำไว้ใช้เพื่อการเกษตรให้กับพื้นที่รับน้ำชลประทานอำเภอแจ้ห่ม ให้มีน้ำสำหรับเตรียมแปลงเพาะปลูกข้าวนาปีฤดูฝนหน้า ซึ่งจะมีความต้องการใช้น้ำในการเตรียมเพาะปลูก 6 ล้านลูกบาศก์เมตรได้เพียงพอ รวมทั้งการอุปโภคบริโภคและประปาได้มีน้ำสำรองไว้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี

หากประเมินสถานการณ์แล้วพบว่ามี อ.วังเหนือ มีฝนตกค่อนข้างมาก มีน้ำไหลเข้าสู่เขื่อนกิ่วคอหมาถึง 19 ล้านลูกบาศก์เมตร ต้องรอลุ้นต่อไปว่าจะมีฝนตกในพื้นที่มากน้อยแค่ไหน ต้องระมัดระวังเรื่องน้ำป่าไหลหลากดินโคลนถล่มด้วย

นอกจากนั้นยังมีอ่างเก็บน้ำ 26 อ่าง กระจายอยู่ทั้ง  13 อำเภอ  ขณะนี้ปริมาณน้ำเริ่มสูงขึ้นแต่ยังอยู่ในเกณฑ์น้อยอยู่  อ่างเก็บน้ำห้วยแม่งอน ต.บ้านแหง อ.งาว มีน้ำ 90 เปอร์เซ็นต์ อ่างเก็บน้ำห้วยแม่ค่อม ต.บ้านค่า อ.เมือง  มีน้ำ 100 เปอร์เซ็นต์   อ่างแม่เรียง ต.วังพร้า อ.เกาะคา  70 เปอร์เซ็นต์  อ่างเก็บน้ำห้วยสมัย อ.สบปราบ 52 เปอร์เซ็นต์  น้อยที่สุดอ่างเก็บน้ำห้วยแม่ไพร บ้านทุ่งหก ต.วอแก้ว อ.ห้างฉัตรน้อยสุด 4 เปอร์เซ็นต์   ตอนนี้ยังคงต้องใช้น้ำอย่างประหยัด เพราะเพิ่งเริ่มเข้าหน้าฝน ในหลายพื้นที่น้ำยังไม่เต็มอ่าง ต้องเก็บไว้ให้เป็นประโยชน์ ใช้อย่างมีคุณค่า สิ่งที่ง่ายที่สุดคือ ชะลอการไหลของน้ำ การทำแก้มลิงเพื่อเพิ่มความชุ่มชื่นให้ผืนป่า

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1085 วันที่ 1 - 7 กรกฎาคม  2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์