วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ผู้ว่าฯสั่งปิด บ่อขยะเถื่อน นับร้อยแห่ง

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

บ่อขยะเถื่อนในลำปางมีกว่า 100 แห่ง  ผู้ว่าฯสั่งปิด กำชับต้องนำขยะเข้าระบบกำจัดของ อบจ.ให้หมด  หลังเปิดทดลองเดินเครื่องเต็มกำลัง แต่มีขยะเข้าเพียง 40 ตัน  เหตุจาก อปท.ติดสัญญาทิ้งขยะกับบริษัทเอกชนเดิม 
           
เมื่อวันที่ 1 ก.ค.59 ที่ผ่านมา นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง พร้อมด้วยนายเมืองแมน เกิดนานา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง และหัวหน้าส่วนราชการจากสังกัดหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ร่วมเดินทางลงพื้นที่พร้อมกับคณะสื่อมวลชน เข้าเยี่ยมชมดูกระบวนการทำงานในการคัดแยกและกำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจร ขององค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ที่ศูนย์กำจัดขยะครบวงจรองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง หมู่ที่ 5 บ้านศรีดอนไชย ต.ต้นธงชัย อ.เมือง จ.ลำปาง  โดยมีนายเกรียงเดช สุทธภักติ รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด รักษาราชการแทนนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง พร้อมด้วย นายทองดี จอมวงศ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง และนายไกรศักดิ์ จันทรสุกรี ผู้จัดการโครงการก่อสร้างศูนย์ระบบกำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรฯ ร่วมให้การต้อนรับนำเสนอข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับตัวโครงการ ระบบการบริหารจัดการ พร้อมกับนำคณะเยี่ยมชมกระบวนการทำงานการคัดแยกและกำจัดขยะมูลฝอยทั้งระบบ

สำหรับศูนย์บริหารจัดการกำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรแห่งนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำปาง ได้ยื่นเรื่องขออนุญาตใช้ประโยชน์ในที่ดินบริเวณป่าแม่ตุ๋ยฝั่งซ้าย หรือ ป่าแม่เมาะแปลง 2 ทำการก่อสร้างโรงงานกำจัดขยะมูลฝอยบนเนื้อที่ประมาณ 311 ไร่ 2 งาน 76.9 ตารางวา โดยได้เริ่มดำเนินงานโครงการฯ มาตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2552 และได้ก่อสร้างแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อประมาณช่วงต้นปี 2559 ด้วยงบประมาณรวมกว่า 690 ล้านบาท ก่อนจะทำการทดสอบระบบนำขยะมูลฝอยจริงเข้ามาดำเนินการบริหารจัดการแบบครบวงจร

นายไกรศักดิ์ จันทรสุกรี ผู้จัดการโครงการก่อสร้างฯ ได้กล่าวเผยว่า ศูนย์ระบบกำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรที่จัดสร้างขึ้น นับเป็นศูนย์กำจัดขยะที่มีประสิทธิภาพ สามารถรองรับขยะมูลฝอยจากชุมชนมาบริหารจัดการได้ครอบคลุมในเขตพื้นที่ถึง 6 อำเภอ ของจังหวัดลำปาง คือ อำเภอเมือง เกาะคา ห้างฉัตร แม่ทะ แม่เมาะ และเสริมงาม ในปริมาตรสูงสุดที่คาดการณ์ไว้ 350 ตัน/วัน ซึ่งจากการทดสอบระบบเดินสายพาน จดบันทึกสถิติข้อมูลคำนวณประสิทธิภาพเฉลี่ย พบว่าศูนย์กำจัดขยะมูลฝอยแบบครบวงจรที่ได้จัดสร้างขึ้น จะสามารถจัดการกับขยะในพื้นที่ได้ใน 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มอนินทรีย์สาร ที่คาดว่าจะมีปริมาณสูงถึงร้อยละ 75 ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือเฉลี่ยประมาณ 262.ตันต่อวัน โดยจะสามารถจัดการกับขยะ ทำการคัดแยกออกเป็นขยะรีไซเคิล รวมทั้งนำขยะบางส่วนไปแปรรูปทำเป็นเชื้อเพลิงแข็งทดแทน หรือ RDF ได้ รวมเฉลี่ยประมาณ 227ตันต่อวัน คิดเป็นร้อยละ 65  และเหลือเป็นขยะที่ใช้การไม่ได้นำไปฝังกลบคิดเป็นร้อยละ 10 หรือ 35 ตันต่อวัน

นอกจากนี้จะสามารถจัดการกับขยะกลุ่มอินทรีย์สาร ที่คาดว่าจะมีปริมาณขยะรวมเฉลี่ยประมาณร้อยละ 25 ของปริมาณขยะทั้งหมด หรือประมาณ 87 ตันต่อวัน  โดยขยะกลุ่มนี้จะสามารถนำไปทำเป็นปุ๋ยหมัก คิดเฉลี่ยแล้วประมาณร้อยละ 20 หรือ 70 ตันตันวัน  ที่เหลือเป็นขยะใช้การไม่ได้นำไปฝังกลบ คิดเป็นร้อยละ 5 หรือเพียง 17.5 ตันต่อวัน เท่านั้น ทั้งนี้ ในการจัดการขยะทางศูนย์บริหารจัดการกำจัดขยะมูลฝอย จะเก็บค่าธรรมเนียมตามอัตรานำหนักที่กำหนด และขอปฏิเสธที่จะไม่รับขยะปนเปื้อน เช่น ขยะอุตสาหกรรม ขยะติดเชื้อ เป็นต้น

นายไกรศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า  ปัจจุบันนี้ได้รับขยะจาก อบต.ใกล้เคียง เช่น อบต.บ่อแฮ้ว  อบต.ทุ่งฝาย เข้ามาดำเนินการภายในศูนย์ฯแห่งนี้ ประมาณ 46 ตันต่อวัน   เนื่องจากได้ประสานงานไปยัง อบต.อื่นๆแล้วได้รับแจ้งว่า ยังไม่สามารถนำขยะเข้ามากำจัดในศูนย์ฯได้ เนื่องจากยังติดสัญญากับบริษัทจัดเก็บขยะเดิมอยู่

นายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้กล่าวว่า หลังจากนี้ต่อไปเมื่อสิ้นสุดระยะทดลองระบบการทำงานแล้ว ทางจังหวัดจะมีมาตรการเชิงรุกเดินหน้าประกาศปิดบ่อขยะที่ไม่ถูกต้องในพื้นที่โซนรับผิดชอบของ 6 อำเภอ ทั้งหมด และจะให้ขยะจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในเขตพื้นที่ ได้นำมาเข้าสู่ระบบทำการกำจัดตามกระบวนการที่ถูกต้องต่อไป

“ศูนย์กำจัดขยะแบบครบวงจรของ อบจ.ลำปาง  ซึ่งอยู่ระหว่างการทดลองระบบ  จากการดูการทำงานภายในศูนย์ฯ พบว่ามีระบบการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมรองรับขยะจาก อปท.ได้อย่างเต็มที่  หลังจากพ้นการทดลอง จังหวัดจะมีมาตรการปิดบ่อขยะที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายซึ่งมีอยู่หลายแห่งในจังหวัดลำปาง  เพื่อให้ขยะได้เข้ามาสู่ระบบที่ถูกต้องในศูนย์กำจัดขยะแห่งนี้  ซึ่งได้เตรียมการไว้ในช่วงที่รอการทดลองเครื่อง” นายสามารถ กล่าว

เมื่อสอบถามว่ายังจะมีการต่อยอดการตั้งโรงไฟฟ้าหรือไม่  นายสามารถ กล่าวว่า ไม่มี เนื่องจากขยะที่ได้แปรรูปเป็น RDF ส่วนหนึ่งส่งไปยังบริษัทเอกชนที่จะรับซื้อ เช่น SCG รับซื้อ ไปทำเป็นเชื้อเพลิง จึงไม่จำเป็นต้องส่งต่อไปผลิตกระแสไฟฟ้า  เพราะโรงงานอุตสาหกรรมหลายแห่งต้องการขยะแบบนี้อยู่แล้ว

ด้านนายเมืองแมน เกิดนานา ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จ.ลำปาง มีทั้งหมด  104 แห่ง  มี 2 แห่ง ที่มีบ่อทิ้งขยะถูกต้องตามหลักสุขาภิบาล คือเทศบาลนครลำปาง และเทศบาลเมืองเขลางค์นคร   จากที่ได้ร่วมกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค 2 ทำการสำรวจและเก็บข้อมูล ตอนนี้รวบรวมบ่อขยะได้ 70 แห่ง จากที่มีอยู่ 100 กว่าแห่ง ที่เป็นบ่อขยะที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีการคัดแยก ไม่ถูกหลักสุขาภิบาล   ซึ่งการจัดการกับบ่อขยะเหล่านี้มีกฎหมายหลายฉบับควบคุมอยู่ ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.สิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535  พ.ร.บ.สุขอนามัย เป็นต้น  นอกจากนั้นก็จะมีกฎหมายเรื่องการใช้พื้นที่ไม่ถูกต้อง  ด้วยข้อจำกัดของแต่ละเทศบาล อบต.ด้วยที่ไม่มีพื้นที่ทิ้งขยะเป็นของตัวเอง   แต่ถ้าเทศบาลหรือ อบต.ไหนมีพื้นที่อยู่แล้ว ก็จะบอกวิธีให้กำจัดอย่างถูกต้อง เพราะทุกวันนี้มีการนำไปฝังหรือเผารวมกันทั้งหมดโดยไม่มีการคัดแยก

นายเมืองแมน กล่าวต่อไปว่า หลังจากศูนย์กำจัดขยะฯของ อบจ.ลำปาง เปิดเดินเครื่องเต็มที่หลังเดือน ส.ค.59  จะมีการตรวจสอบและแจ้งให้ทางเทศบาล และ อบต.ที่ไม่มีที่ทิ้งขยะ จะต้องเข้าสู่ระบบของศูนย์กำจัดขยะครบวงจร ของ อบจ.ลำปาง  สำหรับที่ใดที่มีพื้นที่ทิ้งขยะอยู่แล้ว ก็จะเข้าไปตรวจสอบว่าถูกต้องตามหลักสุขาภิบาลหรือไม่  จะต้องมีการปรับปรุงให้ถูกต้องตามกฎหมายและถูกหลักสุขาภิบาล  ซึ่งการดำเนินการปิดและปรับปรุงบ่อขยะทั้งหมดในพื้นที่ จ.ลำปาง คงไม่สามารถทำให้เสร็จได้ในเวลาอันรวดเร็ว และไม่ใช่เรื่องง่าย จะต้องค่อยๆดำเนินการไปอาจจะต้องใช้เวลาหลายปี  ในขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายการกำจัดขยะของ อบจ.เองก็ยังไม่ชัดเจนว่าจะกำหนดไว้ในราคาเท่าไร  อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ทาง อปท.ยังไม่กล้าที่จะนำขยะเข้ามาในระบบ

ตามนโยบายของรัฐบาลได้กำหนดให้มีการแบ่งโซนพื้นที่เขตเหนือ เขตใต้ เพื่อเป็นจุดพักขยะไว้ และนำส่งเข้าศูนย์กำจัดขยะในทีเดียว โดยไม่ต้องให้แต่ละท้องถิ่นเข้ามาส่งเอง  ในส่วนของ จ.ลำปางเองก็กำลังมองหาพื้นที่อยู่ว่าจะกำหนดจุดใด

นายเกรียงเดช สุทธิภักติ  รองนายก อบจ.ลำปาง  กล่าวว่า  กำลังการผลิตของศูนย์กำจัดขยะฯ รวม 350 ตันต่อวัน ในช่วง 6 เดือนแรกอยู่ระหว่างการทดลองเครื่องจักร ขณะนี้ผ่านมาได้ 4 เดือนแล้วค่อนข้างมั่นใจว่าศูนย์กำจัดขยะฯ สามารถรองรับขยะจากเขตอำเภอเมือง โซนกลางของ จ.ลำปางได้  แต่ขณะนี้ยังติดขัดอยู่ตรงที่ อปท.ยังไม่สามารถนำขยะเข้ามาใช้บริการในศูนย์กำจัดขยะฯได้ ประกอบกับปัญหาอุปสรรคของเราคือ ต้องมีการเก็บค่ากำจัดขยะจาก อปท. ซึ่งราคาเดิมที่เคยตกลงกันไว้อาจจะมีราคาสูง ตอนนี้กำลังอยู่ระหว่างการปรับราคาให้เหมาะสมที่สุด  จากนั้นจะได้ทำบันทึกข้อตกลงร่วมกัน  โดยราคาอาจจะลดลงกว่าเดิมจากที่เคยตกลงกันไว้ในครั้งแรก

รองนายก อบจ.ลำปาง กล่าวว่า บ่อฝังกลบขยะที่ถูกต้องตามกฎหมายใน จ.ลำปาง มีอยู่ไม่กี่แห่ง หนึ่งในนั้นเป็นของเทศบาลนครลำปางที่สามารถฝังกลบขยะได้เอง  ส่วนท้องถิ่นอื่นๆ จะต้องนำมากำจัดและบำบัดที่ศูนย์กำจัดขยะฯแห่งนี้  โดยจะคิดค่ากำจัดขยะให้เป็นธรรม ทางท้องถิ่นเองก็ต้องยอมจ่ายด้วยส่วนหนึ่ง   เบื้องต้น การกำจัดขยะของ จ.ลำปาง ไม่มีการคัดแยกตั้งแต่ต้นทาง จึงจำเป็นที่จะต้องมีโรงคัดแยกขยะ ถ้าในอนาคตประชาชนมีความสำนึกในการกำจัดขยะด้วยตัวเอง มีการแยกขยะจากต้นทางเข้ามา  ก็จะเป็นการลดค่าใช้จ่ายในการกำจัดขยะ ท้องถิ่นก็จะจ่ายเงินค่ากำจัดขยะน้อยลง การเก็บค่าขยะตามบ้านเรือนก็จะลดลงไปตามกระบวนการ จะทำให้ประหยัดเงินไปได้อีกมาก

ทั้งนี้ จากการสอบถามแหล่งข่าวเกี่ยวกับการทิ้งขยะของ อปท.ในพื้นที่รอบนอก ทราบว่า  อปท.แต่ละแห่ง แทบจะไม่ได้มีบ่อขยะที่ถูกต้องตามกฎหมาย จึงอาศัยลักลอบเข้าไปทิ้งในป่า โดยไม่มีการกำจัดที่ถูกต้อง บ้างก็นำไปฝังกลบ บ้างก็นำไปเผา ทำให้เกิดมลพิษทั้งในดินและทางอากาศ เพราะอาจจะมีขยะอันตรายที่ปนเปื้อนสารพิษรวมอยู่ด้วย  เมื่อพื้นที่เต็มก็ย้ายไปทิ้งที่ใหม่ โดยมีการจ่ายค่าผ่านทางให้กับผู้นำท้องถิ่นในพื้นที่  จึงมักพบปัญหาการลักลอบทิ้งขยะอยู่บ่อยครั้ง

สำหรับการนำขยะเข้ามาทิ้งที่ศูนย์กำจัดขยะ ของ อบจ.ลำปาง ก็ยังไม่แน่ใจว่าทาง อปท.จะนำเข้ามาหรือไม่  เพราะมีทั้งค่ากำจัดขยะ ทราบว่ากำหนดไว้ตันละ 500 บาท ยังไม่รวมค่าเดินทาง ค่าน้ำมันรถอีก อปท.บางแห่งอาจจะไม่มีงบประมาณที่มาดำเนินการส่วนนี้

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1086 วันที่ 8 - 14 กรกฎาคม  2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์