วันศุกร์ที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2559

สิ้นบรรหาร ปิดตำนาน “บ้านเมือง”

จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris

นห้วงระยะเวลาที่นายบรรหาร ศิลปอาชา วางมือจากหนังสือพิมพ์บ้านเมือง และไม่ได้มอบหมายให้ทายาทคนใดดูแลกิจการต่อ จนถึงวันสิ้นบรรหาร เรียกว่าห่างกันพอสมควร จนแทบจะเป็นเหตุเป็นผลได้ว่า เพราะไม่มีบรรหาร จึงไม่มีบ้านเมือง
           
ถึงกระนั้นความเป็นหลงจู๊ ที่เชี่ยวชาญการบริหารธุรกิจ ก็น่าเชื่อว่า ถ้ายังมีบรรหารอยู่ บ้านเมืองอาจไม่ตาย โดยเฉพาะบ้านเมืองยุคบรรหาร ตลาดบ้านเมืองหรือโฆษณาย่อย นับว่าเป็นแหล่งทำเงินที่คล้ายตาน้ำไหลออกมาไม่เหือดแห้ง
           
แต่วันนี้สิ่งที่ต้องยอมรับกันคือ การประกาศปิดตัวเอง และเลิกจ้างพนักงานทั้งหมดของ หนังสือพิมพ์ ที่มีอายุยืนยาวมาถึง 44 ปี ด้านหนึ่งนับเป็นเรื่องปกติทางธุรกิจในยุคอุดมการณ์เหือดหาย ตัวเลขขาดทุนต่อเนื่องย้อนหลัง 5 ปี เป็นเหตุเป็นผลชัดเจนในทางธุรกิจที่จะต้องหยุดเลือดไม่ให้ไหลต่อไปอีก
           
ในกองบรรณาธิการน่าจะรับรู้สัญญาณนี้มาเป็นระยะแล้ว เพียงแต่รอการตัดสินใจของผู้บริหาร  ดังนั้นพวกเขาจึงอาจได้เตรียมตัวเตรียมใจกันมาบ้าง  ถึงกระนั้นการตกงานในภาวะสื่อไร้หนทางออก  หนังสือพิมพ์ นิตยสารทยอยปิดตัว ทีวีดิจิตอล นับถอยหลัง ออนไลน์ยังฟุ้งกระจาย ใช้เป็นหลักทำมาหาเงินไม่ได้ ทางเดียวคือต้องไปทำอาชีพอื่น

หนังสือพิมพ์บ้านเมือง ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ. 2515 โดยมี บริษัท บ้านเมืองการพิมพ์ จำกัด ที่มาจากการรวมตัวกัน ของนักหนังสือพิมพ์ และนักธุรกิจกลุ่มหนึ่ง

บริษัทฯ มีมติให้ วิจารณ์ ภุกพิบูลย์ เป็นผู้อำนวยการหนังสือพิมพ์ และ มานะ แพร่พันธุ์ อดีตบรรณาธิการหนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย ซึ่งเป็นบุตรชายของ "ยาขอบ" (นักประพันธ์เรื่อง ผู้ชนะสิบทิศ) เป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ หนังสือพิมพ์ในยุคแรกนั้น พิมพ์สีขาวดำ ด้วยระบบออฟเซต ฉบับละ 16 หน้า ราคา 1.00 บาท

ก่อนประกาศปิดตัวเอง บ้านเมืองอยู่ภายใต้การบริหารงานของคณะกรรมการ บริษัท นวกิจบ้านเมือง จำกัด จนถึงปัจจุบัน
           
ในความทุกข์ของคนบ้านเมืองยามนี้ ก็ยังพอมีเรื่องน่ายินดี เมื่อกรรมการบริหารสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย กำลังหาหนทางที่จะช่วยเหลือเพื่อนร่วมวิชาชีพ  โดยเฉพาะในห้วงระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมา คนข่าวในสังกัด “บ้านเมือง” หลายคนได้เข้ามามีบทบาททำงานในองค์กรวิชาชีพสื่อ ทั้งสมาคมนักข่าว และสภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ ด้วยความทุ่มเท เสียสละและอดทนเพื่องานของส่วนรวม
           
เลขาธิการสมาคมในยุคคุณประดิษฐ์ เรืองดิษฐ์  จนถึงยุคคุณวันชัย วงศ์มีชัย สมัยแรก ก็คือ คุณชุติมณฑน์  ศรีขำ จากหนังสือพิมพ์บ้านเมือง  ซึ่งนับเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการจัดการ ดูแลเรื่องสวัสดิการของเพื่อนสมาชิก จนถึงวันนี้ก็ยังมีตัวแทนของบ้านเมือง ทำงานให้กับสมาคมในหลายบทบาท
           
การปิดตัวของบ้านเมือง ไม่ใช่เรื่องใหม่ ไม่ใช่เรื่องภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนไป หรือที่วิเคราะห์กันอย่างจริงจังว่า เป็นเพราะคลื่นดิจิตอลถาโถมเข้ามาจนสื่อเก่ากำลังทยอยพังทลาย
           
ทฤษฏีนี้คงอธิบายยาก เพราะทีวีดิจิตอลก็กำลังทยอยตาย ไม่ถึงกลางปีหน้า จะเหลือไม่ถึง 10 ช่อง คือช่องฟรีทีวีเดิมบางช่อง  เวิร์คพอยด์ และช่องทีวีดิจิตอลที่อยู่ในกำมือของทุนใหม่  ซึ่งล้วนแต่มีเครือข่ายธุรกิจกว้างขวางใหญ่โต ทีวีดิจิตอลจะเปลี่ยนช่องทางในการโยกงบโฆษณามหาศาล กลับมาที่ช่องตัวเอง ไทยเบฟ  ปราสาททองโอสถ ดีดลูกคิดแล้ว ได้อมรินทร์ กับช่อง ONE วันมามีแต่ได้กับได้
           
ที่จะตายก็คือช่องที่ต้องพึ่งพาโฆษณามหาศาล เพื่อชดเชยกับเงินที่จ่ายไปเป็นพันล้าน  และใช้เวลาสิ้นเปลืองหมดไปกับการหาที่ทางของตัวเอง ที่ไม่ต้องคุยโตแต่ทำได้จริง และยังหาไม่เจอ
           
ส่วนสื่อดิจิตอลรูปแบบอื่นๆ ก็เป็นเรื่องเอ็นเตอร์เทน  คนละเป้าหมายกับกลุ่มข่าวและสาระ
           
สื่อดิจิตอล กับความตายของหนังสือพิมพ์ เป็นคนละเรื่อง คนละประเด็น คนที่พึ่งพาสื่อดิจิตอล คือคนรุ่นใหม่ทีเกิดมาก็เห็นหน้าจอคอมพิวเตอร์อยู่ตรงหน้า พวกเขาไม่เคยมีประสบการณ์ในการพึ่งพาหนังสือพิมพ์เป็นสื่อกระแสหลักอยู่แล้ว อีกทั้งการเสพสื่อดิจิตอล ก็เป็นเรื่องบันเทิงมากกว่าสาระ
           
คำถามจึงถูกโยนกลับไปที่หนังสือพิมพ์ทั้งหลายว่า เหตุทั้งหมดเกิดจากปัจจัยภายในเป็นด้านหลัก ความฝันที่ไร้ขีดจำกัด ความคาดหวังที่สูงเกินความเป็นจริง เคยทำให้เครือวัฎจักร  ซึ่งเกิดและตายในยุคที่ดิจิตอลยังมาไม่ถึง ล้มครืน
           
ไพศาล ศรีจรัสจรรยา อดีตประธานบริหารกลุ่มสิ่งพิมพ์ เครือวัฎจักร เคยบอกกับผมเมื่อคราวสัมภาษณ์ทำวิทยานิพนธ์ เมื่อราว 20 ปีก่อนว่า เขาตั้งใจจะทำให้กลุ่มสิ่งพิมพ์ในเครือวัฏจักรเป็นหนึ่งในวงการให้ได้
           
แต่ที่สุดวัฏจักรก็กอดคอ คู่แข่งธุรกิจ สื่อธุรกิจ ล้มไปด้วยกัน
           
ข่าวสดหนังสือพิมพ์เก่าแก่ ที่เริ่มต้นด้วยฉบับแทบลอยด์ และสร้างชื่อจากข่าวแชร์แม่ชม้อย ก็ตายแล้วเกิด หลายยุคสมัย ในห้วงระยะเวลาหนึ่งของชีวิตคนข่าว ผมก็เคยเป็นข่าวสด
           
คล้ายน้ำซึมบ่อทราย เราอาจกำลังเห็นผู้คนสิ้นหวังกับทีวีดิจิตอล หลายคนตั้งคำถามกับความเชื่อถือในสื่อออนไลน์  หนังสือพิมพ์ระดับชาติ  สถานีโทรทัศน์ภายใต้รัฐช่องหนึ่ง ก็เคยตก “หลุมดักควาย” จากการเอาข่าวลวงในสื่อออนไลน์ไปใช้โดยไม่ตรวจสอบที่มา
           
หนังสือพิมพ์จะยังไม่ตาย แต่ต้องปรับจากภายใน ให้เป็น “สื่อทางเลือก” ที่สื่ออื่นไม่สามารถทดแทนได้
           
การเสนอข่าวเดียวกัน ภาพเดียวกัน เนื้อหาเดียวกัน ก็คือการแข่งกันตาย
           
หนังสือพิมพ์ตายได้ แต่ความน่าเชื่อถือของหนังสือพิมพ์ไม่มีวันตาย เรื่องยากอยู่ที่ว่าจะฟื้นวิกฤติศรัทธาในสถานการณ์นี้ได้อย่างไร
           
ยังมีหนังสือพิมพ์อีกหลายฉบับทั้งบ้านนอก และเมืองใหญ่ที่ยังอยู่ได้
           
บ้านเมืองล้ม แต่คงไม่ดังเท่าทีวีดิจิตอลอีกบางช่องที่กำลังจะล้มครืนอีกไม่นานนัก

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1108 วันที่  9 - 15  ธันวาคม 2559)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์