
จำนวนผู้เข้าชม
ไม่ว่ายุคสมัยไหน
การแข่งขันในธุรกิจการค้าขายเป็นเรื่องธรรมชาติ แต่ผู้มองการณ์ไกล คิดแล้วลงมือทำก่อนใคร ย่อมเป็นผู้ได้เปรียบ เช่นเดียวกับโรงงานตัดเย็บผ้า
เก่าแก่ของลำปางเริ่มต้นมาจากตำนานช่างเย็บผ้าชาวจีนที่มาอยู่ในเมืองไทยสืบทอดมาถึงลูกหลานทุกวันนี้นับเป็นรุ่นที่
3 และถือว่าเป็นหนึ่งธุรกิจ SMEs
ของลำปางที่มีทิศทางเติบโตมั่นคง ชัดเจน
บุญศักดิ์
ชัยสุทธิวงศ์ หรือคุณจิ้น กรรมการผู้จัดการ บริษัท นอร์ธเทิร์น
แอทไทร์ จำกัดทายาทธุรกิจรุ่นที่ 3 เล่าถึงที่มาของตำนานธุรกิจในครอบครัวว่า
“งานตัดเย็บเสื้อผ้าเริ่มต้นมาตั้งแต่รุ่นอาก๋ง
ซึ่งเป็นชาวจีนอาศัยอยู่ในกรุงเทพมหานคร ตัดเย็บชุดนักเรียน
จากนั้นพัฒนามาตัดเย็บชุดเขียวซึ่งเป็นงานตัดเย็บด้วยผ้าหนา ทนทานเหมาะสำหรับผู้ใช้แรงงาน
จนกลายเป็นธุรกิจในครอบครัว ขายส่งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด ส่งต่อธุรกิจมาถึงรุ่นลูก
คือเตี่ย(พ่อ) ซึ่งเป็นบุตรคนโตเป็นผู้สืบทอดธุรกิจเรื่อยมากระทั่งเจอกับคุณแม่ (นวลศรี พรมไชยวงค์)
ที่ลำปาง จนกระทั่งราวปี 2525ได้โยกย้ายกลับมาอยู่ลำปางตั้งโรงงานเล็กๆเป็นห้องแถวแบงค์ชาติ รับงานตัดเย็บเสื้อผ้าชุดนักเรียน
และชุดเขียวจากลูกค้าเดิมที่กรุงเทพฯ และขายส่งในลำปาง จุดเปลี่ยนที่สำคัญ
ของโรงงานเล็กๆที่เริ่มจากเย็บเสื้อผ้านักเรียน และชุดเขียวสำหรับเกษตรกรและกลุ่มผู้ใช้แรงงาน
ขายส่งให้กับพ่อค้าคนกลาง ห้างร้านขนาดใหญ่หลายรายทั่วประเทศ
ในวัยเด็ก
‘จิ้น’เล่าว่า เขามีพี่น้อง 3 คน
ได้รับการถ่ายทอดจากพ่อ ซึ่งสอนให้ลูกๆ เรียนรู้และช่วยกันทำงานในครอบครัว ดังนั้นหลังเลิกเรียน
และวันหยุด 3 คนพี่น้องก็จะช่วยงานที่บ้านเสมอ ‘จิ้น’เป็นลูกคนกลาง เรียนจบปริญญาตรีวิศวเครื่องกล ปริญญาโทด้านบริหาร พี่ชายจบด้านการเงินการธนาคาร
น้องชายจบด้านการตลาด จึงเป็นเรื่องลงตัวสำหรับการความรู้มาช่วยกันดูแลธุรกิจของครอบครัว
เมื่อธุรกิจเติบโตขึ้นเริ่มผลิตเป็นอุตสาหกรรมมากขึ้น
จากการกระจายงานจ้างให้ชาวบ้าน กลุ่มแม่บ้านต่างๆ รับไปเย็บแล้วนำมาประกอบเย็บสำเร็จรูปที่โรงงานทำอย่างนี้เรื่อยมาจนถือว่าเป็นหนึ่งในโรงงานตัดเย็บชุดเขียวที่มีคู่แข่งน้อยมากในประเทศไทย
“หลังจากที่ผมเรียนจบปริญญาตรีก็ไปทำงานในบริษัทเอกชนด้านยานยนต์มาระยะหนึ่ง
หลังจากเตี่ยเสียชีวิต ผมก็มองว่าธุรกิจนี้ยังไปได้ มีความผูกพัน จึงตัดสินใจกลับมา ดูแลธุรกิจต่อจากเตี่ย จากประสบการณ์ที่ทำงานบวกกับทักษะที่ได้เรียนมา
และเรียนหลักสูตรต่างๆที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ นำมาพัฒนาและจัดระบบในรูปแบบโรงงาน
จากเดิมที่เราลงทุนซื้อจักรกระจายส่งงานไปจ้างเย็บตามบ้าน
ผมเริ่มเรียกเครื่องจักรกลับมาตั้งโรงงาน (ที่ตั้งของโรงงานปัจจุบัน บ้านฟ่อน
ต.ชมพู อ.เมืองลำปาง) เพื่อง่ายต่อการควบคุมคุณภาพและกำลังการผลิต ในปี 2544
จากนั้นก็ ปรับเปลี่ยนวิธีบริหารการผลิตหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น รูปแบบการเหมางาน นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาใช้ในการออกแบบแพทเทิร์น
เครื่องปักระบบคอมพิวเตอร์ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต”
ทุกวันนี้
นอร์ธเทิร์น แอทไทร์ เป็นโรงงานที่ผลิตและจำหน่ายชุดเครื่องแบบหน่วยงานราชการ
ไม่ว่าจะเป็นชุดทหาร 3 เหล่าทัพ ที่เป็นลายดิจิตอล สีพื้นทั้งสีเขียว สีดำ สีกากี จะทำในแบรนด์
Aarmy ส่วนชุดทหาร เครื่องแบบที่เป็นลายพรางธรรมดา
จะใช้แบรนด์ GREEN UNIFORM หรือที่รู้จักกันกว้างขวาง
ตราลูกโลก สำหรับชุดนักบิน ชุดหมี ชุดหน่วยกู้ภัยต่างๆ
ในแบรนด์ G-FIGHT และ Nac Shop จะเป็นแบรนด์สำหรับเสื้อกิจกรรม
ยูนิฟอร์มตามรูปแบบลูกค้า
จากจุดแข็งของโรงงานที่เป็นผู้ผลิตเครื่องแบบราชการ
4 เหล่าทัพ ซึ่งเป็นงานที่มีความซับซ้อน มีขั้นการผลิตมาก ทำให้โรงงานประเภทเดียวกันจึงมีไม่มากในประเทศไทย ปัจจุบันโรงงานมีกำลังการผลิตได้เต็มที่รวมแล้ววันละไม่น้อยกว่า
4 พันชุด"
นั่นคือเส้นทางเติบโตของกว่า10
ปีที่ผ่านมาของ บริษัท นอร์ธเทิร์น แอทไทร์ จำกัด ด้วยกู้เงินลงทุนไม่เกิน 5
ล้านบาท ถือว่าเป็นเจ้าของโรงงานเต็มตัวขณะที่อายุได้เพียง 29 ปี
สร้างแบรนด์แฟชั่น
ทำในสิ่งที่ฝันแต่ไม่ตอบโจทย์ความมั่นคงทางธุรกิจ
หากถามถึงเส้นทางการเติบโต
ย่อมมีการพัฒนาแตกไลน์ไปทำในสิ่งที่ชอบหรือฝัน หลายปีก่อนหน้านี้ จิ้นและพี่น้อง ได้แตกไลน์ไปทำเสื้อผ้าแฟชั่น
สร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง เป็นเสื้อผ้าแนวตลาดแฟชั่น
ลงทุนทำร้านขายเสื้อผ้าแบรนด์ของตัวเองที่ห้างดังในกรุงเทพ และที่ลำปาง อยู่ 4-5 ปี
สุดท้ายเขาต้องหยุดไปต่อ
“ในช่วงที่เรากำลังทำโรงงานไปได้ดี
มีความมั่นคงระดับหนึ่ง เราก็เริ่มสนใจอยากทำอะไรที่แตกต่างจากเดิม เริ่มมองตลาดใหม่ๆ
ซึ่งผมและน้องชายก็สนใจในตลาดแฟชั่น ทำเสื้อเชิ้ต เสื้อยืด
กางเกงแฟชั่นตั้งชื่อแบรนด์ว่า Orirush และ JimmieHom
นอกจากนี้ยังเปิดร้าน Nac shop
รับงานตัดเย็บเสื้อยืดกิจกรรมที่ลำปาง แต่คู่แข่งก็เยอะมากส่วนแบ่งตลาดไม่มากพอ
สรุปได้ว่าช่วงที่เราแตกไลน์ธุรกิจมาทำอย่างอื่นนอกจากงานหลัก พบว่ามีผลกำไรไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน
มีภาระงานเพิ่มขึ้น จึงกลับมามองตัวเองใหม่ ว่าธุรกิจที่สำเร็จ
ไม่ใช่แค่ทำในสิ่งที่เราชอบ แต่ต้องตอบโจทย์เรื่องผลกำไรด้วย เราต้องเลือก
อะไรที่ทำแล้วขาดทุน หรือแค่ไม่คุ้มทุนก็ไม่มีความจำเป็นต้องดื้อทำ
แต่ผมเลือกทำในสิ่งที่มีมั่นคงทางการตลาดและทำกำไรที่ยั่งยืน”
ในเรื่องของอนาคต
ผู้บริหารเลือดใหม่ไฟแรง วางแผนบางส่วนได้สอดรับการเปิดประชาคมอาเซียน
แนวโน้มต่างๆทั้งเรื่องแรงงาน การตลาด และฐานการผลิต อันมีผลการขยายโรงงาน
รวมถึงที่ตั้งฐานการผลิตในอนาคต หากแต่วันนี้ บุญศักดิ์ ยืนยันว่า การพัฒนาตนเองให้มีฐานแข็งแกร่งมากพอที่คู่แข่งรายใหม่จะก้าวขึ้นมาเทียบไหว
และการวางฐานให้ส่งต่อแรงงานฝีมือรุ่นใหม่ให้เร็วที่สุด คือเป้าหมายหลัก
จากนั้นเชื่อว่า
นอร์ธเทิร์น แอทไทร์ จะเป็นหนึ่งในธุรกิจเล็กๆในท้องถิ่นที่เติบโตอย่างมั่นคง
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1090 วันที่ 5 - 11 สิงหาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น