จำนวนผู้เข้าชม
ต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา
เสือโคร่งตัวหนึ่งเดินมาไกลหลายร้อยกิโลเมตร
ระหว่างทางพบเจอเรื่องราวมากมาย และถูกทำร้ายจนได้รับบาดเจ็บตามลำตัว
โดยเฉพาะที่ข้อเท้าหน้าขวา ซึ่งเป็นเหตุให้เดินต่อไปไม่ไหวจึงอาศัยใต้กระท่อมร้างริมไร่มัน
บ้านสบเติน ตำบลแม่ถอด อำเภอเถิน จังหวัดลำปาง เป็นที่พักพิงชั่วคราว
หลังชาวบ้านระแคะระคาย
จึงมีการแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องมาดำเนินการ ซึ่งต่อมาสถานีวิจัยสัตว์ป่าดอยเชียงดาว
จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมทีมสัตวแพทย์ของกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
และเจ้าหน้าที่ของสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 สาขาลำปาง
รวมทั้งชาวบ้าน ได้ร่วมมือกันให้ความช่วยเหลือเสือโคร่งตัวนี้ โดยวิธียิงยาสลบ
แล้วขนย้ายไปดูแลรักษาต่อที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยยางปาน จังหวัดเชียงใหม่
ศักดิ์สิทธิ์ ซิ้มเจริญ
นักวิจัยเสือโคร่ง / หัวหน้ากลุ่มงานวิจัยสัตว์ป่า สำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า
กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ออกมายืนยันว่า เสือโคร่งตัวดังกล่าวเป็นเสือจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
พื้นที่มรดกโลกของประเทศไทย และเป็นพื้นที่ที่มีประชากรเสือโคร่งอาศัยอยู่มากที่สุดของประเทศไทย
นักวิจัยเปิดเผยว่า เสือโคร่งตัวนี้มีรหัส HKT
178 เป็นเสือตัวผู้ เป็นลูกของแม่เสือชื่อแฟนซี
ซึ่งเป็นเสือที่อยู่ในโครงการศึกษา และน่าจะเกิดเมื่อปี พ.ศ. 2552 นักวิจัยสามารถถ่ายภาพHKT 178 ได้ครั้งแรกในช่วงต้นปี
พ.ศ. 2554 บริเวณตอนเหนือของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
และในปลายปีเดียวกัน HKT 178 ก็เดินทางไปอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
ช่วงปลายปี พ.ศ. 2555 เจ้าเสือหนุ่มถูกถ่ายภาพได้อีกครั้งที่อุทยานแห่งชาติแม่วงก์
หลังจากนั้นก็ไม่พบอีกเลย กระทั่งมีข่าวพบเสือโคร่งที่จังหวัดลำปาง
เมื่อส่งรูปไปตรวจสอบกับทีมงานที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำ
(ใช้วิธีเทียบลายบนตัวของเสือ ซึ่งเสือแต่ละตัวจะมีลายไม่เหมือนกัน) โดยใช้เวลาเพียง
1 ชั่วโมงเท่านั้น ก็รู้ว่าเป็นเจ้า HKT 178 เสือจากเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนั่นเอง
ศักดิ์สิทธิ์กล่าวไว้ในเฟสบุกของเขาว่า
ความรู้สึกแรกเมื่อรู้ว่าคือ HKT 178 เสือจากห้วยขาแข้ง
ซึ่งเป็นพื้นที่ทำงานหลักของเหล่านักวิจัยเสือโคร่ง นั่นคือความรู้สึกยินดีอย่างยิ่ง“เหมือนได้พบเพื่อนที่คิดว่าจากกันไปตลอดกาล”
เป็นความจริงที่ว่า เสือแต่ละตัวมีอาณาเขตในการหากินค่อนข้างกว้าง
คือ ตัวผู้จะใช้พื้นที่ประมาณ 200-300 ตารางกิโลเมตร
ขณะที่ตัวเมียใช้พื้นที่ประมาณ 60-80 ตารางกิโลเมตร
ที่สำคัญคือ เสือโคร่งจะไม่หากินทับพื้นที่ซึ่งกันและกัน หากทับพื้นที่กัน
ตัวใดตัวหนึ่งจะหลีกออกไปหาพื้นที่ของตัวเอง ด้วยเหตุนี้ จึงอาจทำให้ HKT
178 ตัดสินใจออกเดินทาง ทว่าไม่อาจไปถึงสถานที่ซึ่งฝันเอาไว้
อย่างไรก็ตาม น่ายินดีอย่างยิ่งที่เจ้าHKT
178 นั้น โชคดี ได้รับความช่วยเหลืออย่างทันท่วงที นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีการพบเสือจากห้วยขาแข้งในผืนป่าอื่น
ๆ ก่อนหน้านี้มีข่าวและรายงานหลายชิ้นระบุว่า พบเสือจากห้วยขาแข้งในพื้นที่อื่นเช่น
การกระจายตัวของเสือโคร่งสู่ผืนป่าอุทยานแห่งชาติแม่วงก์และอุทยานแห่งชาติคลองลาน
จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งมีพื้นที่ติดต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง
โดยข้อมูลจาก WWF ประเทศไทย ระบุว่า
สามารถถ่ายภาพเสือโคร่งตัวเมียที่ครั้งหนึ่งเคยถูกบันทึกภาพได้ที่ห้วยขาแข้งในปี
พ.ศ. 2548 แต่ต่อมาได้ย้ายถิ่นมายังอุทยานแห่งชาติแม่วงก์
และได้ให้กำเนิดลูกจนกลายเป็นเสือประจำถิ่นของอุทยานแห่งชาติแม่วงก์ไปแล้ว
ปี พ.ศ. 2557 พบเสือโคร่งวัยรุ่นในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าสลักพระ
จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งไม่ปรากฏรายงานการเจอเสือโคร่งในพื้นที่นี้มานานแล้ว
เมื่อนำข้อมูลมาเปรียบเทียบจึงพบว่าเป็นเสือที่เคยอาศัยอยู่ในป่าห้วยขาแข้งมาก่อน
วันที่ 25 กุมภาพันธ์
พ.ศ. 2559 เสือโคร่งรหัส HKT-206 M ถูกยิงตายบริเวณหมู่บ้าน
Kawkareikซึ่งอยู่ทางตอนบนของรัฐ Kayinด้านตะวันออกของเมียนมาร์
สิ่งที่เกิดขึ้นสะท้อนให้เห็นว่า สัตว์ป่าต่างต้องการถิ่นที่อยู่อาศัย
แหล่งอาหารและความสงบเฉกเช่นสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ นอกจากนี้ ยังทำให้เราต้องตระหนักถึงธรรมชาติของเสือโคร่งอย่างรอบด้าน
เช่น เสือโคร่งหนุ่มนั้น ต้องออกเดินทางเพื่อเสาะหาพื้นที่อาณาเขตของตัวเอง
พื้นที่อยู่อาศัยเดิมคับแคบเกินไป อาหารไม่เพียงพอต่อความต้องการ ถูกมนุษย์คุกคาม
ถูกแย่งอาณาเขตจากเสือหนุ่มตัวอื่น ๆ
หรือพบพื้นที่ใหม่ที่มีศักยภาพเพียงพอต่อการย้ายถิ่นเข้าไปอยู่อาศัย มากไปกว่านั้น
สำคัญอย่างมากที่เราต้องหาคำตอบว่า เสือโคร่งเดินทางไกลจากป่าหนึ่งไปสู่อีกป่าหนึ่งได้อย่างไรทั้ง
ๆ ที่บางแห่งนั้น มีถนน ชุมชน กั้นขวางอยู่ และถึงเวลาหรือยัง
ที่เราควรหันกลับมาทบทวนแผนพัฒนาต่าง ๆ เพื่อเห็นแก่สัตว์ป่าบ้าง
โดยเฉพาะเสือโคร่ง ซึ่งถูกจัดให้มีสถานะใกล้สูญพันธุ์
ถูกคุกคามจากการล่าและสูญเสียถิ่นที่อยู่อาศัย มีการคาดการณ์กันว่า ทั่วโลกมีประชากรเสือโคร่งในธรรมชาติหลงเหลืออยู่เพียง
3,890
ตัวเท่านั้น จากจำนวนนับแสนตัวในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1112 วันที่ 13 - 19 มกราคม 2560 )
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น