
“เราไม่มีทางหนีจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
มันคือเรื่องจริงและส่งผลกระทบทุกที่
เราไม่มีทางย้อนกลับไปแก้ไขอดีตที่เราไม่ได้ทำอะไร แต่สิ่งที่เราทำได้ คือความพยายามอย่างจริงจังตั้งแต่วันนี้และทุกวัน
เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมของเราและสุขภาพของ...ชาวแคนาดาทุกคน”
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ ความฝันพลันสลาย อ้าว นี่ไม่ใช่คำพูดของท่านผู้นำเราหรอกหรือ
เปล่า นี่คือคำแถลงการณ์ของนายจัสตินทรูโด นายกรัฐมนตรีประเทศแคนาดา ที่แถลงต่อสภาผู้แทนราษฎรเมื่อเร็ว
ๆ นี้ว่า แคนาดาจะเริ่มเก็บภาษีคาร์บอนในปี พ.ศ. 2561 เพื่อบรรลุเป้าหมายตามข้อตกลงปารีส
โดยแต่ละพื้นที่จะมี 2 ทางเลือก คือ
ใช้การจัดเก็บภาษีการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ทางตรง คิดราคา 10 ดอลลาร์แคนาดา ต่อตันคาร์บอน หรือจะเลือกใช้ระบบ cap-and-trade ซึ่งมี 2 องค์ประกอบ คือ การจำกัด (cap) หมายถึง การกำหนดเพดานการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนออกไซด์
เพื่อสนับสนุนให้ธุรกิจค้นหานวัตกรรม
หรือเทคโนโลยีเพื่อลดการปลดปล่อยแก๊สเรือนกระจก ส่วนการซื้อขาย (trade) หมายถึง ระบบซื้อขายคาร์บอนออฟเซ็ตสำหรับธุรกิจที่มีข้อจำกัดในการลดการปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์
โดยให้ธุรกิจเหล่านั้นนำรายได้ไปซื้อคาร์บอนเครดิตจากธุรกิจอื่นที่ไม่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์
ทั้งนี้
หากพื้นที่ใดไม่สามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้
รัฐบาลกลางจะเป็นผู้ดำเนินการเก็บภาษีคาร์บอน โดยเริ่มที่ 10 ดอลลาร์แคนาดา ต่อตัน โดยจะเพิ่มปีละ 10 ดอลลาร์แคนาดาทุกปีจนถึง
50 ดอลลาร์แคนาดาในปี พ.ศ. 2565
นายกรัฐมนตรีแคนาดาเป็นคนหนุ่มไฟแรงมีแนวคิดทันสมัย
เช่นเดียวกับทีมของเขาที่มาจากหลากหลายสาขาอาชีพ เขามองว่า
การใช้กลไกตลาดเพื่อจัดการปัญหาคาร์บอนไดออกไซด์จะทำให้แคนาดามีข้อได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจที่สะอาดขึ้น
และบังคับให้ธุรกิจพัฒนานวัตกรรมเพื่อลดการปลดปล่อยแก๊สคาร์บอน
แอบอิจฉาชาวแคนาดาที่มีผู้นำเท่และมีสไตล์
อุ๊บส์ ไม่ใช่ ผู้นำหัวก้าวหน้า กล้าคิดกล้าทำ คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมเป็นสำคัญ
ขณะที่ประเทศไทยยังมะงุมมะงาหราควานหาต้นตอสารพิษที่ถูกลักลอบปล่อยลงแม่น้ำแม่กลองจนปลากระเบนราหูน้ำจืด
สัตว์ใกล้สูญพันธุ์ของโลกและของไทย ตายไปร่วมครึ่งร้อย
สัตว์น้ำที่ดอนหอยหลอดก็มีปัญหา ดูท่าว่าจะเป็นความสูญเสียทรัพยากรสัตว์น้ำที่ไม่จบลงง่าย
ๆ
เมืองลำปางเราหลังจากขายความเนิบช้า หรือ Slow
Life จนยอดนักท่องเที่ยวพุ่งกระฉูดแล้ว
ก็น่าสนใจหากจะลองชูจุดเด่นความเป็นเมือง Low Carbon ดูบ้าง ก่อนอื่นคงต้องจัดการปัญหาหมอกควันและฝุ่นละอองในอากาศอย่างเด็ดขาดให้ได้แล้วหันมาให้ความสำคัญกับพาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างรถม้า
รถจักรยาน และรถสามล้อถีบล่าสุดยังมีรถรางของชุมชนท่ามะโอ ถึงจะไม่ใช่รถรางแท้ ๆ ที่ใช้ไฟฟ้า
เป็นรถชมเมืองที่วิ่งโดยไม่ใช้ราง แต่ด้วยล้อ ก็โอเคล่ะว่า สามารถบรรทุกคนได้ครั้งละมาก
ๆ พาไปเที่ยวยังจุดต่าง ๆ โดยไม่ต้องใช้รถยนต์ส่วนตัว ช่วยลดคาร์บอนได้เหมือนกัน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1100 วันที่ 14 - 20 ตุลาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น