
จำนวนผู้เข้าชม
หากปิดตาใครสักคนแล้วพาไปยืนอยู่ที่ Chowrasta
Market ตลาดเช้าของเกาะปีนัง รัฐปีนัง ประเทศมาเลเซีย เมื่อลืมตา
เขาคนนั้นอาจไม่รู้สึกแปลกแยกอะไร ด้วยบรรยากาศตลาดเช้าระหว่างปีนังกับลำปางนั้น
แทบไม่ต่างกัน แถมยังคุ้นชินไปด้วยพืชผัก ผลไม้ และของกินหน้าตาคล้ายคลึง
ด้วยความโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ในด้านการอยู่ร่วมกันของผู้คนหลากหลายเชื้อชาติและความเชื่อ
คือ มาเลย์ จีน อินเดีย อาหรับ อาเจะห์ ไทย เมียนมา และชาวตะวันตก
โดยไม่มีข้อขัดแย้งระดับชาติ อีกทั้งยังมีประวัติความเป็นมายาวนานตกทอดผ่านสถาปัตยกรรมที่งดงาม
ทรงคุณค่า ยูเนสโกจึงเลือกจอร์จทาวน์ เมืองหลวงของรัฐปีนัง
เป็นเมืองมรดกโลกควบคู่กับเมืองมะละกา เมื่อปี พ.ศ. 2551
บรรยากาศยามเช้าในตลาดคึกคักไปด้วยผู้คน แผงขายผลไม้สีสันสดใสไปด้วยแอปเปิลนานาชนิด
ลูกแพร์ เลมอน เงาะเปลือกสีเขียว และทุเรียน ซึ่งดูจะเป็นผลไม้ยอดฮิตของคนที่นี่
เป็นทุเรียนพันธุ์พื้นถิ่น เนื้อค่อนข้างนิ่ม ส่วนผักโดยรวมแล้วหน้าตาคล้ายบ้านเรา
แครอต มะเขือม่วง ผักกาดแก้ว มะเขือเทศ ฯลฯ แต่ที่สะดุดตาที่สุดก็คือ
ผักหน้าตาบ้าน ๆ อย่างผักโขม หรือที่เราเรียก “ผักหม” แม่ค้าชาวมุสลิมเป็นคนขาย
แต่ลูกค้าที่มะรุมมะตุ้มซื้ออยู่นั้น เป็นคนจีนเสียส่วนใหญ่ นอกเหนือจากนี้
ก็ยังมีอาหารยอดฮิตที่เราคุ้นเคยกันดีอย่างเป็ดย่าง หมูกรอบ สะเต๊ะ ขนมกุยช่าย
ปาท่องโก๋ และของหวานที่เรียกว่า Cendolหน้าตาคล้ายลอดช่องบ้านเรา
ปีนังเป็นเมืองอาหารที่อร่อยลือเลื่อง
คนจีนส่วนใหญ่มีญาติพี่น้องอยู่ในจังหวัดภูเก็ต พวกเขาพูดไทยได้นิดหน่อย
และถ้าดูจากวัฒนธรรมการกินแล้ว สิ่งนี้ถ่ายทอดต่อกันมายาวไกลอย่างไม่น่าเชื่อ
จากปีนังถึงลำปาง ระยะทางเป็นพัน ๆ กิโลเมตรผู้คนต่างก็กินผักโขม ปาท่องโก๋ ขนมกุยช่าย
และทุเรียน ไม่แตกต่าง

การที่เราไม่รู้สึกแปลกที่แปลกทาง
นั่นเพราะผู้คนปีนังส่วนใหญ่คือคนเชื้อสายจีนที่มีผิวพรรณ สีผม รูปร่าง หน้าตา
ไม่ผิดแผกจากคนไทยนัก หากไม่เห็นตัวอักษรตามป้ายต่าง ๆ หรือไม่พูดจากัน
ก็แทบไม่รู้สึกเลยว่าอยู่ต่างถิ่นต่างแดน
และหากเดินเที่ยวในเมืองจอร์จทาวน์ อาคารที่รับอิทธิพลจากตะวันตก
โดยเฉพาะอังกฤษ มาปรับเข้ากับตึกแถวแบบจีนในยุคล่าอาณานิคม (โคโลเนียล)
ซึ่งหลายคนเรียกว่า สไตล์ชิโน-โปรตุกีส
เราจะยิ่งคิดถึงอาคารย่านสบตุ๋ย-ถนนประสานไมตรี
ที่แม้จะไม่ได้ออกแนวชิโน-โปรตุกีสจัด ๆ แต่สถาปัตยกรรมที่ปรากฏบริเวณย่านสบตุ๋ยนั้น
ส่วนใหญ่ก็เป็นอาคารแบบจีน ลักษณะเป็นตึกแถว เรือนแถว ที่มีชั้นเชิงในการออกแบบน่าชมอยู่ไม่น้อยและยังมีอาคารแบบตึกฝรั่งที่มีการผสมผสานวัฒนธรรมจีนเข้ามา
สังเกตได้จากองค์ประกอบตกแต่ง ได้แก่
ตรงกลางด้านบนดาดฟ้านิยมทำประดับปูนปั้นแบบศิลปะช่างจีน
รวมไปถึงซุ้มลวดลายปูนปั้นเหนือวงกบประตูและหน้าต่าง ขนาดสัดส่วนก็ใหญ่โต อีกรูปแบบหนึ่ง
คือ อาคารแบบตึกฝรั่ง ประดับกระจกสีอย่างชาติตะวันตก บริเวณด้านหน้าประดับปูนปั้นลายเรขาคณิต

ระหว่างเดินชมตึกแถวของปีนัง
เรายังนึกถึงอาคารยู่ฮวด อาคารโดดเด่นของย่านสบตุ๋ย
ซึ่งเป็นอาคารหลังเดียวในย่านนี้ที่สูงถึง 3 ชั้น
ศิลปะสถาปัตยกรรมแสดงออกถึงการรับอิทธิพลจากจีนอย่างชัดเจนคิดเล่น ๆ
ว่าหากอาคารยู่ฮวดตั้งอยู่ในเมืองปีนังก็คงไม่ดูแปลกแยกอะไร
แถมน่าจะกลมกลืนไปกับหมู่อาคารต่าง ๆ ด้วยซ้ำ นอกจากนี้ อาคารอื่น ๆ ในย่านสบตุ๋ยหากสังเกตจะพบว่า
อาคารที่อยู่หัวมุมถนนนิยมออกแบบให้โค้งรับกับมุมเลี้ยวของแยกถนน
ซึ่งสไตล์นี้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมต่างประเทศมา
และที่เมืองปีนังก็มีอาคารแบบนี้เช่นกัน
ห่างไกลกันมากกว่า 1,000
กิโลเมตร วัฒนธรรมการกินและศิลปะสถาปัตยกรรมเป็นสิ่งที่ถ่ายทอดกันไป-มาได้อย่างไม่น่าเชื่อ
และยังทรงอิทธิพลอยู่จนถึงทุกวันนี้ หรือจริง ๆ แล้ว
เขตแดนสมมติที่ลากเส้นกันในแผนที่นั้น ไม่อาจกีดกั้นความสัมพันธ์ของผู้คนได้เลย
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1090 วันที่ 5 - 11 สิงหาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น