ในทางนักเลง นายจรัญ วงศ์สวัสดิ์ นายกเทศมนตรีตำบลห้างฉัตร ซึ่งถูกศาลพิพากษาจำคุก ฐานกระทำผิดพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น อาจสำคัญผิดว่า เป็นความกล้าหาญในการท้าทายอำนาจศาล อำนาจผู้ว่าฯในฐานะผู้บังคับบัญชาสูงสุดในเขตพื้นที่
หากในความเป็นจริง แม้ยังมีขั้นตอนอุทธรณ์และฏีกาอยู่
แต่ก็ถือว่านายจรัญ วงศ์สวัสดิ์
ไม่สามารถนั่งเก้าอี้บริหารเทศบาลห้างฉัตรอีกต่อไปได้แล้ว ทั้งโดยคำพิพากษา
และหนังสือสั่งการของนายสามารถ ลอยฟ้า ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางที่มีไปถึงนายจรัญ
แต่....
“...ผมมีความเห็นว่าระบบการสั่งการยังไม่ถูกต้องครบถ้วน
ยังไม่มีหนังสือคำสั่งให้ออกจากตำแหน่ง
แต่ได้รับหนังสือเป็นการแจ้งคำพิพากษาให้ทราบ
ไม่ได้ระบุว่าให้พ้นจากตำแหน่งแต่อย่างใด”
นายจรัญ
ยังยืนกรานที่จะอยู่ในตำแหน่ง โดยช่องทางระเบียบ กฎหมาย ทั้งที่เรื่องนี้ไม่มีประเด็นโต้แย้งเรื่องกฎหมาย
ไม่ต้องพูดถึงกฎหมาย ไม่ต้องถกเถียงกันเรื่องกฎหมาย
หากมันเป็นจิตสำนึกของนายจรัญในเรื่องจริยธรรม ว่าเขาจะอยู่ในราชการ
ที่จะเอางานการ สัญญาผูกพันทั้งหลาย มาเสี่ยงกับอำนาจหน้าที่ที่ไม่มีอยู่แล้ว
ซึ่งจะเป็นผลเสียหายในอนาคตหรือไม่ อย่างไร
เขาอาสามาทำงานเพื่อชาวบ้าน หรือเพื่อลาภ ยศ
สรรเสริญในตำแหน่ง
ระหว่างกฎหมายและจริยธรรม
นายจรัญเลือกเอาความถูกผิดตามกฎหมาย
ไม่เลือกจริยธรรมซึ่งเป็นจิตสำนึกที่ควรมีของผู้บริหารไม่ว่าในระดับใด
จริยธรรมและกฎหมาย มีความเหมือนและแตกต่าง เหมือนคือจุดมุ่งหมายที่จะควบคุมพฤติกรรมหรือการกระทำของมนุษย์
เพื่อให้มนุษย์อยู่ร่วมกันในสังคมอย่างสงบสุข
จริยธรรมและกฎหมายมีรากฐานมาจากขนบธรรมเนียม ประเพณี รวมทั้งค่านิยมของสังคม
ส่วนความต่าง
จริยธรรมเป็นเรื่องการควบคุมพฤติกรรมระดับสูงของมนุษย์
จริยธรรมเน้นพฤติกรรมดีงามสูงสุด
ขณะที่กฏหมายเป็นเครื่องมือที่มีจุดมุ่งหมายควบคุมพฤติกรรมขั้นต่ำ แปลว่า
ถ้าไม่กลัวกฎหมายก็ทำผิดได้ และยิ่งจะรู้สึกปกติธรรมดาเมื่อทำผิดจริยธรรมด้วย
เพราะเรื่องจริยธรรมเป็นเรื่องจิตสำนึกที่ละเอียดอ่อนกว่า
นายจรัญทำความผิดตาม
พ.ร.บ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น พ.ศ. 2545 ในการยื่นบัญชีรายรับและรายจ่ายในการเลือกตั้งไม่ถูกต้องครบถ้วนตามความเป็นจริง โดยศาลพิพากษาจำคุก 6 เดือน รอลงอาญา 1 ปี พร้อมสั่งปรับเป็นเงิน
6,000 บาท
และเพิกถอนสิทธิ์ทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี
มีผลตั้งแต่วันที่ 19 ม.ค.59
การยื่นบัญชีรายรับ
รายจ่ายในการเลือกตั้ง ก็เป็นการทุจริตชนิดหนึ่ง
ทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างคู่แข่งขันได้ แม้จะยังมีสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา
แต่พยานหลักฐานเท่าที่ปรากฏก็เพียงพอจะเชื่อได้ว่านายจรัญมีมลทิน มัวหมองแล้ว
เมื่ออยู่ในตำแหน่งโดยมีมลทิน มัวหมอง ก็นับว่าไม่สง่างาม
เป็นการลดทอนเกียรติยศของนักการเมืองท้องถิ่น
และสะท้อนให้เห็นเจตนาของนายจรัญที่อาจทำทุกวิถีทาง เพื่อให้ได้ตำแหน่งมา
คล้ายลงทุนสูง จะต้องมีเวลานานพอที่จะถอนทุน
นายจรัญจะอยู่ในตำแหน่งต่อไปก็ได้
เพราะโทษจำคุกนั้นรอลงอาญา และก็คงไม่มีใครจะไปลากนายจรัญออกจากตำแหน่ง
ถ้าเขาคิดเองไม่ได้ นายจรัญอาจไม่รู้สึกว่าตนเองเสียหาย แต่ประชาคมห้างฉัตรเสียหาย
ชาวบ้านเสียหายที่ต้องอยู่ภายใต้การบริหารจัดการท้องถิ่นที่อึมครึมเช่นนี้
กฎหมายคุมพฤติกรรมภายนอกของมนุษย์
จริยธรรมคุมพฤติกรรมภายใน ถ้าจิตสำนึกพอมีอยู่
เขาก็จะคิดได้ว่าการกระทำเช่นใดที่ถูก อะไรที่ผิด
สังคมห้างฉัตรก็จะต้องแสดงให้เห็นว่าบุคคลเช่นนี้ ไม่ควรคบค้าสมาคม
มีปฏิสัมพันธ์ด้วย การลงโทษทางสังคมอย่างรุนแรงเท่านั้น
ที่จะหยุดยั้งความดื้อดึงของคนบางคนได้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1093 วันที่ 26 สิงหาคม - 1 กันยายน 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น