วันอาทิตย์ที่ 6 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

รักป่า รักน้ำ รักในหลวง

จำนวนผู้เข้าชม good hits

นับว่าเป็นบุญของคนลำปางนับจากรุ่นพ่อ รุ่นแม่ของเราโดยแท้ ที่มีโอกาสได้ใกล้ชิดเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่ได้เสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดลำปาง ด้วยพระราชภารกิจต่างๆ ถึง 21 ครั้ง มากกว่าหลายๆจังหวัดที่พระองค์เคยเสด็จไป
           
จังหวัดในภาคเหนือ เช่น จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน อาจจะคุ้นชินกับพระบรมฉายาลักษณ์ของพระองค์ในชุดสูทสีเทา ที่พระศอคล้องไว้ด้วยกล้อง และมีแผนที่อยู่ในพระหัตถ์  พระราชทานแนวพระราชดำริในการแก้ปัญหาตางๆ โดยเฉพาะป่า น้ำ และการชลประทาน  ที่ลำปางพระบรมฉายาลักษณ์เช่นนั้น ก็ปรากฏไม่แตกต่างไปจากจังหวัดใหญ่ๆ ที่กล่าวถึง
           
ด้วยทรงพระตระหนักว่า การบริหารจัดการน้ำ ทั้งในรูปเขื่อน เหมืองฝาย อ่างเก็บน้ำ จะช่วยให้ราษฏรของพระองค์ มีน้ำใช้ในยามแล้ง   และยามน้ำหลากเขื่อนก็สามารถกักเก็บน้ำไว้ได้  นอกจากนั้นการปลูกป่า ด้วยกล้าไม้พันธุ์ดีก็ช่วยทดแทนป่าไม้ที่สูญเสียไปด้วย  
           
นอกจากทรงพระปรีชาญาณในหลายๆเรื่องแล้ว  ภาพในใจของพสกนิกรชาวไทยที่มีต่อพระองค์ ก็คือภาพในหลวงทรงงานในพื้นที่เขื่อน ฝาย อ่างเก็บน้ำ พระหัตถ์กางแผนที่ออก พระพักตร์เคร่งเครียด พระราชทานพระราชดำริ ให้กับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องที่ตามเสด็จ
           
เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2519 ทรงขับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินทรเทพรัตนสุดาฯ จากพระตำหนักภูพิงค์ราชนิเวศน์  ไปยังสวนป่าแม่ทรายคำ
           
ณ สถานที่แห่งนี้ ทรงมีพระราชดำรัสในเรื่องป่า และน้ำ ความว่า
           
“การปลูกป่าใหม่นั้น น่าจะพิจารณาปลูกต้นไม้ชนิดโตเร็วหลายชนิดคละกัน ให้สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายทาง ทั้งนี้ราษฏรจะได้หาประโยชน์จากป่าที่ปลูกทดแทน โดยไม่ต้องบุกรุกเข้าไปตัดฟันไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจในป่าสงวนอีกต่อไป นอกจากนั้นควรสำรวจตลอดแนวลำน้ำในเขตสวนป่า และปลูกพืชชนิดใบหนาเป็นพุ่มปกคลุมบริเวณต้นน้ำ เพื่อรักษาต้นน้ำ ตลอดจนการสร้างฝายปิดกั้นน้ำ เพื่อส่งน้ำทั่วบริเวณเพาะปลูก ซึ่งอาจทำเหมืองซอย หรือวางท่อส่งน้ำความลาดชันของภูมิประเทศ โดยสร้างบ่อพักน้ำเป็นช่วงๆเพื่อให้จ่ายน้ำได้ทุกจุด”
           
ด้วยพระราชดำรัสนั้น ในกาลต่อมา ได้นำมาสู่การปรับปรุงเหมืองฝาย 3 สายในลำน้ำแม่มอน ได้แก่ฝายแม่เลียบซ้าย ฝายแม่เลียบขวา และฝายแม่มอนเดิม
           
จนกระทั่งวันที่ 8 มกราคม 2522 ได้เสด็จพระราชดำเนินไปทอดพระเนตรโครงการชลประทาน ฝายทดน้ำแม่มอนในโครงการพระราชดำริ ที่อำเภอแจ้ห่ม ทรงพอพระราชหฤทัย ที่ได้ช่วยเหลือขจัดความเดือดร้อนของราษฏร จากนั้นได้เสด็จพระราชดำเนินอ่างเก็บน้ำห้วยหลวง ตำบลทุ่งฝาย อำเภอเมือง จังหวัดลำปาง เพื่อทอดพระเนตรอ่างเก็บน้ำในสวนป่าแม่ทรายคำ ซึ่งองค์การอุตสาหกรรมป่าไม้จัดสร้างขึ้นสนองพระราชดำริ
           
จึงนับว่า คนลำปางได้รับพระมหากรุณาธิคุณ ในงานด้านชลประทานไม่น้อยไปกว่าจังหวัดอื่นๆ
           
ซึ่งพระมหากรุณาธิคุณเช่นนี้ ได้สะท้อนถึงพระอัจฉริยภาพของพระองค์ในด้านการชลประทาน ตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์
           
มีเรื่องเล่าว่า พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช  เมื่อครั้งดำรงพระยศเป็นพระราชอนุชานั้น ทรงมีความสนพระทัยการกั้นน้ำสร้างเขื่อน ตั้งแต่เมื่อครั้งประทับอยู่ที่โรงเรียนเลอ ฟัวเย่ในปี 2477 ขณะทรงมีพระชันษาเพียง 7 ปี
           
“ได้ทรงสังเกตและจำวิธีที่เขาใช้ในการนำน้ำมาใส่ในอ่างให้เด็กเล่น เขาไปเอาน้ำมาจากลำธารที่ไหลใกล้ๆ ทำทางตื้นๆ ให้น้ำไหลลงมาได้ เอาดินเหนียวใส่ลงไปในทางและเอาขวดไปถูให้เรียบ”
           
(หนังสือเจ้านายเล็กๆ-ยุวกษัตริย์)
           
ด้วยประสบการณ์เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์เกี่ยวกับน้ำและเขื่อนที่ส่งผลในเวลาต่อมา พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สร้าง “ประโยชน์สุขแก่มหาชนชาวสยาม” ในด้านการชลประทานอย่างมากมายเหลือคณานับ
(สกุลไทย ฉบับครอบรอบปีที่ 62 ฉบับที่ 3237)
           
ในฐานะพสกนิกร คนลำปางจากรุ่นสู่รุ่น คงได้ซึมซับทุกก้าวพระบาท ที่ยังความจำเริญผาสุกมาสู่แผ่นดินนี้  และสนองพระราชปณิธานที่จะทำความดีเพื่อพ่อหลวงต่อไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1103 วันที่  4 - 10 พฤศจิกายน 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์