วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559

นิทานดาว เรื่องเล่าจาง ๆ บนท้องฟ้า

จำนวนผู้เข้าชม URL Counter
           
สัมผัสลมหนาวเบา ๆ เริ่มมา จึงอยากชวนกันหาเวลาเงยหน้าจากคลิปไวรัลต่าง ๆ ขึ้นไปบนท้องฟ้า ยามนี้บางช่วงบางตอนเริ่มใสแล้ว และคงต้องมีสักคนล่ะน่าที่มองเห็นกลุ่มดาว 7 ดวงวาววับพลางนึกถึงเรื่องเล่าก่อนนอนของแม่ หรือยาย เกี่ยวกับดาวลูกไก่อันเป็นส่วนหนึ่งในตำนานดาว 27 ฤกษ์ ซึ่งหลวงวิศาลดรุณกร (อั้น สาริกบุตร) กล่าวไว้ว่า มีที่มาจากคัมภีร์เสนปกรณ์

ด้วยความที่เล่ากันอย่างแพร่หลายและยังสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ตำนานดาวลูกไก่จึงได้รับการประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม สาขาวรรณกรรมพื้นบ้าน ประจำปี พ.ศ. 2553อย่างไรก็ตาม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะการนำสาระจากตำนานมาแต่งเป็นเนื้อเพลงโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงแหล่ดาวลูกไก่ของพร ภิรมย์ นับเป็นเพลงที่ทำให้ตำนานดาวลูกไก่แพร่หลายไปสู่วงกว้าง

            “น่าสงสารแม่ไก่             น้ำตาไหลสอนลูก
เช้าก็ถูกตาเชือด                         ต้องหลั่งเลือดนองเล้า
ส่วนลูกไก่ทั้งเจ็ด                                    เหมือนถูกเด็ดดวงใจ
พากันโดดเข้ากองไฟ                  ตายตามแม่ไก่ดังกล่าว
ด้วยอานิสงส์ใจประเสริฐ              ลูกไก่ไปเกิดเป็นดาว”

ในภาคเหนือเรา ช่างซอก็นิยมขับค่าวซอเรื่องดาววีไก่น้อยในงานบุญต่าง ๆ หรือขับร้องเพื่อสอนลูกหลานให้ประพฤติดี สอนให้รู้จักบาปบุญคุณโทษและความกตัญญู

ส่วนคนอีสานเรียกดาวลูกไก่ว่า ดาวไก่หน้อย และบอกว่าดาวไก่หน้อยเป็นพี่ของดาวช้าง เพราะจะขึ้นให้เห็นก่อนดาวช้าง ดาวไก่หน้อยนี้ ปรากฏในโคลงผญาเว้าสาวเว้าบ่าวอีกด้วยว่า

“ดาวไก่หน้อยป้องแม่เมียนอน
ดาวใคร่สอนป้องพี่ชายเมียซ้อน”

ซึ่งเป็นโคลงที่กล่าวเปรียบว่า เมื่อดาวลูกไก่ขึ้น ก็ได้เวลาที่บ่าวสาวชวนกันไปร่วมหลับนอน (เมียคือคำว่า เมือ แปลว่า กลับ / ไป)

ด้านชาวเลผู้เร่ร่อนในน่านน้ำอันดามันเรียกกลุ่มดาวลูกไก่ว่า กลุ่มดาวบิตัวกะติก โดยมีนิทานเล่ากำกับเกี่ยวกับเรื่องของชายผ่าฟืนที่ยังทำภารกิจไม่เสร็จสิ้น เพราะเขาบังเอิญทำตาขวานหลุดขณะผ่าฟืน โดยบิตัวกะติก หรือดาวลูกไก่ เปรียบได้กับตาขวานที่หลุดกระเด็นไปข้างหน้า และทุกวันนี้ คนผ่าฟืนก็ยังเดินไปไม่ถึงตาขวานที่ตั้งใจจะเก็บมาใส่ด้านที่กระเด็นตกอยู่ข้างหลัง

สำหรับคนเรือ พวกเขายกให้ดาวลูกไก่ ดาวจระเข้ และดาวว่าว มีบุญคุณอย่างล้นเหลือในการล่องเรือ โดยดาวลูกไก่จะขึ้นเป็นหมายให้สังเกตในช่วง 4 เดือน เรียกตามเดือนจีนตั้งแต่เดือน 7 ถึงเดือน 10

จะเห็นได้ว่า ชาวบ้านต่างมองหาดาวลูกไก่เพื่อประโยชน์ในการหาอยู่หากิน ไว้สังเกตการเปลี่ยนแปลงของโมงยามอย่างแม่นยำเด่นชัด ทว่าสำหรับเด็ก ๆ แล้ว ตำนานดาวลูกไก่คือนิทานชุบชูใจก่อนนอน พานให้ซาบซึ้งน้ำตาไหลทุกครั้งที่ได้ฟัง โดยเนื้อหาบอกเล่าถึงความกตัญญูของแม่ไก่และลูก  7 ตัว ที่สละชีวิตตนเองด้วยการกระโดดเข้ากองไฟ เพื่อตอบแทนบุญคุณตา-ยายผู้เลี้ยงดูตนและลูก ๆ มา จะได้นำไปทำอาหารถวายแด่พระธุดงค์ ด้วยกุศลกรรมนี้จึงทำให้แม่ไก่และลูกไก่ได้ขึ้นไปเป็นกลุ่มดาวฤกษ์ 7 ดวง (กลุ่มดาวกฤติกา หรือกัตติกา) ได้แก่ ดาว Eta-Tauri, 17-Tauri, 20-Tauri, 23-Tauri, 19 Tauri, 27-Tauri และ 28-Tauri ในไตรภูมิกถากล่าวว่า “ดาวอันชื่อกฤติกานั้น มีพิมานแก้ว 7 อันชุมกันอยู่”

ในความเป็นจริงThe Pleiades หรือกลุ่มดาวลูกไก่ (Seven Sisters / Messier 45 / M 45) เป็นกระจุกดาวเปิดที่มีดาวฤกษ์สีน้ำเงินสว่างเจิดจ้าอยู่ภายใน มีอายุประมาณ 100 ล้านปี กระจุกดาวนี้อยู่ในกลุ่มดาววัว หรือราศีพฤษภ (Taurus) จัดเป็นกระจุกดาวที่อยู่ใกล้เราที่สุดกระจุกหนึ่งบนท้องฟ้า โดยอยู่ไกลออกไป 444 ปีแสง และเห็นได้ง่ายมากด้วยตาเปล่า (เห็นเพียง 7 ดวง) รอบ ๆ กระจุกดาวมีแถบฝุ่นมากมายสะท้อนแสงของดาวฤกษ์ออกมาเป็นสีฟ้า ซึ่งแถบฝุ่นนี้แต่เดิมเชื่อกันว่า คือกลุ่มก๊าซและฝุ่นที่หลงเหลือมาจากการสร้างดวงดาว แต่ภายหลังก็พบว่าไม่เกี่ยวข้องกัน มันเป็นเพียงแถบฝุ่นในอวกาศที่บังเอิญกระจุกดาวนี้กำลังเคลื่อนผ่านแล้วทำให้มันเรืองแสงขึ้นมาจากการสะท้อนแสงดาวอีกทีหนึ่ง ส่วนบริเวณที่ห่างไกลจากกระจุกดาวก็จะเห็นกลุ่มก๊าซและฝุ่นในอวกาศอยู่รอบ ๆ เป็นสีน้ำตาลอยู่ทั่วไป

บนท้องฟ้าดวงดาวยังคงกะพริบพราวเหมือนอย่างที่เคยเป็นมาชั่วนาตาปี เรื่องเล่าอันแสนละเมียดละไมภูมิปัญญา และความทรงจำมากมาย คนสมัยก่อนฝากไว้บนนั้น เสียดายคนในยุคนี้ไม่ค่อยเงยหน้าขึ้นมองท้องฟ้าอีกแล้ว พวกเขาหลงเพริดไปกับแสงไฟประดิษฐ์และเรื่องราวฉาบฉวยในจอสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ ที่ถืออยู่

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1098 วันที่  30 กันยายน - 6 ตุลาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์