วันพฤหัสบดีที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

ตกค้างนับพัน เอกสารสิทธิ์ อพยพแม่เมาะ

จำนวนผู้เข้าชม http://www.hitwebcounter.com/

ชาวบ้านอพยพแม่เมาะ ผ่าน 34 ปี เพิ่งได้เอกสารสิทธิ์เพิ่มอีก 875 แปลง  หลังชุดแรกได้โฉนดไปแล้ว  เตรียมจัดพิธีมอบกลางเดือน ส.ค.  ขณะที่ยังมีตกค้างอีก 200 แปลง รอรังวัดที่ดิน  ส่วนราษฎรอพยพรอบที่ 4-6 ยังไร้วี่แวว  

เมื่อวันที่ 11  ก.ค. 59 ที่ผ่านมา  ที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี  คณะกรรมการติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหา การออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่ราษฎรในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ นำโดยนายจิรชัย มูลทองโร่ย รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันประชุมติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิในแก่ราษฎรอำเภอแม่เมาะ ซึ่งล่าสุดวันที่ 1 ก.ค.59 ได้มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนที่ 56 ก หน้า 15-18   กฎกระทรวงให้เพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่จาง (ตอนขุน) บางส่วน ในท้องที่ ต.นาสัก อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง  และเพิกถอนป่าสงวนแห่งชาติแม่จาง บางส่วน ในท้องที่ ต.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง  ออกจากการเป็นป่าสงวนแห่งชาติ   ซึ่งได้กำหนดจัดพิธีมอบเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินให้กับราษฎร จำนวน 875 ราย/แปลง ช่วงกลางเดือน ส.ค. 59 นี้

นายธันย์ นุชนิยม รองนายกเทศมนตรีตำบลแม่เมาะ ในฐานะคณะกรรมการติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิ์ให้แก่ราษฎรในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ  เปิดเผยว่า  หลังจากที่ กฟผ.ได้ดำเนินการขยายพื้นที่เหมืองแม่เมาะ และโครงการแม่จาง เพื่อการจัดหาแหล่งน้ำใช้ในการหล่อเย็นของเครื่องผลิตกระแสไฟฟ้า ที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง ในช่วงปี 2521-2536  จึงต้องอพยพราษฎรที่มีกรรมสิทธิ์ในพื้นที่อยู่แล้วไปอยู่ในพื้นที่บ้านท่าปะตุ่น-นาแขม ปัจจุบันคือบ้านใหม่นาแขม หมู่ 7 และบ้านเมาะหลวง  หมู่ 8  ต.แม่เมาะ ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่เมาะ และป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่จาง และที่บ้านใหม่รัตนโกสินทร์ หมู่ 5 ต.นาสัก อ.แม่เมาะ ในเขตพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าแม่จาง(ตอนขุน) และราษฎรได้มีการชุมนุมเรียกร้องให้ทางราชการแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนเกี่ยวกับเอกสารสิทธิในพื้นที่อพยพจากการขยายเหมืองมาโดยตลอด แต่เนื่องจากพบปัญหาว่าพื้นที่การอพยพดังกล่าว คาบเกี่ยวกับพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ  และ พื้นที่ ส.ป.ก. จึงไม่สามารถออกโฉนดให้ได้

กระทั่ง มติ ค.ร.ม.วันที่ 15 ส.ค. 43 มีมติอนุมัติให้ดำเนินการออกเอกสารสิทธิเฉพาะในส่วนที่อยู่อาศัย และให้ออก ส.ป.ก.4-01 ในส่วนที่ทำกิน ให้แก่ราษฎรตามบัญชีรายชื่อ แต่ประสบปัญหาพื้นที่ทับซ้อน จึงมี มติ ค.ร.ม.วันที่ 8 มี.ค.48 จึงได้สั่งให้ทบทวนมติ ค.ร.ม.ของวันที่ 15 ส.ค.43 เกี่ยวกับพื้นที่ดำเนินการออกเอกสารสิทธิ ให้สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เพิกถอนเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร บริเวณบ้านใหม่รัตนโกสินทร์ หมู่ 5 ต.นาสัก อ.แม่เมาะ เนื้อที่ประมาณ 216 ไร่ แล้วส่งมอบให้กรมที่ดินดำเนินการออกเอกสารสิทธิให้กับราษฎร และมอบพื้นที่ที่เพิกถอนจากป่าสงวนแห่งชาติ จำนวน 5,388 ไร่ ให้กรมที่ดิน และ ส.ป.ก.ดำเนินการออกเอกสารสิทธิให้แก่ราษฎร  โดยมีการแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาการออกเอกสารสิทธิให้แก่ราษฎรในพื้นที่ อ.แม่เมาะ จ.ลำปางขึ้น  จากนั้นได้ทำการออกเอกสารสิทธิให้กับราษฎรจำนวน 1,665 แปลง  และออก ส.ป.ก.4-01 ให้ราษฎร 239 ราย   ยังเหลือราษฎรที่ตกค้างยังไม่ได้รับเอกสารสิทธิ์อยู่ 1,067  แปลง  และ ส.ป.ก.4-01 จำนวน 14 ราย

นายธันย์ กล่าวว่า  ล่าสุด กฎกระทรวงได้ประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้แล้ว ก็สามารถดำเนินการมอบโฉนดที่ดินให้แก่ราษฎรในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่จางที่เพิกถอนแล้ว ได้จำนวน 875 ราย/แปลง   โดยได้กำหนดให้มีพิธีมอบเอกสารสิทธิโฉนดที่ดินให้แก่ราษฎรในพื้นที่ อ.แม่เมาะ ไว้ระหว่างวันที่ 15-18 ส.ค.59 นี้   ซึ่งหลังจากทราบเรื่องได้แจ้งให้ชาวบ้านทราบ ชาวบ้านต่างดีใจที่จะได้เอกสารสิทธิหลังจากที่รอมายาวนานหลายสิบปี  แต่ทั้งนี้ ก็ยังมีชาวบ้านที่ยังค้างอยู่ประมาณ 200 ราย ที่จะยังไม่ได้รับเอกสารสิทธิดังกล่าว เนื่องจากต้องรอเจ้าหน้าที่รังวัดที่ดินเข้ามาทำการรังวัดปักหมุด  น่าจะสามารถออกเอกสารสิทธิให้ได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้
           
รองนายกเทศมนตรี กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการอพยพคนออกจากพื้นที่ คำนวณด้วยเม็ดเงินว่าต้องใช้งบประมาณเท่าไร แต่ไม่ได้คำนวณเรื่องพื้นที่  โดยส่วนตัวอยากจะเสนอให้มีการออกกฎหมายฉบับพิเศษขึ้น เพื่อรองรับประชาชนที่อพยพออกจากพื้นที่ทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะการผลิตไฟฟ้า  แต่รวมไปถึงเรื่องการขยายชลประทาน การขยายเขตทางหลวงด้วย ถ้ามีกฎหมายพิเศษออกมา กรณีการเวนคืนที่ดิน ควรจัดสรรพื้นที่และออกโฉนดรองรับให้ด้วย  ไม่ใช่ว่าอยากจะย้ายก็ให้ย้ายไป แต่ไม่มีระบบสาธารณูปโภคอะไรไว้ให้ชาวบ้าน  ชาวบ้านก็ต้องมารวมตัวกันเรียกร้องสิทธิ ทำให้ชาวบ้านขาดสิทธิในการใช้ประโยชน์ในที่ดิน กว่าจะได้รับสิทธิถูกต้องตามกฎหมายก็ต้องรอถึง 30 ปี
           
ด้านนางมะลิวรรณ นาควิโรจน์  ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ ซึ่งอพยพออกมาเป็นครั้งที่ 6 กล่าวว่า  ดีใจกับชาวบ้านที่ได้รับเอกสารสิทธิแล้ว ขนาดย้ายมานานตั้งแต่รอบที่ 1-3 ยังเพิ่งได้รับเอกสารสิทธิ ไม่รู้ว่ากลุ่มของตนเองจะต้องรอไปอีกนานเท่าไร ขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เห็นถึงความสำคัญและช่วยผลักดันในเรื่องนี้อย่างใกล้ชิดด้วย
           
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการออกเอกสารสิทธิของราษฎรที่ได้รับการอพยพครั้งที่ 5 และ 6  ยังคงตกค้างอยู่อีกเกือบ 1,000 ครัวเรือน  ประกอบด้วย การอพยพครั้งที่ 5 บ้านหางฮุง  ตามมติ ครม. 25 ธ.ค. 2544  จำนวน 340 ครัวเรือน พื้นที่ 623 ไร่   และการอพยพครั้งที่ 6 บ้านห้วยคิง บ้านห้วยเป็ด บ้านหัวฝาย และบ้านหัวฝาย หล่ายทุ่ง ตามมติ ครม. 10 ม.ค.2549  จำนวน 493 ครัวเรือน   นอกจากนั้นยังมีการอพยพครั้งที่ 7  จำนวน 5 หมู่บ้าน  ประกอบด้วย บ้านห้วยคิง หมู่ที่ ต.แม่เมาะ, บ้านหัวฝาย หมู่ที่ 1 บ้านดง หมู่ที่ 2 บ้านสวนป่าแม่เมาะ หมู่ที่ 7 และบ้านหัวฝายหล่ายทุ่ง หมู่ที่ 8 ต.บ้านดง  รวมจำนวน 1,458 ครัวเรือน ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะได้รับเอกสารสิทธิเมื่อไร

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1087 วันที่ 15 - 21 กรกฎาคม  2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์