วันพฤหัสบดีที่ 28 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนีแห่งวัดปงสนุกเหนือ บูรพศิลปิน ประจำปี 2559

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

กรมส่งเสริมวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติให้ครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนี (ครูเมืองละกอน) วัดปงสนุกเหนือ อำเภอเมืองฯ จังหวัดลำปาง เป็น “บูรพศิลปิน” ประจำปีพุทธศักราช 2559 ไม่เพียงเป็นเกียรติประวัติแก่ตระกูลเครือจีนจ๋อย พระภิกษุ สามเณร และคณะศรัทธาบ้านปงสนุก แต่ยังรวมถึงชาวจังหวัดลำปางทุกคน
           
ทั้งนี้ กระทรวงวัฒนธรรมได้จัดโครงการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรตินี้ขึ้น เพื่อเป็นการยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินผู้ล่วงลับไปแล้ว ที่มีผลงานสร้างสรรค์ อันเป็นประโยชน์ต่องานวัฒนธรรม และเพื่อเผยแพร่ผลงาน ตลอดจนภูมิปัญญาของศิลปินผู้ล่วงลับให้เป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี โปรดเกล้าฯ พระราชทานชื่อศิลปินผู้ล่วงลับว่า “บูรพศิลปิน” อันมีความหมายว่า ศิลปินที่ควรแก่การเคารพยกย่อง ซึ่งล่วงลับไปแล้ว เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณให้สาธารณชนเห็นความสำคัญในผลงานของศิลปินเหล่านั้น อันจะนำไปสู่การรัก หวงแหน และอนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรมของชาติสืบไปโดยกำหนดให้วันที่ 21 กรกฎาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเป็นวันประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ “บูรพศิลปิน” โดยในปีนี้ ได้ประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติ “บูรพศิลปิน” ยุคสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ จำนวน 241 คน
           
ครูบาอาโนชัยธรรมจินดามุนีกำเนิดในปี พ.ศ. 2369 ณ บ้านปงสนุก เป็นบุตรของพ่อจ๋อย ชาวจีนไหหลำ และแม่อุตส่าห์ ต่อมาอุปสมบทที่วัดปงสนุกเหนือในปี พ.ศ. 2389 ท่านมีความใกล้ชิดกับเจ้าผู้ครองนครลำปางตั้งแต่สมัยเจ้าวรญาณรังษีราชธรรม โดยร่วมกันฝังเสาหลักเมือง ณ วัดปงสนุกเหนือในปี พ.ศ. 2400 ก่อนจะย้ายไปที่ศาลหลักเมืองปัจจุบัน ท่านมีบารมี เป็นที่รู้จักและรู้จักผู้คนอย่างกว้างขวาง จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าคณะจังหวัดลำปางรูปแรก

นอกจากนี้ ครูบาฯ ยังมีงานสร้างสรรค์ทางศิลปะสถาปัตยกรรมปรากฏอยู่ในบันทึกอีกมากมาย ได้แก่ การสร้าง การซ่อมพระพุทธรูป-ฉัตรยอดเจดีย์ ตามวัดต่าง ๆ ทั่วเมืองลำปาง แต่ผลงานชิ้นเอกที่โดดเด่นที่สุดก็คือ การสร้างวิหารพระเจ้าพันองค์ วัดปงสนุกเหนือ ในปี พ.ศ. 2429 เมื่อท่านอายุได้ 60 ปี พรรษา 40
           
วิหารพระเจ้าพันองค์เป็นวิหารโถงทรงจัตุรมุขย่อมุม สร้างด้วยไม้ในลักษณะมณฑป หลังคาซ้อน 3 ชั้นที่คาดว่าคงเหลือเพียงแห่งเดียวในประเทศไทย ตัวอาคารแสดงลักษณะผสมผสานระหว่างศิลปะล้านนา พม่า และจีน (สิบสองปันนา) ทั้งนี้ ครูบาฯ ท่านได้นำคติสัญลักษ์ทางศาสนามาผสมผสานกับงานศิลปกรรมได้อย่างวิจิตร แม้ว่าวิหารจะมีขนาดเล็ก แต่การจัดวางองค์ประกอบที่ย้ำถึงความสำคัญของตัววิหาร ซึ่งเปรียบดังปราสาทที่ประทับของพระพุทธเจ้า 4 พระองค์ วิหารยังเน้นถึงการมาถึงอย่างอเนกอนันต์ของพระพุทธเจ้าที่เสด็จมาเผยแผ่พระธรรม ขณะเดียวกันก็ใช้งานศิลปกรรมแสดงสัญลักษณ์ของภูมิจักรวาล รวมไปถึงการบำเพ็ญเพียรของพระพุทธเจ้า ที่เขียนเป็นภาพชาดกมาผสมผสานเป็นองค์ประกอบอย่างลงตัว
           
ครูบาฯ ยังได้รับการยกย่องให้เป็นผู้รู้ในศาสตร์ต่าง ๆ ได้แก่ การปกครองและเผยแพร่ งานศิลปะสถาปัตยกรรม จิตรกรรม อักษรศาสตร์ ดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ ไสยศาสตร์ วรรณกรรม จนได้รับการขนานนามว่า “ครูเมืองละกอน”  

ทั้งนี้ กรมส่งเสริมวัฒนธรรมได้จัดนิทรรศการประวัติและผลงานของบูรพศิลปินทั้ง 241 คน เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมา ที่หอประชุมเล็ก ศูนย์วัฒธรรมแห่งประเทศไทย กรุงเทพฯ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1088 วันที่ 22 - 28 กรกฎาคม  2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์