วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2559

ไก่อู อธิบดีกรมกร๊วก !

จำนวนผู้เข้าชม webs counters

ม่น่าแปลกใจ แต่น่าทำนายว่าจะเกิดสิ่งใดขึ้นในงานโฆษณาชวนเชื่อของรัฐบาล พลันที่ พล.ต.สรรเสริญ  แก้วกำเนิด  โฆษกรัฐบาล ได้นั่งควบตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ โดยอาศัยอำนาจของมาตรา 44
           
คำสั่งมาตรา 44 อธิบายว่า
           
“..เพื่อการขับเคลื่อนงานประชาสัมพันธ์ของรัฐให้มีความสอดคล้องกันระหว่างการประชาสัมพันธ์ของทางราชการ  การประชาสัมพันธ์ของ คสช. กับการประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล โดยเฉพาะการบริหารแผนการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ในช่วงเปลี่ยนผ่านเพื่อการปฏิรูป จึงให้พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี รักษาราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. เป็นต้นไป”
           
แน่นอนนี่ย่อมเป็นเรื่องที่ช้ำใจ สำหรับลูกหม้อกรมประชาสัมพันธ์ ที่เติบโตมาตามสายงาน และน่าจะปรารถนาตำแหน่งสุดยอดพีระมิดในหน้าที่ราชการ เพราะครั้งก่อน นายอภินันท์  จันทรังษี ก็ข้ามห้วยจากตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ มาเป็นอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ครั้งหนึ่งแล้ว คราวนี้ก็สั่งตรงมาจากกองทัพบก
           
ไม่มีใครรู้ว่าหัวจิต หัวใจของข้าราชการกรมประชาสัมพันธ์จะเป็นเช่นใด แต่ข้าวนอกนา เช่นนายอภินันท์ จันทรังษี ซึ่งกำลังจะเกษียณอายุราชการ ยืนยันเรื่อง “คลื่นใต้น้ำ” ไว้หนักแน่นว่าจะไม่มีวันเกิดขึ้น
           
“..พล.ต.สรรเสริญจะสามารถทำงานได้ เพราะเป็นผู้ที่มีศักยภาพ เข้าใจงานของรัฐบาลเป็นอย่างดี และการให้ทหารเข้ามารักษาการคงไม่ทำให้ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในองค์กร มั่นใจว่า ไม่ว่าใครจะเข้ามาทำงานในกรมประชาสัมพันธ์จะไม่มีการก่อคลื่นใต้น้ำในองค์กรขึ้นแน่นอน”
           
การเลือก พล.ต.สรรเสริญ  ซึ่งมีดีเอ็นเอเดียวกับคนในกองทัพ  ผ่านประสบการณ์ ร้อนหนาวกับการปะทะกับฝ่ายตรงข้ามด้วยท่าทีสุภาพ นุ่มนวล หากซ่อนดาบแหลมคมไว้ในรอยยิ้ม มายาวนาน นี่คือบุคคลที่เหมาะสมอย่างยิ่งในสถานการณ์ยามนี้  
           
สถานการณ์ที่ต้องยึดกุมสภาพข่าวสารไว้อย่างเบ็ดเสร็จ !
           
ณ นาทีนี้ พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด คือผู้เฝ้าประตูข่าวสารที่ทรงอิทธิพลอย่างยิ่งในประเทศนี้ ทั้งข่าวจากกองทัพ ข่าวจาก คสช.และข่าวจากรัฐบาล
           
เป็นการตอกย้ำว่า งานประชาสัมพันธ์แห่งชาติ ภายใต้กรมประชาสัมพันธ์นั้น เป็นการประชาสัมพันธ์ผู้มีอำนาจ เป็นการประชาสัมพันธ์รัฐบาล หาใช่การประชาสัมพันธ์ของรัฐ ตามแนวคิดในเชิงอุดมคติไม่
           
และเป็นประวัติศาสตร์ที่ต่อเนื่องยาวนาน มาตั้งแต่ครั้งยังเป็นกรมโฆษณาการ ต่อมาเป็นกรมกร๊วก จากภาพการบิดเบือนข้อมูลข่าวสาร ในช่วงเหตุการณ์เดือนตุลาคม 2519 จนกระทั่งถึงเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 เหตุการณ์ที่เป็นตัวจุดระเบิดแนวคิด คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรของรัฐ
           
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด มีบทบาทโดดเด่นอย่างยิ่งหลังการรัฐประหารทั้งสองครั้งล่าสุด รวมทั้งในห้วงระยะเวลาที่รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ต้องเผชิญหน้ากับกองทัพคนเสื้อแดง
           
หลังการรัฐประหาร 19 กันยายน  2549 พล.ต.สรรเสริญ ขณะนั้น คือ พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รับตำแหน่งเป็นโฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ในปี 2551 เป็นโฆษกกองทัพบก และเป็นโฆษกศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) โฆษกศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศอฉ.) ในการชุมนุมของกลุ่ม นปช. พ.ศ. 2553 
           
ชัดเจนว่า พล.ต.สรรเสริญ ยืนอยู่ฝั่งตรงข้ามกับฝ่ายใด
           
คมวาทะของเขาจึงประชด ประเทียด เสียดสี และลดทอนความน่าเชื่อถือของฝ่ายนั้นอยู่ตลอดเวลา
           
แม้จะมีความพยายามปล่อยข่าวสร้างความสับสนในทำนอง นโยบายของรัฐบาลไม่ต่างจากนโยบายประชานิยมในอดีต รัฐบาลก็ไม่หวั่นไหว เพราะรัฐบาลมีนโยบายชัดเจนคือ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน ไม่ต้องการทำประชานิยมเพื่อคะแนนเสียง”   
           
พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รักษาราชการอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ ที่เป็นทหารคนแรกในรอบหลายสิบปีของกรมนี้
           
หน่วยงานสื่อของรัฐ ที่จากนี้จะคุมอำนาจการสื่อสารในภาครัฐอย่างเบ็ดเสร็จ

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1098 วันที่  30 กันยายน - 6 ตุลาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์