วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

"เจ้าพ่อขุนตาน" ความห้าวหาญที่ไม่อาจหลงลืม

จำนวนผู้เข้าชม

คนผ่านทางไปลำพูนและเชียงใหม่ล้วนต้องผ่านดอยสูงที่ชื่อดอยขุนตาน ช่วงรอยต่อระหว่างลำปางกับลำพูน เราต่างมองเห็นศาลขนาดใหญ่ที่ต้องทำความเคารพตามความเชื่อดั้งเดิม แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะรู้ว่า เจ้าพ่อขุนตานคือใคร มีภูมิหลังอย่างไร

อาจต้องเล่าย้อนไปถึงสมัยพญายีบา กษัตริย์องค์สุดท้ายของนครหริภุญไชย (เมืองลำพูน) ก่อนหน้านั้นนครหริภุญไชยมีแต่ความสงบสุข กระทั่งพญามังรายได้ทรงสร้างเมืองเชียงรายสำเร็จและกำลังมองหาเมืองขึ้นเพื่อแผ่ขยายพระราชอำนาจ ทรงต้องการนครหริภุญไชย ทว่าด้วยความที่หริภุญไชยเป็นนครใหญ่ที่เข้มแข็ง จึงส่งขุนนางชื่อขุนอ้ายฟ้า ทำทีว่าได้รับโทษทัณฑ์จากพญามังราย จึงหนีมาพึ่งพญายีบา โดยขอเข้ามาเป็นข้ารับใช้ พญายีบาหลงกลรับขุนอ้ายฟ้าเข้ามาทำงานในราชสำนัก ทรงโปรดปรานไส้ศึกคนนี้มาก เพราะช่วยราชการอย่างแข็งขัน ส่วนขุนอ้ายฟ้าระหว่างนั้นก็วางอุบายให้ชาวเมืองเสื่อมความจงรักภักดีต่อพญายีบาลงไปเรื่อย ๆ เมื่อเห็นว่าแผนการของตนเป็นผลสำเร็จแล้ว ขุนอ้ายฟ้าก็ลอบส่งข่าวไปยังพญามังราย หลังจากนั้นกองทัพพญามังรายที่เกรียงไกรก็ยกไพร่พลมาตีนครหริภุญไชยและยึดเมืองได้สำเร็จ พญายีบาจึงเสด็จหนีไปพึ่งพญาเบิก พระราชโอรสของพระองค์ที่ทรงปกครองเขลางค์นครอยู่ ระหว่างทางบนดอยสูง พญายีบามองเห็นนครหริภุญไชยมอดไหม้ ก็ถึงกับหลั่งน้ำตาเสียใจที่เสียรู้ไส้ศึก บริเวณนี้ภายหลังเรียกกันว่า ดอยบาไห้ (ดอยพญายีบาร้องไห้) โดยอยู่ด้านหลังวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูนในปัจจุบัน

และต่อไปนี้คือเรื่องราวที่ห้าวหาญของพญาเบิก หรือเจ้าพ่อขุนตาน พระราชโอรสของพญายีบา

14 ปีต่อมา นอกจากสะสมไพร่พลจนเข้มแข็ง เพื่อรอวันชำระแค้นให้นครหริภุญไชยและพระราชบิดาแล้ว พญาเบิกยังได้สร้างเมืองต้านศึกขึ้นในพื้นที่แห่งหนึ่งในเขตอำเภอห้างฉัตร ใกล้ทิวเขาสูงใหญ่ เมืองนั้นชื่อ “เวียงต้าน” หรือเวียงตาลในปัจจุบัน ส่วนทิวเขาสูงใหญ่ที่ทอดตัวคั่นระหว่างลำพูนและลำปาง ซึ่งเป็นแนววางกำลังพลเพื่อที่จะสกัดกองทัพพญามังราย ต่อมาเรียกว่า “ดอยขุนต้าน” หรือก็คือดอยขุนตานนั่นเอง

ครั้นพญาเบิกนำทัพใหญ่มาตีนครหริภุญไชย ฝ่ายพญามังรายก็เตรียมทัพใหญ่ไว้ต้านรับเช่นกัน ทัพพญาเบิกถูกตีแตกพ่ายจนต้องถอยร่นขึ้นมาถึงดอยขุนต้าน กระทั่งมาถึงเวียงต้าน ก็ยังต้องถอยทัพจนมาติดหนองหล่มใหญ่ ปัจจุบันคือบ้านหนองหล่ม และพ่ายแพ้อย่างย่อยยับที่เนินทุ่งแห่งหนึ่ง ปัจจุบันคือบ้านหลิ่งก้าน ตำบลหนองหล่ม อำเภอห้างฉัตร

ร่องรอยการเดินทัพของพญาเบิกในการสู้รบครั้งนั้น กล่าวกันว่ายังมีอยู่จนกระทั่งทุกวันนี้ เช่น ที่แนวขุนห้วยสาน แนวที่ต่อลงมาในทิวเขาเขตอำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน และตอนใกล้วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีลำพูนในปัจจุบัน บนสันเขายังมีทางเดินเชื่อมกัน บนยอดเขาตอนกลางจะราบเรียบ กว้างประมาณ 6 เมตร มีก้อนหินวางเรียงสองฟากติดต่อกันตลอดแนวดุจถนนบนภูเขาจนถึงดอยบาไห้

คนสมัยก่อนยกย่องพญาเบิกว่าเป็นยอดนักรบ มีกุศโลบายวางแผนการรบอย่างลึกซึ้ง เช่น การตั้งทำเลเวียงต้าน การซุ่มพลตามแนวเขาเพื่อรบแบบกองโจร ฯลฯ อย่างไรก็ตาม เมื่อไม่อาจต้านทานทัพใหญ่ที่แกร่งกว่า พญาเบิกก็ถูกจับตัวได้ ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าว่า พญาเบิกนั้นคงกระพันชาตรี เมื่อถูกจับได้ข้าศึกก็ไม่อาจใช้ศัสตราวุธใด ๆ ปลงพระชนม์ ทหารจึงนำตัวพญาเบิกไปขุดหลุมฝังทั้งเป็นจนสิ้นพระชนม์ ณ ยอดดอยแห่งหนึ่งบนเทือกขุนตาน คนเก่าคนแก่บางคนเรียกว่า “ดอยพญาลำปาง” อยู่ในเขตรอยต่อบ้านทุ่งเกวียน ตำบลเวียงตาล กับบ้านแม่ยามเหนือ ตำบลเมืองยาว อำเภอห้างฉัตร

ด้านพญายีบาเมื่อรู้ข่าวพระราชโอรสสิ้นพระชนม์แล้วก็ทรงเห็นว่า คงหมดหนทางที่จะรักษาเมืองเขลางค์เอาไว้ได้ จึงเสด็จหนีไปพึ่งพญาสองแควแห่งเมืองพิษณุโลก ขณะเดียวกันพญามังรายก็ไม่ได้ส่งทัพไล่ติดตาม ด้วยเห็นว่าพญายีบาหมดสิ้นหนทางแน่แล้ว

วีรกรรมความกล้าหาญของพญาเบิกยังเป็นที่จดจำของชาวอำเภอห้างฉัตรและชาวลำปางรุ่นเก่า ซึ่งต่อมาพากันขนานนามให้พระองค์ว่า “เจ้าพ่อขุนตาน” มีการสร้างศาลเจ้าพ่อขุนตานหลายแห่ง ได้แก่ บริเวณหมู่ 2 บ้านห้างฉัตรเหนือ ตำบลห้างฉัตร อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง และบริเวณหมู่ 12 บ้านดอยแก้ว ตำบลทาสบเส้า อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ซึ่งศาลแห่งนี้ เราชาวลำปางรู้จักกันดี เพราะตั้งอยู่บนดอยขุนตาน บริเวณเขตรอยต่อระหว่างลำปางกับลำพูน ส่วนที่หมู่ 8 บ้านขุนตาน ตำบลทาปลาดุก อำเภอแม่ทา จังหวัดลำพูน ผู้โดยสารรถไฟกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ต้องเคยเห็น เพราะตั้งอยู่บริเวณด้านหน้าอุโมงค์รถไฟถ้ำขุนตาน

นอกจากนี้ ก็ยังมีอนุสาวรีย์เจ้าพ่อขุนตาน ซึ่งชาวอำเภอห้างฉัตรร่วมกันจัดสร้างขึ้นที่บ้านหัววัง หมู่ 5 ตำบลเวียงตาล อำเภอห้างฉัตร เป็นรูปปั้นเจ้าพ่อขุนตานทรงม้า แต่เหตุที่อนุสาวรีย์สร้างหันหลังให้ทางเข้า ซึ่งแม้จะดูแปลก แต่เหตุผลก็เพื่อให้เจ้าพ่อขุนตานหันไปทางเมืองลำปาง คอยปกปักรักษาเมืองลำปางนั่นเอง ทั้งนี้ ทางจังหวัดได้จัดพิธีบวงสรวงเจ้าพ่อขุนตานในวันที่ 12 พฤษภาคมของทุกปี 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1118 วันที่  24 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2560 )
Share:

3 ความคิดเห็น:

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์