
เย็นวันศุกร์เมื่อหลายเดือนก่อน เวทีบนถนนวัฒนธรรมของเราเคยได้ต้อนรับชมรมลูกข่างเชียงราย ซึ่งออกมาวาดลวดลายการเล่นลูกข่างหลากหลายรูปแบบ แม้ฟ้าฝนจะกวาดเอาผู้คนไปจนเบาบาง แต่ก็ไม่ได้ทำให้ชาวชมรมฯ กังวลมากเท่ากับกำลังครุ่นคิดว่า พื้นเวทีที่เปียกน้ำฝนอาจลื่นเกินไปสำหรับลูกข่าง และบางทีเชือกที่เปียกน้ำก็ทำลายจังหวะการขว้างลูกข่างลงพื้นได้
แต่เมื่อจักริน ทิศสกุล
ผู้ก่อตั้งชมรมฯ เชิญชวนคนสนใจให้ขึ้นไปลองเล่นดู
เด็กชายชาวลำปางก็ไม่รีรอที่จะกระโดดขึ้นไปจนเต็มเวที หลายคนเคยเล่นแล้ว
บางคนยังเก้ ๆ กัง ๆ อยู่ ไม่นานเจ้าวัตถุรูปทรงประหลาด จะกลมก็ไม่ใช่
จะรีก็ไม่เชิง
ก็หมุนเร็วจี๋จนละลานตาวัยเด็กถูกย้อนคืนกลับมาอีกครั้งและมันช่างหอมหวาน อันที่จริงใคร
ๆ ก็รู้จักลูกข่าง ไม่เฉพาะผู้ชายชาวเชียงรายเช่นจักริน
แต่ดูเหมือนคนไทยทั่วทุกภูมิภาคก็เรียกเจ้าวัตถุชิ้นนั้นคล้าย ๆ กัน
แล้วยังมีวิธีเล่นไม่แตกต่างกันมากนัก
จักรินเล่นลูกข่างมาตั้งแต่เป็นเด็กชาย ซึมซับวิธีการเล่นมาจากพ่อโดยไม่ต้องสอนกันด้วยซ้ำ
เด็ก ๆ จะขอให้พ่อทำลูกข่างให้ เน้นไปที่ไม้ฝรั่งโดยเฉพาะ เพราะได้ทั้งความเหนียว
แล้วยังได้เสียงดัง “หวึ่ง ๆ ๆ” ไว้ข่มคู่ต่อสู้อีกต่างหาก พ่อจะให้ลูกชายกำมือ
เพื่อทำลูกข่างให้มีขนาดเท่ากำปั้นของเด็กชาย จากนั้นใช้ตะปูทำเดือย
หากเป็นลูกข่างสายต่อสู้เดือยจะยาว เพราะเดือยยาวจะทำให้ลูกข่างไม่นิ่งจนกลายเป็นเป้า
ทว่าการใส่เดือยก็ต้องตั้งจุดศูนย์กลางให้ดี
ขั้นตอนนี้จึงต้องอาศัยความชำนาญพอสมควร อาศัยเวลาแค่วันสองวัน
ลูกข่างที่เสร็จสมบูรณ์ก็พร้อมมอบให้ลูกชาย สำหรับเด็กต่างจังหวัดที่มีลานดินกว้าง
ๆ อยู่ในบริเวณบ้าน ไม่มีอะไรสนุกไปกว่าการนัดแก๊งเพื่อนมา “สับบ่าข่าง”
อีกแล้ว
“คนเชียงรายเล่นกันโหดครับ”
จักรินเล่าพลางยิ้ม “เราเรียกกันว่าสับบ่าข่าง
คือเล่นให้แตกกันไปข้างหนึ่ง”
ลูกข่างพัฒนามาจากอาวุธที่คนสมัยก่อนใช้ในการล่าสัตว์
จักรินยังเชื่ออีกว่า การสับบ่าข่างของชาวเชียงราย คือรูปแบบการเล่นของเหล่าลูกหลานที่มีเชื้อสายพญามังราย
เชื้อสายนักรบ
จักรินเปรียบการขว้างลูกข่างที่ต้องเหยียดแขนขึ้นจนสุดแล้วจึงขว้างอย่างสุดแรงว่าเหมือนกับการฟันดาบของนักรบผู้กล้าแกร่ง
ก่อนอื่นใครบางคนต้องทำตัวเหมือนอุปกรณ์เครื่องเขียนที่เรียกว่า
วงเวียน ด้วยการนั่งลงใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง เหยียดแขน แล้วหมุนตัวขีดวงกลมวงหนึ่ง
จากนั้นทุกคนก็ขว้างลูกข่างของตนเองเข้าไปในวง เสียงดังหวึ่ง ๆ ๆ
และแล้วลูกข่างของใครคนหนึ่งก็เกิดพลาดท่า ไม่ยอมหมุนเสียอย่างนั้น
ลูกข่างที่โชคร้ายลูกนั้นจะถูกจับหงาย เพื่อให้คนอื่นขว้างลูกข่างของตนเองเข้าไปสับ
ขณะที่คนอื่น ๆ พากันลิงโลด แน่ล่ะ ผู้เป็นเจ้าของย่อมหน้าเสีย
เพราะหากลูกข่างของตนเองโดนสับหัวเสียแล้ว
นั่นหมายถึงศักดิ์ศรีที่พลอยยับเยินไปด้วย ไม่เพียงเท่านั้น
หากลูกข่างไม่แตกพังไปกลางวง ก็จะปรากฏริ้วรอยการโดนสับหัว ที่จะถูกล้อเลียนไปตลอด
ทว่าในความโชคร้าย บางครั้งจะเผยมิตรภาพเล็ก ๆ
ออกมา เมื่อมีเพื่อนอาสาที่จะปกป้องลูกข่างของเรา
ด้วยการใช้ลูกข่างของตนเองกันลูกข่างของเราให้ออกมานอกวงเร็วที่สุด
ก่อนลูกข่างโชคร้ายจะกลายเป็นเป้านิ่งโดนสับจนขายหน้าไปทั้งบาง
นอกจากความสนุกตามประสาเด็กต่างจังหวัดแล้ว จักรินมองว่า
การเล่นลูกข่างเป็นการออกกำลังกายที่ดีแล้วยังได้4 ส
เป็นของแถม นั่นคือ สติ สปิริต สมาธิ และสุขภาพ
เสียงลูกข่างกระทบพื้นบนเวทีดังก้อง
เรายืนมองภาพตรงหน้าที่อีกประเดี๋ยวก็คงเลือนหาย จบงานทุกคนแยกย้าย
ทิ้งการละเล่นเช่นนี้ไว้ในความทรงจำ แต่กับคนเชียงรายนั้นไม่ใช่ เพราะจักรินตระหนักดีว่า
การเล่นลูกข่างเริ่มถดถอยออกไปจากการรับรู้ของคนเชียงรายทุกขณะ เขาจึงตั้งชมรมลูกข่างเชียงรายขึ้นเมื่อปี
พ.ศ. ๒๕๕๑ ทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ณ ลานเล็ก ๆ หน้าสวนตุงและโคมในตัวเมืองเชียงราย
จักรินและอิสรีย์ คำวัง ภรรยา พร้อมด้วยพลพรรคคนรักลูกข่าง
จะมาเล่นลูกข่างกันเป็นประจำ เพื่อนำเสนอกีฬาภูมิปัญญาไทยชนิดนี้ให้คนอื่น ๆ
ได้รู้จัก
แม้หลายคนอายที่จะเล่นลูกข่างด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม
แต่สำหรับชมรมลูกข่างเชียงราย พวกเขาพร้อมจะไปเล่นลูกข่างทุกที่ทุกเวลา
ทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกข่างเข้าไปอยู่ในใจของผู้คนมากที่สุด
จักรินดำเนินการผลักดันให้ชมรมฯ เป็นสมาคมลูกข่างแห่งประเทศไทย
เขาวางแผนใช้ลูกข่างเป็นสะพานเชื่อมใจพี่น้องในทุกภูมิภาค
โดยเริ่มต้นที่ภาคเหนือก่อน ด้วยการไปสาธิตการเล่นลูกข่างเวลามีงานด้านวัฒนธรรม
กระทั่งนำมาซึ่งการจัดการแข่งขันลูกข่างหลายครั้ง
ล่าสุดกระทรวงวัฒนธรรมได้ประกาศให้ “ลูกข่าง” เป็น ๑ ใน ๔
รายการที่ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๕๘
สาขากีฬาภูมิปัญญาไทย ซึ่งนับเป็นหนทางหนึ่งในการปกป้อง คุ้มครอง
และเป็นหลักฐานสำคัญของประเทศในการประกาศความเป็นเจ้าของมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต่าง
ๆ ขณะยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายที่จะคุ้มครองมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติ
เสียงหวึ่ง ๆ ๆ
ยังคงดังอยู่หน้าสวนตุงและโคมในวันที่มีถนนคนเดินเชียงราย
จักรินและผองเพื่อนขว้างลูกข่างออกไปซ้ำแล้วซ้ำเล่าด้วยแววตาเป็นประกาย แต่สำเมืองลำปาง ลูกข่างคงถูกลืมเลือนไปแล้วจริง ๆ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1097 วันที่ 23 - 29 กันยายน 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น