
นานปีที่ได้เพียง
ผ่านมาและก็ผ่านไป ด้วยเหตุที่ไม่เคยมีความทรงจำใดๆเกี่ยวกับเมืองลำปาง นอกจากศูนย์อนุรักษ์ช้างไทย
ที่ด่านเกวียน รถม้า เหมืองแม่เมาะ และบ้านคึกฤทธิ์ ปราโมช บนดอยขุนตาล
ที่รู้จักเพียงผิวเผิน เรียกว่าใกล้ชิดที่สุดกับลำปาง
ก็ในคืนวันที่ไปนอนโรงแรมทิพย์ช้าง เพื่อตามล่าสัมภาษณ์วิจิตร สุพินิจ
อดีตผู้ว่าฯแบงก์ชาติคนหนึ่ง
ผ่านมาหลายสิบปี จากไกลมาชิดใกล้
มีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกับเมืองลำปางด้วยภาระหน้าที่การงาน
จนกระทั่งกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ “ลานนาโพสต์” และกลายเป็นเสมือนคนลำปางแอบแฝงคนหนึ่ง
ที่ค่อยๆซึมซับความเป็นลำปาง
ค่อยๆค้นหาจนพบอัญมณีมีค่าที่ถูกซุกซ่อนอยู่ข้างหลังภาพความเป็นเมืองผ่าน
ถึงวันนี้ “ม้าสีหมอก”
ก็ยังอาจรู้จักลำปางไม่มากนัก แต่ก็รู้จักเพียงพอที่จะเล่าเรื่องเมืองลำปางในบางแง่มุมที่คนทั่วไปอาจไม่รู้มาก่อน
เมื่อแรกทักทายลำปางนั้น ถนนคนเดินกาดตองต้า
คล้ายประตูเปิดไปสู่การรับรู้ความเป็นลำปางมากขึ้น โดยเฉพาะความเป็นพม่าในลำปาง
ที่ไม่ได้เป็นพม่าในบรรยากาศแบบมหาชัย หรือแหล่งชุมชนคนทาแป้งทั่วไปในประเทศไทย
แต่เป็นพม่าที่สะท้อนจากรูปแบบสถาปัตยกรรม อาคารต่างๆ
และวัดต่างๆที่สร้างโดยคนพม่า ประดับประดาตกแต่งด้วยศิลปกรรมแบบพม่า
วัดพม่าหลายสิบวัดในลำปาง สร้างอย่างวิจิตรบรรจง ซึงหากเปรียบเทียบกับวัดพม่า
ในประเทศพม่าที่ม้าสีหมอกเคยไปเยือน ต้องยอมรับว่าวัดพม่าในลำปาง
สวยและงดงามกว่าวัดพม่าในพม่าหลายเท่านัก
ที่กาดตองต้า ภาพประทับแรกของพม่า คือ
อาคารหม่องโง่ยซิน เป็นการผสมผสานระหว่างสถาปัตยกรรมแบบจีน
ยุโรป พม่า และล้านนา เกิดเป็นอาคารไม้ผสมปูน ตกแต่งลวดลายด้วยไม้ฉลุลายขนมปังขิง
หลังคาทรงมะนิลาสีขาว ฝ้าเพดานชั้น 2 บุด้วยแผ่นดีบุกดุนลายเหมือนวัดพม่า
ประดับด้วยกระจกสี และซ่อนบันไดลับไว้อย่างแยบยล
ที่พื้นไม้ชั้นล่างยังมีห้องลับ
เปิดปิดด้วยประตูไม้คล้ายหลุมหลบภัย
อาคารหม่องโง่ยซินสร้างโดยหม่องโง่ยซิน คหบดีชาวพม่า ต้นตระกูล “สุวรรณอัตถ์” ที่เข้ามาค้าไม้และลงหลักปักฐานที่เมืองลำปาง
ในคืนที่ไปเยือนอาคารหม่องโง่ยซิน จำได้ว่า มีคนเก่าคนแก่ของเมืองลำปางคนหนึ่ง
คอยเล่าเรื่องประวัติศาสตร์ของหม่องโง่ยซินด้วย แต่เวลาผ่านไปก็เริ่มเลือนๆ
ค่าที่ในเวลานั้นยังไม่ได้ใส่ใจเมืองลำปางมากนัก
คนทั่วไปเมื่อพูดถึงลำปาง พวกเขาอาจนึกถึงดอยขุนตาลอันเป็นสถานที่ตั้งของอุโมงค์รถไฟที่ยาวที่สุดในประเทศไทย
หลายคนนึกถึงพระธาตุลำปางหลวงโบราณสถานเก่าแก่อันงดงาม สร้างตั้งแต่สมัยพระนางจามเทวี คิดถึงแม่เมาะและถ่านหินลิกไนต์ แต่ไม่มีใครคิดถึงพม่า เพราะชนชาติพม่ารุ่นหลังมาทำมาหากินแลกหยาดเหงื่อแรงงานในจังหวัดที่มีอุตสาหกรรมประมง
มากกว่าจะมาเป็นพ่อค้าคหบดีเหมือนคนรุ่นก่อน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1108 วันที่ 9 - 15 ธันวาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น