แล้วรัฐบาลก็แสดงความกล้าหาญ เล่นบท “โรบินฮู๊ด” ปล้นเงินภาษีของคนทั้งประเทศ จำนวนมหาศาลไปแจกคนจน ไม่ต้องเลี่ยงบาลี ก็ตอบได้ว่านี่คือประชานิยมแบบทหาร แม้จะไพล่ไปเรียกว่า “สวัสดิการแห่งรัฐ” ก็ตาม งบประมาณมหาศาลยิ่งกว่าตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ แต่อาจละลายทั้งมหาสมุทร จะถูกเปลี่ยนมือไปจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการ ซึ่งก็บอกไม่ได้ชัดว่าจะคุ้มค่า หรือแลกมาซึ่งสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิตหรือไม่
อาจจะต่างจากนโยบายเงินผัน ในยุคคึกฤทธิ์ ปราโมช
ต่างจากประชานิยมในแบบรัฐบาลประชาธิปไตย แต่รวมความแล้วให้ความรู้เรื่องการทำมาหากินกับพวกเขา
ยังยั่งยืนกว่าแจกเงิน เพียงลมพัดผ่านเงินก็หมดแล้ว
แต่เหตุผลสนับสนุนที่อยู่นอกเหนือเหตุผลอื่นใด
ก็คือทหารก็อยากหาเสียงกับประชาชนเหมือนกัน
ไม่ได้หาเสียงเลือกตั้ง
แต่เป็นการหาเสียงเพื่อความชอบธรรมในการอยู่นานๆ
งบประมาณเกือบ 2 หมื่นล้านล้านบาท
ที่รัฐบาล คสช. นำโดยพล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา อนุมัติโครงการนี้
จ่ายเงินให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ
โดยการลงทะเบียนระหว่างวันที่ 15 กรกฎาคม-15 สิงหาคม 2559 มีผู้มาลงทะเบียนกว่า 8.3 ล้านคน แบ่งเป็นเกษตรกร
2.9 ล้านคน ใช้งบประมาณ 6,540 ล้านบาท และกลุ่มที่ไม่ใช่เกษตรกร 5.4 ล้านคน ใช้งบ 12,750 ล้านบาท
จากเดิมที่กำหนดจะแจกจ่ายให้ประชาชนในตอนต้นเดือนธันวาคม
แต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องขอเลื่อนไปจนหลายจังหวัดเริ่มดีเดย์มาเบิกเงินที่รัฐโอนเข้าบัญชีไปราววันที่
13 ธันวาคม ที่ผ่านมา โดยงบประมาณนั้นภาครัฐให้สามธนาคารของรัฐ อันได้แก่
ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ธนาคารออมสิน และธนาคารกรุงไทย
สำรองจ่ายค่าใช้จ่ายดังกล่าวไปก่อน และชดเชยต้นทุนเงินให้กับธนาคาร
ดังกล่าวในอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 6 เดือน
ประเภทบุคคลธรรมดาของ 4 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ (FDR) บวก 1% (ปัจจุบันอัตรา FDR
เท่ากับ 1.225% ต่อปี)
โครงการนี้เป็นโครงการที่รัฐบาลออกมาตรการเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อยในโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ
โดยมอบเงินช่วยเหลือแก่ผู้มีรายได้น้อยที่มีรายได้ไม่เกินปีละ 30,000 บาทต่อปี จำนวน 3,000 บาทต่อคน และผู้ที่มีรายได้ตั้งแต่ 30,001 บาทต่อปีขึ้นไป
แต่ไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี จำนวน 1,500 บาทต่อคน
จนก่อนหน้านี้ก็มีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่ามันก็ไม่ต่างอะไรจากประชานิยมที่ท่านนายกรัฐมนตรีติติงเหน็บแนมรัฐบาลที่ผ่านมา
จนโฆษกรัฐบาล พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด ต้องออกมาชี้แจงว่า
นโยบายนี้ต้องเรียกว่าเป็น ‘สวัสดิการแห่งรัฐ’ มิใช่ ‘ประชานิยม’
เพราะไม่สร้างปัญหาไว้เบื้องหลัง
โดยไม่หวังคะแนนเสียงและความนิยมจากประชาชนโดยไม่คำนึงถึงความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับประเทศ
กับลูกหลานในภายหน้า แต่จะต้องดำเนินการด้วยความจริงใจ โปร่งใส ชัดเจน รอบคอบ
ไม่สร้างผลกระทบต่อระบบการเงินการคลังของชาติ ที่สำคัญผู้นำและผู้บริหารในทุกระดับ
จะต้องมีธรรมาภิบาลในการทำงาน เพื่อสร้างบรรทัดฐานที่ดีต่อบ้านเมืองต่อไป
เอ้า....ไม่ใช่ประชานิยม ก็ไม่ใช่ ก็เอาตามที่ท่านบอกนั่นแหละ
แต่มาตอนนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นหลังจากที่เริ่มแจกเงินแล้ว
ดูเหมือนว่าจะมีรายละเอียดมากมายที่รอการแก้ไขและชี้แจง จริงอยู่ว่าเงิน 1,500 -3,000 บาท สำหรับคนบางคนอาจจะดูไม่มากใช้แป๊บเดียวก็หมด แต่สำหรับผู้มีรายได้น้อยหลายคนเงินจำนวนนี้สามารถดำรงชีพได้หลายเดือน
ส่วนคนที่มีรายได้มากแต่ได้สิทธิ์นั้นก็ขอให้ท่านรู้ตัวไว้ด้วยว่าท่านกำลังเบียดเบียนผู้ที่ควรได้รับการช่วยเหลือจริงๆ
ทันทีที่มีข่าวว่าเงินเข้าบัญชีแล้ว
ที่หน้าธนาคารทั้งสามแห่งมีผู้ที่มีรายได้น้อยตามสิทธิ์มารอเบิกเงินเป็นจำนวนมาก
หน้าธนาคารต่างคึกคัก โดยผู้ที่ได้รับเงินสวัสดิการของรัฐมีแววตาแห่งความหวัง
ในขณะที่เสียงสะท้อนจากสถานที่จริงที่ภาครัฐต้องรับรู้นั่นก็คือ หน้าธนาคารมีรถมอเตอร์ไซด์เก่าๆมาจอดเยอะ
ในขณะเดียวกันก็มีรถเก๋ง รถกะบะป้ายแดงมาจอดรอเช่นกัน
หลายคนก็บ่นโอดโอยว่ามีชื่อในระบบแต่เงินยังไม่เข้า
สอบถามเจ้าหน้าที่ก็ยังไม่ได้คำตอบ
อีกทั้งการเช้าถึงข้อมูลของประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ได้อยู่ในโลกออนไลน์ยังมีอีกหมื่นแสนล้านคน
ไม่ใช่เพียงแค่ให้ข้อมูลกันทางออนไลน์เสียส่วนใหญ่ (เหมือนตอนร่างรัฐธรรมนูญ)
และอีกเกือบล้านคนที่ยังไม่มีบัญชีให้ทำการเบิกจ่ายเงิน
และอีกหลายคนที่อยากได้เงินสวัสดิการก้อนนี้บ้างแต่ไม่รู้เรื่องการลงทะเบียนก็ได้แต่ทำตาปริบๆรอลงทะเบียนรอบหน้า
แน่นอนว่าปัญหาและเหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นพร้อมๆกันทั่วประเทศ
และหลายจังหวัดพบว่าคนจนจริงไม่ได้เงินแจกเพราะไม่ได้ลงทะเบียน
ส่วนคนที่จนไม่จริงเข้าถึงโลกออนไลน์ก็ลงทะเบียนรับเงินกันไปใช้จ่ายฟุ่มเฟือย นี่แหละคือเรื่องจริงของประเทศไทย
จริงอยู่ว่านโยบายนี้มีวัตถุประสงค์ดี
ต้องการช่วยกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ ทำให้มีเงินหมุนเวียนในระบบและประชาชนไม่เป็นหนี้เพิ่ม
อีกทั้งรัฐบาลต้องการให้ผู้มีรายได้น้อยไปขึ้นทะเบียนเพื่อ
ต่อยอดไปสู่มาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เช่น รถไฟฟรี รถเมล์ฟรี
ให้ตรงจุดอย่างแท้จริง
แต่ต้องกลับมาตอบคำถามตัวเองกันบ้างว่า “นโยบายแจกเงินนี้ช่วยได้จริงหรือ??”
ช่วงปลายปีนี้ดูเหมือนจะมีเรื่องร้อนๆให้คนไทยได้เมาท์มอย
ยิ่งการเมาท์มอยนี้มีทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ ที่เมาท์กันให้แซ่ด
ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง ดีเอสไอประกาศจะบุกจับพระธัมมชโยแต่สุดท้ายก็แป๊กด้วยเหตุผลเจ้าหน้าที่ไม่พร้อม ไหนจะเรื่อง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ที่ลูกผีลูกคน
คนที่ลงชื่อคัดค้านใน www.change.org
ที่ยอดคนลงชื่อพุ่งพรวดในเวลาอันสั้น
สะท้อนให้เห็นถึงการไม่เห็นด้วยของ
พ.ร.บ.คอมฯฉบับนี้ที่ยังมีข้อกังกาอยู่หลายมาตราและแถมยังอาจเป็นการให้ดาบประกาศิตแก่คนที่ใช้อำนาจไม่เป็นอีกด้วย
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1109 วันที่ 16 - 22 ธันวาคม 2559)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น