
ตามที่รัฐบาลภายใต้การนำของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประกาศเดินหน้า นโยบายและยุทธศาสตร์ “ประชารัฐ” คือ การรวมเอาพลังทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคธุรกิจ หรือภาครัฐ เพื่อเสริมสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนทุกคน เนื่องจากการแก้ปัญหา การปฏิรูป และการพัฒนาประเทศในทุกๆ ด้าน ภายใต้โครงการสานพลังประชารัฐ เพื่อขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากเป้าหมายการสร้างรายได้ให้ชุมชน ประชาชนมีความสุข และเพื่อประชาชนที่ยังขาดโอกาสได้รับการช่วยเหลือด้านองค์ความรู้ สนับสนุนด้านการค้าเพื่อความสุขที่ยั่งยืนและมั่นคง เน้นการสร้างรายได้ให้ชุมชนผ่าน 3 กลุ่มงาน ได้แก่ เกษตร แปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชน เน้น 5 กระบวนการจัดการที่ให้ความสำคัญตลอด Value chain ตั้งแต่ ต้นทาง กลางทาง จนถึงปลายทาง ซึ่งส่วนที่สำคัญคือการลงมือปฏิบัติในพื้นที่ ที่ใช้โครงสร้าง วิสาหกิจเพื่อสังคม จัดตั้ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคี (ประเทศไทย) จำกัด ในทุกจังหวัด 76 จังหวัด โดยก่อนหน้านี้ มีการเปิดบริษัท ประชารัฐรักสามัคคี จำกัด ในจังหวัดภูเก็ต เพชรบุรี อุดรธานี เชียงใหม่ และจังหวัดบุรีรัมย์ 5 จังหวัดนำร่องเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ในส่วนของจังหวัดลำปาง นาย อภิวัฒน์ธีระวาสน์
พัฒนาการจังหวัดลำปางเผยว่า ตามที่ สำนักงานพัฒนาชุมชนจังหวัดลำปาง
ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานประสานงานโครงการสานพลังประชารัฐในส่วนของงาน จัดตั้ง
บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดลำปางซึ่งขณะนี้ อยู่ในระยะดำเนินงานขั้นที่ 4 ตามแผนดำเนินการ 4 ระยะคือ ในระยะที่ 1
กำหนดให้จัดตั้ง(จังหวัดนำร่อง)แล้วเสร็จภายในเดือนเมษายนนี้ ส่วนระยะที่ 2
ดำเนินการ 6 จังหวัด ระยะที่ 3 ดำเนินการ 7 จังหวัด
โดยกำหนดการดำเนินการไว้เดือนมิถุนายนและเดือนกันยายน 2559 ตามลำดับ
และการดำเนินการระยะที่ 4 คือจังหวัดข้างเคียงในกลุ่มจังหวัดนั้น ๆ ซึ่งจะครบ 76
จังหวัด ภายในเดือนธันวาคม 2559
โดยในส่วนของจังหวัดลำปางได้
หารือร่วมกันหลายฝ่าย เพื่อการจัดตั้ง บริษัท ประชารัฐรักสามัคคีจังหวัดลำปาง
มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดขณะนี้ มีหน่วยงานที่จะเข้าร่วมเป็นบอร์ดบริหาร 7
หน่วยงานคือ หอการค้าจังวัดลำปาง สภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำปางสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
เครือข่ายกองทุนหมู่บ้าน เครือข่ายผู้ประกอบการโอทอป และ SMEs
รวมถึงหน่วยงานภาคประชาสังคมคือ สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน(พอช.)
ทั้งนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดและพัฒนาการจังหวัด
จะเข้าร่วมประชุมรับทราบนโยบายแนวทางปฏิบัติจากรัฐบาลในวันที่ 29 ต.ค. นี้ ประชุมจัดตั้งบอร์ดบริหารอย่างเป็นทางการครั้งแรกในวันที่
3 พ.ย. 2559 จากนั้นจะมีการประชุมผู้ถือหุ้น
ในวันที่19 พ.ย. 2559 ต่อไป
"ในเบื้องต้นมีการหารือร่วมกันหลายฝ่ายในการจัดตั้งบริษัทประชารัฐ
ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจและมีธงเดียวกัน
คือเป้าหมายของการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 3 ประการคือเกษตร แปรรูป และท่องเที่ยวโดยชุมชน ซึ่งลำปางมีภาคเอกชนที่มีความเชี่ยวชาญด้านธุรกิจ-เศรษฐกิจเป็นหลักในการนำพาบริษัทฯไปสู่เป้าหมาย
ส่วนการรวบรวมหุ้น นั้นลำปางจะรวมทั้งหมด จำนวน 4,000 หุ้น (หุ้นละ1,000 บาท)
เพื่อเป็นทุนจัดตั้งบริษัท 4 ล้านบาท ขณะนี้มี หุ้นจากบริษัท บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ
จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,000 หุ้น ธนาคารกรุงเทพฯ 39 หุ้น ส่วนที่เหลือหน่วยงานต่างๆช่วยกันระดมรวมรวมมา
ซึ่งการถือหุ้นบริษัทประชารัฐฯลำปาง หากมีกำไรจะไม่มีการปันผล แต่จะนำไปขยายผล
ดังนั้นการระดมหุ้นจึงต้องทำความเข้าใจกับผู้ถือหุ้นให้เข้าใจ
จึงใช้แนวทางการอธิบายในทางเดียวกันว่าเป็นหุ้นบุญ
ซึ่งหมายถึงหุ้นที่จะไม่มีผลตอบแทนอย่างไรก็ตาม
ต้องรอรายละเอียดในทางปฏิบัติในวันที่ 29 ต.ค.นี้"พัฒนาการจังหวัดลำปางกล่าว
นายเสน่ห์ วิชัยวงษ์ รองเลขาธิการ
สภาเกษตรกรแห่งชาติให้ความเห็นกับ‘ลานนาโพสต์’ เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า
นโยบายการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งถือว่าการเกษตร
เป็นเป้าหมายแรกที่ต้องได้รับการช่วยเหลือและพัฒนา จัดตั้งบริษัทประชารัฐ จะเป็นประโยชน์กับภาคเกษตรอย่างมาก หากจัดตั้งบริษัทประชารัฐจะเป็นตัวกลางด้านการตลาด นำพาผลผลิตทางการเกษตร
ผลิตภัณฑ์แปรรูปของกลุ่มเกษตรกรรายเล็กๆ ไปสู่ตลาดที่แท้จริงในเชิงพาณิชย์
ซึ่งแต่ละจังหวัดอาจจะมีแนวทางดำเนินการไม่เหมือนกัน
แต่ต้องมีเป้าหมายเดียวกันในระดับประเทศ เช่น ที่เชียงใหม่ บริษัทประชารัฐ
เข้ามาเป็นตัวกลางในการซื้อขายลำไย
แก้ปัญหาให้กับเกษตรกรรายย่อยที่ประสบปัญหาด้านการตลาด ดังนั้นบอร์ดบริหารก็จะมีบทบาทกำหนดทิศทางเชิงธุรกิจที่ตอบโจทย์ของการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มากที่สุด
"ผมเชื่อว่าในภาคเกษตรเองก็คาดหวังกับบริษัทฯนี้
หากเชื่อมโยงกันได้ในจังหวะที่เหมาะสม เกษตรกร และชุมชน ที่ยังขาดศักยภาพก็ไม่จำเป็นต้องทำเองทุกขั้นตอน
เพียงแต่รักษาคุณภาพผลผลิตให้ได้มาตรฐาน
แล้วฝากเรื่องการตลาดให้บริษัทประชารัฐช่วยรับช่วงต่อ เมื่อมีผลกำไรก็เอากลับมาปันผลให้กับผู้ผลิตได้มากขึ้น
เท่ากับภาคเกษตรและชุมชนจะมีผลกำไรมากกว่าการขายตามมีตามเกิด อันนี้ถึงจะเรียกว่าตอบโจทย์นโยบายประชารัฐ"
รองเลขาธิการ สภาเกษตรกรแห่งชาติกล่าว
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1102 วันที่ 28 ตุลาคม - 3 พฤศจิกายน 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น