ห่างจากอำเภอเมืองลำปางราว 45 กิโลเมตร ถนนเส้นเล็ก ๆ พาเราลัดเลาะเข้าไปอยู่ในวงล้อมของขุนเขา ผืนนาปรากฏอยู่สองข้างทาง บางแห่งเป็นนาขั้นบันได ส่วนใหญ่มีลักษณะเฉพาะตรงที่มีต้นตาลแทรกแซม สลับกับหญ้าเขียวขจี
แน่นอนว่า
หญ้าคือวัชพืชที่เกษตรกรโดยทั่วไปต้องเร่งกำจัด แต่ที่บ้านสามขา ตำบลหัวเสือ
อำเภอแม่ทะแห่งนี้ ดูเหมือนว่าพวกเขาไม่ยี่หระเท่าไรนักกับการมีอยู่ของพวกมัน
เพราะที่นี่เขาทำการเกษตรแบบอินทรีย์ ปลอดสารเคมีโดยสิ้นเชิง
จุดเด่นของบ้านสามขา คือเป็นแหล่งปลูกข้าวเจ้าอย่างข้าวหอมล้านนาพันธุ์ข้าวลูกผสมระหว่างข้าวหอมนิลกับข้าวป่าพันธุ์
Oryzanivara และข้าวเหนียว กข 6 ที่สามารถต้านทานโรคไหม้ ซึ่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ
สยามบรมราชกุมารี พระราชทานนามว่า ธัญสิริน
ชาวบ้านบ้านสามขาทำนากันปีละ 1 ครั้ง หรือที่เรียกว่า นาปี ล่วงเข้ากลางเดือนสิงหาคมเช่นนี้
แต่ละคนต่างกำลังขะมักเขม้นถอนต้นกล้า เพื่อนำมาปักดำในแปลง
บางแปลงปักดำแล้วเรียบร้อย ต้นข้าววัยอ่อนมองเห็นเป็นสีเขียวใสสบายตา
กว่าจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตก็ราว ๆ ปลายเดือนพฤศจิกายน ต่อต้นเดือนธันวาคมนั่นแหละ
“สังเกตดูว่า นาของพวกเราเป็นอินทรีย์จริงไหม
ก็ดูจากต้นหญ้าที่ขึ้นอยู่เต็มนั่นแหละครับ
ถ้าใช้สารเคมีต้นหญ้าพวกนี้ไม่มีเหลือหรอก” พี่ชายคนหนึ่งพูดพลางยิ้ม
ขณะมือยังถอนต้นกล้าออกจากแปลงเพาะ “ไม่ใช้เคมีมันก็สบายทั้งคนปลูกคนกินครับ”
หลายคนอาจสงสัยว่า ชื่อ “บ้านสามขา” นั้น
มีที่มาอย่างไร มีตำนานเล่าสืบต่อกันมาว่า มีชาวบ้านคนหนึ่งล่าเก้งได้
แต่ไม่สามารถนำกลับบ้านได้ทั้งหมด เนื่องจากเก้งตัวใหญ่มาก
จึงใช้มีดตัดเอาเฉพาะขาหลังของเก้งกลับไป 1 ขา
ซากเก้งที่เหลือ 3 ขานั้น เขาได้นำใบไม้มาปิดไว้
รุ่งเช้าจึงชักชวนเพื่อนกลับไปเอาเก้ง 3 ขา
แต่ปรากฏว่าถูกงูใหญ่ลากไปกินในถ้ำเสียแล้ว ซึ่งต่อจากนี้ยังมีเรื่องเล่าอีกยาว
แต่เอาเป็นว่า บ้านสามขามีที่มาจากเก้ง 3 ขา
บ้างก็ว่าเปรียบดังก้อนเส้า 3 ก้อน และแก้ว 3 ประการ คือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์
ปี พ.ศ. 2240 ที่นี่คือแหล่งกำเนิดผู้กล้าแห่งล้านนา
คือ พ่อเจ้าติ๊บปาละ ขณะเป็นภิกษุอยู่ที่วัดสามขา
ท่านได้ถูกขอร้องให้ลาสิกขาออกมาช่วยหนานทิพย์ช้างกอบกู้บ้านเมือง และต่อมา
พ่อเจ้าติ๊บปาละก็ได้กลายเป็น 1 ใน 4 นับรบผู้ร่วมรบกับหนานทิพย์ช้างขับไล่พม่าออกไปได้สำเร็จ
บ้านสามขาเป็นชุมชนขนาดย่อม มีกันอยู่ราว 160
หลังคาเรือน
โอบล้อมอยู่ด้วยบรรยากาศแห่งขุนเขาและท้องทุ่งสงบงามราวกับหมู่บ้านในนิทาน
แต่ก็อีกนั่นแหละ บ้านสามขาก็เคยผ่านช่วงเวลายากลำบากเฉกเช่นชุมชนอื่น ๆ
ครั้งหนึ่งที่นี่เคยมีปัญหาจากการเปิดรับความเจริญโดยไม่มีภูมิคุ้มกันชีวิตที่แข็งแรงพอ
สุดท้ายปัญหามากมายก็รุมเร้า ไม่ว่าจะเป็นปัญหาหนี้สินและทรัพยากรธรรมชาติที่ถูกทำลายอย่างรู้เท่าไม่ถึงการณ์
แต่บ้านสามขายังโชคดีที่มีแกนนำหมู่บ้านเข้มแข็ง พวกเขาปลุกปลอบใจกันให้ลุกขึ้นมาเรียนรู้ปัญหา
ค้นหาทางออก และลงมือแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในชุมชนด้วยการพึ่งพาตนเอง
โดยไม่รอความช่วยเหลือจากภายนอก เพราะเชื่อว่าคงไม่มีใครอีกแล้ว
ที่จะเข้าใจคนบ้านสามขาได้ดีไปกว่าคนที่เกิดและเติบโตที่นี่
วันเวลาแห่งการกอบกู้หมู่บ้านยาวนานพอที่จะทำให้ปัญหาต่าง
ๆ เริ่มคลี่คลาย ไม่เพียงจะค้นพบทางออกด้วยตนเอง
บ้านสามขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้หมู่บ้านอื่น ๆ ลุกขึ้นยืนด้วยตนเอง
ส่งผลให้บ้านสามขาได้รับรางวัลต่าง ๆ มากมายในฐานะชุมชนต้นแบบในหลาย ๆ ด้าน
ไม่ว่าจะเป็นป่าชุมชน การทำฝาย การจัดการน้ำ การทำนาแบบไร้สารเคมี การวางกฎกติการในการอยู่ร่วมกัน
และสวัสดิการชุมชน โดยล่าสุดบ้านสามขาได้เป็นเจ้าของรางวัลคนค้นคนอวอร์ด ครั้งที่ 6 สาขารางวัลผู้สร้างแรงบันดาลใจอีกด้วย
ปัจจุบันบ้านสามขามีผู้คนมากมายเดินทางมาดูงาน
มีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ และมีโฮมสเตย์สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว
แดดยามเย็นอ่อนแสงลง
ชาวบ้านที่เห็นกระจายอยู่ตรงนั้นตรงนี้ทั่วแปลงนาก็เริ่มทยอยกลับบ้าน บ้านที่กินอิ่ม
นอนอุ่น บางทีชีวิตอาจไม่ต้องการอะไรมากกว่านี้อีกแล้ว
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1092 วันที่ 19 - 25 สิงหาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น