
หากจะพูดถึงเครื่องปั้นดินเผานับว่าเป็นสิ่งที่เกี่ยวข้องในชีวิตมนุษย์ ตั้งแต่ยุคก่อนประวัติศาสตร์ หลังจากที่มนุษย์รู้จักการใช้ไฟและนำดินมาปั้นแล้วเผาเป็นภาชนะเครื่องใช้ หรือแม้กระทั่งเป็นสัญลักษณ์ ความเชื่อประเพณี ศาสนาและ ด้านศิลปะเป็นการแสดงออกทางศิลปะ จนถึงปัจจุบันเครื่องปั้นดินเผายังเป็นส่วนหนึ่งของงานเครื่องใช้ในบ้านงานตกแต่ง ของที่ระลึกและของที่มีคุณค่าทางศิลปะไปจนถึงเครื่องบูชาที่มีผลทางจิตใจ
ช่วงสองสามปีที่ผ่านมาผลงานสร้างสรรค์เครื่องปั้นดินเผาเณรน้อยน่ารักในอิริยาบถต่างๆเป็นสินค้ายอดนิยมไปทั่วประเทศไทย
แต่ใครจะรู้บ้างว่าเบื้องหลังผลงานเหล่านั้น มีจุดเริ่มต้นจากโรงงานดินเผา
"อารมณ์ดิน" ตั้งอยู่ในหมู่บ้าน ตำบลสบป้าด อำเภอแม่เมาะ จ.ลำปาง โรงงานเล็กๆคับด้วยคุณภาพโดย ‘โจ’
อรรถเทพ สมัครธัญกิจ และ ‘อุ้ม’สุพิชญา อดิภัทรนันท์คู่รักอารมณ์ดี
ที่ก่อตั้งโรงงานด้วยใจรัก


โจเล่าต่อว่าเขาลงทุนเปิดโรงงานอย่างจริงจังที่บ้านเมื่อปี
2547 ช่วงแรกเขาทำงานปั้นดินเผาประเภทดินแดงเน้นงานชิ้นเล็กๆเป็นรูปสัตว์และตุ๊กตาต่างๆ
สำหรับงานแต่งสวน ด้วยผลงานที่โดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ที่เน้นความน่ารักมีอารมณ์เปื้อนยิ้มอยู่ในชิ้นงาน
ทำให้เขามีโอกาส รับงานแต่งสวนหน้าห้างโลตัสตัวทุกสาขา ทำให้ “อารมณ์ดิน”
เริ่มเป็นที่รู้จักกว้างขวางมากขึ้น
จุดพลิกผันอีกครั้งหลังจากเดินทางสายงานปั้นดินแดงไประยะหนึ่ง
เขาค้นหาทางออกของการผลิตสินค้าที่มีน้ำหนักเบาขึ้น มีความหลากหลายตอบโจทย์เรื่อง
"อารมณ์ดิน" ของเขาชัดเจนขึ้น ด้วยการหันมาทำงานเครื่องปั้นจากดินขาว
แต่ด้วยนิสัยที่ไม่ชอบจำสูตรการเผาและเคลือบเซรามิกที่ยุ่งยาก ซับซ้อน
เขาจึงเลือกสร้างงานแบบการเผาเซรามิกแบบไฟต่ำ หรือที่เรียกกันว่า บิสกิต (Biscuit)มาเพ้นท์สีอคลิลิคแทน ซึ่งให้ผลงานที่แตกต่างด้านสีสันและสร้างอารมณ์สดใสผ่านชิ้นงานได้ง่ายกว่าการให้สีแบบการเผาเคลือบเซรามิก
ผลงานที่ออกสู่ตลาดชุดแรกๆ คือครอบครัวเต่าอารมณ์ดี ได้รับความนิยมและมียอดสั่งผลิตต่อเนื่อง
แต่ยังคงอยู่ในเส้นทางตลาดแต่งบ้านและสวน
“ผมถือว่าประสบความสำเร็จมากในการทำงานเพ้นท์บนเครื่องปั้นดินเผาไฟต่ำ
จุดขายของผมยิ่งชัดเจนมากขึ้นจากการให้สีและการสร้างแม่พิมพ์งานปั้นทุกชิ้นให้มีความน่ารัก
ดูอารมณ์ดี สีสันสดใสจับวางไว้ที่ไหนใครเห็นก็มีความสุข และเริ่มออกงานแฟร์
เช่นงานเซรามิกแฟร์ในลำปาง งานบ้านละสวนที่ กรุงเทพฯ ซึ่งเป็นเวทีเรียนรู้ด้านการตลาดและพฤติกรรมลูกค้า
ที่สำคัญทำให้มีโอกาสพบคนเก่งๆมากมาย ซึ่งผมได้เจอศิลปินหลายท่าน และผลงานดินแดงของช่างปั้นคนหนึ่งชื่อ“นายดี”
เป็นผู้แนะนำและจุดประกายความคิดของผมในการนำสามเณรมาทำรูปแบบเซรามิกในสไตล์ของอารมณ์ดิน
ซึ่งผมได้ศึกษาค้นคว้าอิริยาบถต่างๆของสามเณร ปรากฏว่าได้รับเสียงตอบรับท่วมท้นมียอดสั่งผลิตหลายหมื่นชิ้น
เป็นสินค้ายอดนิยมที่โรงงานอื่นผลิตแข่งขันกันในท้องตลาดอย่างคึกคัก
แต่ขณะเดียวกัน ผมก็ยังไม่หยุดคิดแบบงานใหม่ๆออกมารองรับก่อนตลาดจะอิ่มตัวตอนนี้ ‘อารมณ์ดี’
ได้ออกแบบพิฆเนศภาคเด็กน้อยเวอร์ชั่นต่างๆ ซึ่งขณะนี้ได้รับผลตอบรับดีมาก
นอกจากนี้ยังเตรียมออกแบบงานปั้นที่มีเอกลักษณ์แบบไทยประยุกต์สำหรับตลาดต่างประเทศที่ชื่นชอบความเป็นไทย"
นั่นคือเหตุและผลของการเติบโตทุกย่างก้าว
มิได้มาซึ่งความสวยงามทุกเส้นทาง หากแต่การแข่งขัน และสงครามราคาทำให้‘โจ’ต้องใช้ทักษะทุกด้านที่เขามี
ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์ที่มีพื้นฐานมาจากคนรักศิลปะ ทำให้เขาเป็นผู้นำได้ไม่ลำบากนัก
การคิดออกแบบนำเสนองานด้วยแบบสเก็ตด้วยตัวเอง สื่อสารไปยังช่างปั้น
จนถึงกระบวนการทำแม่พิมพ์ งานเพ้นท์ และกรรมวิธีการผลิตงานศิลปะในเชิงอุตสาหกรรม ผ่านการควบคุมอย่างละเอียด
ด้วยการจ้างงานราคาสูงกว่าค่าแรงทั่วไป
งานด้านการตลาดและการพัฒนาอื่นๆรอบด้าน
มี‘อุ้ม’สุพิชญา อดิภัทรนันท์เป็นแรงเสริมที่แข็งแกร่ง
ภายใต้แนวคิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูง แต่มีต้นทุนเพิ่มให้น้อยที่สุด
นั่นคือการขายไอเดียและงานฝีมือ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1096 วันที่ 16 - 22 กันยายน 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น