วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เปิดถนนใหม่แฟชั่นเด็ก แบรนด์ญี่ปุ่นฮอต

จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris

สายของวันกลางสัปดาห์ บนถนนทิพย์ช้างรถราดูเบาบาง ห้องแถวคูหาเดียวริมถนนจัดวางเสื้อผ้าเด็กสีสันสดใสรับฤดูหนาว คนที่ไม่สังเกตอาจผ่านเลยไป หรือบางทีอาจไม่รู้ถึงการมีอยู่ของร้านเล็กๆ แห่งนี้ด้วยซ้ำ แต่สำหรับลูกค้าประจำแล้ว ไม่แวะคงไม่ได้
           
หลังส่งลูกทั้งสองไปโรงเรียนเรียบร้อย จิราวรรณ รอดประดิษฐ์ วัย 39 ปี จะขลุกอยู่ที่ร้านขายเสื้อผ้าเด็กมือสองของเธอตั้งแต่เช้าจดเย็น ลูกค้ามากหน้าหลายตาแวะเวียนเข้ามาเรื่อยๆ :ซึ่ง น้อยคนนักที่จะกลับไปมือเปล่า อย่างน้อยต้องได้เสื้อผ้าไปฝากลูกหลานสักตัวสองตัว ด้วยความที่ตั้งราคาไว้ไม่สูง แล้วถ้าลองได้จับดูเนื้อผ้าจากประเทศญี่ปุ่นแล้วล่ะก็ จะรู้เลยว่ามันช่างนุ่มนิ่มน่าสบาย แตกต่างจากเสื้อผ้าตามตลาดนัดจริง ๆ

10 ปีก่อนหน้านี้ จิราวรรณก็เหมือนคุณแม่สมัยใหม่ที่ชอบแต่งตัวให้ลูกสาวตัวเล็กๆ แต่ด้วยรสนิยมที่ไม่เหมือนใคร เธอจึงไม่ชอบเสื้อผ้าตามท้องตลาด ตามห้างก็แพงลิบลับ แถมยังอิงกับกระแสแฟชั่นวูบวาบ จิราวรรณจึงหาข้อมูลในอินเตอร์เน็ต และพบว่าตนเองถูกใจสไตล์การแต่งตัวของเด็กญี่ปุ่น โดยเฉพาะแบรนด์ยูนิโคล่ ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีช็อปในประเทศไทย หลังท่องไปในโลกกว้างทางอินเตอร์เน็ตก็ทำให้รู้ข้อมูลอีกอย่างหนึ่งว่า ประเทศญี่ปุ่นมีธุรกิจรับซื้อเสื้อผ้ามือสองถึงบ้าน แล้วนำมาขายหน้าร้าน ผ่านไประยะหนึ่งเมื่อตกรุ่น ทางบริษัทก็จะโละเสื้อผ้าเหล่านั้น โดยนำมาอัดก้อน หรือที่เรียกว่า กิฟต์ ก้อนละ 100 กิโลกรัม ส่งออกไปขายยังต่างประเทศ ซึ่งก็จะมีดีลเลอร์จากเมืองไทยนำเข้ามาทางเรือ จากประเทศญี่ปุ่นใช้เวลาเดินเรือ 15 วัน หรืออาจถึง 30 วัน สินค้ามาขึ้นที่ท่าเรือคลองเตย กรุงเทพฯ จากนั้นดีลเลอร์ก็จะนำสินค้าออกจากตู้คอนเทนเนอร์ เพื่อกระจายให้คู่ค้าที่มีอยู่ทั่วประเทศไทย และแน่นอน รวมถึงจิราวรรณด้วย
 
“ตอนแรกตัดสินใจสั่งก็เพราะอยากลอง อยากรู้ว่ามันเป็นอย่างไร ราคาเมื่อสิบปีก่อนกิฟต์ละ 8,000 บาท เราคิดแค่ว่า ก็ยังดีกว่าไปญี่ปุ่นละน่า ซึ่งดีลเลอร์จากเมืองไทยที่เขาติดต่อกับบริษัทเสื้อผ้ามือสองของญี่ปุ่นโดยตรง เขาจะมีตารางให้เราดู อย่างของเด็กก็จะมีผ้าฤดูร้อน ผ้าฤดูหนาว จะเอาผ้าหนา หรือผ้าบาง เราเลือกได้แค่นี้ ส่วนไซส์มีแบบเดียว คือ ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 13 ปี”

สรุปว่า ครั้งนั้นจิราวรรณ ซึ่งย้ายไปอยู่กำแพงเพชรหลังเรียนจบมหาวิทยาลัย ก็ได้กิฟต์ที่ถูกใจส่งมาจากกรุงเทพฯ เสื้อผ้าเด็กมือสองมีมากมายละลานตา สวยๆ ทั้งนั้น เธอเลือกตัวที่เหมาะกับลูกสาววัย 1 ขวบ เอ...จะเอาอย่างไรกับที่เหลือดีล่ะ ว่าแล้วก็ตัดสินใจขนไปขายตลาดนัดแถวบ้าน

“สมัยก่อนเสื้อผ้าแนวญี่ปุ่นแบบนี้ยังไม่แพร่หลายค่ะ ก่อนขายเราจะเอาไปซักรีดก่อน พอขึ้นไม้แขวนยิ่งดูสวย ขายตัวละ 20-50 บาท ปรากฏว่าวันนั้นหอบเงิน 5,000 บาทกลับบ้าน” จิราวรรณเล่าพลางหัวเราะ “คือกะว่าวันนั้นถ้าได้เงิน 400-500 บาท เราคงไม่ทำต่อ” เหตุการณ์วันนั้นทำให้หัวใจของจิราวรรณพองโต หันมาเริ่มคิดจริงจังกับธุรกิจขายเสื้อผ้าเด็กมือสองจากญี่ปุ่น ค่าที่มันสามารถทำเงินได้เป็นกอบเป็นกำเกินคาดหมาย

5 ปีถัดมา หลังธุรกิจเสื้อผ้าเด็กมือสองของญี่ปุ่นเริ่มเติบโต ทั้งในญี่ปุ่นเองและในไทย ผู้ประกอบการบางรายก็เริ่มไม่ซื่อตรง จิราวรรณพบว่า หลังๆ มาเปิดผ้าดูกลับเสียไปกว่าครึ่ง หลายอย่างเริ่มไม่เป็นดังใจเหมือนเมื่อก่อน เธอจึงขับรถไปตลาดโรงเกลือ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว เพื่อไปเลือกเสื้อผ้ามาขายด้วยตัวเอง ที่นั่นแม่ค้ามีสิทธิ์เลือกตามใจโดยไม่ต้องซื้อยกกิฟต์

แต่แล้วเธอก็ต้องย้ายกลับมาอยู่ลำปาง จึงต้องเลิกไปตลาดโรงเกลือ เพราะอยู่ไกลกว่า ต้องเสียทั้งเวลาและค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น ไม่คุ้มเหมือนตอนอยู่กำแพงเพชร เธอจึงต้องหันไปหาดีลเลอร์เหมือนเดิม แต่เปลี่ยนเจ้าใหม่

“ตอนแรกๆ เล่นผ้าเกาหลีกับจีน แล้วพบว่ามันไม่มีคุณภาพ เอาไปซักก็ยืดย้วย ทุกวันนี้จึงสั่งเฉพาะผ้าของญี่ปุ่น จะมีอเมริกาบ้าง แต่ก็ไม่มาก” จิราวรรณแจงต่อถึงสไตล์ของเสื้อผ้าระหว่างอเมริกากับญี่ปุ่น “อเมริกานี่เขาจะอัดก้อนแค่ 45 กิโลกรัม ไม่ถึง 100 กิโลกรัมเหมือนญี่ปุ่น  เสื้อผ้าเขาดูเป็นสาวและตัวใหญ่ เพราะไซส์ฝรั่ง ที่ได้มาส่วนใหญ่เป็นเดรส เนื้อหนา ซึ่งไม่เหมาะกับอากาศบ้านเรา ส่วนญี่ปุ่นไม่ค่อยมีเดรส เป็นสไตล์มิกซ์แอนด์แม็ตช์ โทนสีเรียบๆ ผ้าเนื้อบาง ใส่สบาย แล้วอีกอย่างเด็กเขากับเด็กเราไซส์ใกล้เคียงกัน”

ทุกวันนี้ในแต่ละเดือน จิราวรรณจะสั่งเสื้อผ้าราว 4 กิฟต์ เมื่อได้ผ้ามาก็จะนำมาที่ร้านเพื่อ “เปิดผ้า” หรือก็คือรื้อออกมาเพื่อแยกประเภท ขั้นตอนนี้แหละที่ต้องลุ้นกันใจหายใจคว่ำว่าผ้าที่เปิดมานั้น จะดีหรือไม่ดี

“ทำธุรกิจมานานก็จริงค่ะ แต่พอถึงเวลาเปิดผ้าทีไรก็ยังลุ้นระทึกทุกที” สาวเจ้าของร้านพูดพลางยิ้ม “กลุ่มเพื่อนที่ขายเสื้อผ้ามือสองด้วยกัน จะแซวกันว่า วันนี้จะเปิดผ้าอ่ะ ไปทำบุญหรือยัง”

ดูเหมือนว่า ธุรกิจเสื้อผ้าเด็กมือสองจากญี่ปุ่นจะต้องอาศัยโชคมากทีเดียว “แน่นอนค่ะ เพราะเราไม่มีทางรู้เลยว่า แต่ละล็อตที่เราสั่งของไปนั้น เปิดผ้ามาเราจะได้อะไรบ้าง จะดีหรือไม่ดี บางคนล็อตแรกดีมาก เพอร์เฟ็กต์ พอล็อตต่อไปผ้ามีตำหนิหมด ขายแทบไม่ได้” สำหรับจิราวรรณ เธอเผชิญมาหมดแล้วทุกรูปแบบ “มีทั้งของดี ของเสียอยู่ใน 1 กิฟต์ แต่ที่ร้านจะย้ำกับดีลเลอร์เลยว่า ขอผ้าเกรด A ซึ่งดีที่สุด ขนาดย้ำไว้อย่างนี้ก็ยังพลาดบ่อย ๆ ต้องทำใจค่ะ”

ธุรกิจประเภทนี้ไม่สามารถทวงถามความรับผิดชอบจากใครได้ ดีลเลอร์ทำหน้าที่แค่กระจายสินค้า เขาไม่รู้หรอกว่า สินค้าในตู้คอนเทนเนอร์นั้นมีรายละเอียดอย่างไร ได้แต่ฝากความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับบริษัทต้นทางที่ญี่ปุ่น แม่ค้าปลายทางอย่างจิราวรรณต่างหากที่ต้องแบกรับความเสี่ยงไว้เต็ม ๆ

ใน 1 กิฟต์ จะมีผ้าอยู่ 3 เกรด ได้แก่ หัว เกรดนี้เป็นแบรนด์ล้วน ๆ น้ำสอง คือ สภาพพอดูได้ แต่ไม่มีแบรนด์ และน้ำสาม คือ มีตำหนิ แม่ค้าต้องนำมาขายเลหลัง 10-20 บาทเท่านั้น

“ผ้าไม่ได้ดีทุกตัวหรอกค่ะ 500 ตัว ดีสัก 300 ตัว แล้วอีก 200 ตัวที่เหลือล่ะ เราต้องคำนวณราคาขายให้ดี เพื่อนำมาถัวเฉลี่ยกัน บางทีจับผ้าแล้วรู้เลยว่า โดนหลอกแล้ว นี่ไม่ใช่ผ้าญี่ปุ่นนะ หรือบางบริษัทจะมีการแกะเอาไปขายก่อน จากนั้นก็มั่วๆเอาผ้าที่อื่นมาปนๆ กันแล้วอัดก้อนเอาไปขายใหม่ ลองคิดดูว่า กว่าจะครบ 100 กิโลกรัม หรือ 1 กิฟต์ ก็คงมีบ้างแหละที่แอบจับโน่นนิดนี่หน่อยใส่ๆมาให้มันครบ 100 กิโลกรัม สำหรับเรา อะไรก็ได้ แต่ขออย่าเป็นชุดหมี” จิราวรรณหัวเราะอย่างอารมณ์ดี “ชุดหมีคือหายนะสำหรับแม่ค้าเสื้อผ้าเด็กมือสอง เพราะมันจะขายไม่ออก แต่จนแล้วจนรอดมันต้องมีทุกกิฟต์ บางกิฟต์เจอไป 200 ตัว โอย...จะขายใครละนี่”

4 ปีแล้วสำหรับธุรกิจเล็กๆ ของจิราวรรณหลังย้ายกลับมาอยู่ลำปาง ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา เธอต้องเผชิญคำถามที่เราเองก็อยากได้คำตอบเช่นกันว่า เสื้อผ้ามือสองจะสะอาดเหรอ จะมีเชื้อโรคไหม

“บริษัทที่ญี่ปุ่นเขามีใบรับรองให้เราเลยค่ะว่า ผ้าของเขาผ่านการฆ่าเชื้อและทำความสะอาดมาแล้วก่อนอัดก้อน อย่างไรก็ตาม หลังจากเราเปิดผ้าและแยกประเภท เราก็ยังนำไปซัก ตาก และรีดอีกครั้งก่อนถึงมือลูกค้า แต่ก็ยังมีลูกค้ากลุ่มหนึ่งที่พอรู้ข่าวว่าวันไหนผ้าจะเข้า เขาจะมารอก่อนเลย เพื่อจะได้เลือกผ้าก่อนใคร”

ลูกค้าของจิราวรรณบางคนยังเข้าใจว่า เสื้อผ้าเหล่านี้เป็นของลูกๆ เธอ และคิดว่าเธอไม่เห็นจะต้องลงทุนอะไรเลย จึงต่อราคาแหลก บางกลุ่มก็เป็นคนมีฐานะและรู้จักแบรนด์ ซึ่งก็จะเลือกผ้าเกรดหัวไปก่อน อย่างไรก็ตาม ด้วยราคาที่เป็นมิตร คือราวๆ 20-150 บาท เสื้อผ้าจึงมาเร็วไปเร็ว แต่ก็มีบางตัวที่ไม่ยอมไปไหน สุดท้ายจิราวรรณจะรวบรวมเสื้อผ้าเหล่านี้ฝากเพื่อนที่ทำงานอยู่อำเภอพบพระ จังหวัดตาก ให้นำไปบริจาคเด็กๆ

สำหรับจิราวรรณ เธอยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมของชาวญี่ปุ่นผ่านเสื้อผ้า อย่างบางกิฟต์จะมีชุดจิมเปอิที่เด็กชายชาวญี่ปุ่นนิยมใส่กัน มีกางเกงปิดพุงที่รูปลักษณ์ไม่คุ้นตา เสื้อเรืองแสงตอนกลางคืน เสื้อ 2 แขน แขนสั้นกับแขนยาวในตัวเดียวกัน

สำหรับเรา เราเชื่อในหลัก 3 R ว่าจะช่วยบรรเทาเบาบางปัญหาโลกร้อนได้ Reduce-ลดการใช้ทรัพยากรที่ไม่จำเป็นลง Reuse-ใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด และ Recycle-การนำกลับมาใช้ใหม่ ธุรกิจเสื้อผ้ามือสองเองก็มีส่วน ค่าที่มันนำเสนอวิธีการใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่าที่สุด ผ่านกระบวนการสุดมันที่ต้องอาศัยใจรักและประสบการณ์เท่านั้น จึงจะรับมือได้
                                                                                               
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1108 วันที่  9 - 15  ธันวาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์