ได้รับชวนจากมีเดีย อินไซด์ เอาท์ ร่วมกับคณะกรรมการจัดงานครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา ร่วมวงเสวนาว่าด้วย”สื่อมวลชนกับความรุนแรงทางการเมือง” กับรุ่นใหญ่หลายคน อาทิ ยุวดี ธัญญสิริ สื่อมวลชนอาวุโสประจำทำเนียบรัฐบาล รุ่งมณี เมฆโสภณ กรรมการนโยบาย ไทยพีบีเอส นิธินันท์ ยอแสงรัตน์ ที่ปรึกษาทีวีมติชน และอธึกกิต แสวงสุข เงาร่างใบตองแห้ง แห่งวอยซ์ทีวี ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
ประสบการณ์การทำข่าวการเมืองมาเกือบ 40 ปี ถึงแม้จะไม่ต่อเนื่อง
แต่ก็พอมองเห็นประเด็นและพัฒนาการของข่าว ความคิดเห็นทางการเมืองที่นำไปสู่ความรุนแรงในแต่ละช่วงยุคสมัย
เพื่อให้เห็นภาพกว้างๆ สำหรับคนรุ่นหลัง
จะได้เรียบเรียงข้อมูลจากวิกิพีเดีย และข้อมูลจากความทรงจำของ “จอกอ”
ให้เห็นดังนี้
เหตุการณ์ 6 ตุลา เป็นเหตุการณ์จลาจลและปราบปรามนักศึกษาและผู้ประท้วงในและบริเวณหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์
และท้องสนามหลวง ขณะที่นักศึกษาจากหลายมหาวิทยาลัยกำลังชุมนุมประท้วงการเดินทางกลับประเทศของจอมพลถนอม กิตติขจร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่สนามฟุตบอลมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
โดยสถิติอย่างเป็นทางการระบุว่า มีผู้เสียชีวิต 46 คน มีทั้งถูกยิงด้วยอาวุธปืน
ถูกทุบตี ถูกเผาทั้งเป็น หรือถูกทำให้พิการ
หนึ่งวันก่อนเหตุการณ์ มีการตีพิมพ์ภาพถ่ายการแขวนคอนักศึกษาโดยจำลองเหตุการณ์ที่ช่างไฟฟ้าสองคนถูกแขวนคอ
หลังจากไปแจกใบปลิวต่อต้านการกลับมาของจอมพลถนอมที่จังหวัดนครปฐม ในหนังสือพิมพ์ “ดาวสยาม”
และ “บางกอกโพสต์”
ภาพถ่ายนั้นเหมือนกับกำลังแขวนคอหุ่นจำลองสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ
สยามมกุฎราชกุมาร เป็นผลให้กองกำลังกึ่งทหารที่โกรธแค้นมาชุมนุมกันนอกมหาวิทยาลัยในเย็นวันนั้น
พลตำรวจโทชุมพล โลหะชาละ รองอธิบดีกรมตำรวจ สั่งการโจมตีในรุ่งเช้าและอนุญาตให้ยิงได้อย่างเสรีในธรรมศาสตร์
คณะผู้ยึดอำนาจการปกครอง นำโดย
พลเรือเอกสงัด ชลออยู่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ยึดอำนาจทันทีหลังสิ้นสุดเหตุการณ์
สมาชิกของคณะผู้ยึดอำนาจการปกครองนั้นมีความคิดสายกลางกว่ากลุ่มของพลตรีประมาณ
และความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองกลุ่มยังเป็นที่เข้าใจไม่มากนัก คณะผู้ยึดอำนาจการปกครองจึงแต่งตั้งธานินทร์ กรัยวิเชียร ผู้ต่อต้านคอมมิวนิสต์ที่ยึดมั่นในหลักการ
และผู้ที่พระมหากษัตริย์โปรด เป็นนายกรัฐมนตรี
ด้วยมุมมองที่ว่า นักศึกษาเป็นฝ่ายสืบรับอุดมการณ์สังคมนิยม
ชนชั้นปกครองไทยจึงดำเนินการทางลับเพื่อบ่อนทำลายขบวนการนิสิตนักศึกษา
โดยสลายฝ่ายนักเรียนอาชีวศึกษาออกมา แล้วจัดตั้งเป็นกลุ่มพลังต่างๆ เช่น กระทิงแดง
นวพล ค้างคาวไทย เป็นต้น
โดยมุ่งตั้งตนเป็นปรปักษ์กับกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย
มีการยกกำลังเข้าทำร้ายนักศึกษาและทำลายสถานที่ถึงภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์หลายครั้ง
ในเวลาไล่เลี่ยกัน ยังมีการจัดตั้งกลุ่มพลังอื่น ๆ เช่น ชมรมแม่บ้าน นำโดย วิมล ศิริไพบูลย์ นามปากกา
"ทมยันตี" หรือลูกเสือชาวบ้านเป็นต้น
โดยมีชมรมวิทยุเสรี เป็นสื่อกลางชี้นำกลุ่มพลังเหล่านี้
มีสถานีวิทยุยานเกราะอันเป็นเครือข่ายของกองทัพบกเป็นแม่ข่าย
และผู้จัดรายการคือ พลโทอุทาร สนิทวงศ์ ณ อยุธยา,อาคม มกรานนท์, ทมยันตี, สมัคร สุนทรเวช, อุทิศ
นาคสวัสดิ์
ยานเกราะ นับเป็นต้นแบบยุคแรกๆ ของการใช้ เฮดสปีช
ตอกย้ำความขัดแย้ง และในที่สุดสามารถยั่วยุให้คนไทยกลุ่มหนึ่งไปฆ่าคนไทยด้วยกันได้
ยังมีบางถ้อยคำ ที่อาจต้องเก็บความมาเล่าสู่กันฟังในฉบับต่อไป
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น