วันศุกร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

คนเก่งหน้าจอกับ "ชะตากรรม" นักข่าว

จำนวนผู้เข้าชม Must See Places In Paris

ในสถานการณ์ความอ่อนไหวของข่าววัดพระธรรมกาย สถานีโทรทัศน์อย่างน้อย 3 ช่องถูกแบน ห้ามเข้าพื้นที่วัด ในขณะที่ยังมีสถานีข่าวหลายสิบช่อง คนข่าวนับร้อย ยังคงรายงานข่าวตามหน้าที่ได้อย่างปกติ แม้การกระทำของศิษย์ธรรมกายจะเป็นการลิดรอนเสรีภาพของคนข่าวที่ควรมีอิสระในการรายงานข้อเท็จจริง อย่างครบถ้วนและรอบด้านก็ตาม

ขณะรายงานสดนักข่าวคนหนึ่งถูกแย่งไมโครโฟนไป นักข่าวอีกคนหนึ่งถูกเชิญออกไปจากพื้นที่ ในขณะที่พิธีกรในห้องส่งเรียกขานธัมมชโยว่า “ไอ้ขาเน่า”  

วุฒิภาวะของคนเป็นผู้ใหญ่จะต้องมีมากพอที่จะรู้ว่า ในยามหน้าสิ่วหน้าขวาน ในยามที่สถานการณ์มีความอ่อนไหวเช่นนั้น และในยามที่ศิษย์ธรรมกาย ฮึกเหิมถึงขนาดท้าทายอำนาจตามมาตรา 44  ซึ่งไม่เคยมีใครในแผ่นดินนี้กล้าต่อกรมาก่อน นั่นแปลว่าไม่ว่านรก หรือสวรรค์ ผิดหรือถูกอย่างไร พวกเขาย่อมทำได้หมด

ไม่ต้องป่าวประกาศ หรือพูดเสียงดัง ก็เข้าใจได้ว่าคนส่วนใหญ่คิดอย่างไรกับวัดพระธรรมกาย คนส่วนใหญ่เห็นอย่างไรกับการท้าทายอำนาจกฏหมายของวัดพระธรรมกาย และธัมมชโย แต่สำหรับคนทำสื่อ หลักคิดเช่นนั้นมาใช้ในพื้นที่ข่าว พื้นที่สาธารณะไม่ได้

คนข่าวก็เป็นมนุษย์ เป็นประชาชนคนหนึ่งเช่นเดียวกับคนทั่วไป พวกเขาอาจมีความเชื่อ หรือทัศนคติในเรื่องต่างๆ เช่น แนวคิดทางศาสนา เรื่องของวัดพระธรรมกาย แนวคิดทางการเมือง หรือกระทั่งไม่ชอบแหล่งข่าว ไม่ถูกชะตา ซึ่งล้วนเป็นเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก แต่ในการรายงานข่าว การประกาศข่าว จะต้องแยกแยะได้ ไม่เอาอคติส่วนตัวมาอยู่บนพื้นที่ข่าว

โดยเฉพาะในสถานการณ์ความขัดแย้ง การชุมนุม ความเสี่ยงภัยของนักข่าวที่อาจมีการปะทะกัน แม้จะมีความเชื่อหรือรู้สึกรัก ชอบ เกลียด ชังอย่างไร ก็ยังมีหน้าที่ในการนำเสนอข้อมูล ความรู้ ความคิดเห็นที่หลากหลายอย่างครบถ้วน รอบด้าน ไม่ลำเอียง

เพราะในขณะที่ธรรมกายปฏิเสธให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐชนิดเต็มร้อย และเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องปฏิบัติตามคำสั่ง พื้นที่แห่งสันติวิธีก็แทบจะไม่เหลือให้ยืนอยู่ได้ สื่อควรเปิดพื้นที่ให้พอหาทางออกจากความขัดแย้งได้ มิใช่กระโจนเข้าไปเป็นคู่ขัดแย้งเสียเอง

ไอ้ขาเน่า ไอ้แว่น หรือคำเรียกขานในท่วงทำนองบริภาษ เหยียดหยาม ดูแคลนเช่นนี้ เป็นเรื่องที่พูดกันในวงสนทนา เป็นเรื่องที่วิพากษ์วิจารณ์ได้ ไม่มีปัญหา แต่ในยามที่ความเคียดแค้น ชิงชัง กำลังลุกลาม ขยายตัวออกไปในวงกว้าง Hate Speech ที่ส่งออกมาจากคนหน้าจอ คนได้ยินกันทั้งบ้าน ทั้งเมือง มันอาจตอบสนองความพึงพอใจของเจ้าของถ้อยคำ แต่ในขณะเดียวกัน มันก็เท่ากับผลักให้คนข่าวภาคสนาม ต้องไปเผชิญกับภัยอันตราย ซึ่งไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นอย่างไร และจะรุนแรงมากกว่านี้หรือไม่

หากได้ผ่านประสบการณ์การทำข่าวภาคสนามมาบ้าง ก็จะรู้ว่ารสชาติชีวิตในการทำข่าวการชุมนุม การประท้วง การจลาจล การปะทะ และการเผชิญหน้าระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐและฝ่ายตรงข้าม มันเหน็ดเหนื่อย ท้าทาย และเสี่ยงภัยอันตรายเพียงใด

ไม่ต้องพูดถึงผลตอบแทน หรือหลักประกันในชีวิตและสวัสดิภาพ ของนักข่าวภาคสนามที่ต้องไปเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายในสมรภูมิข่าว ที่น้อยกว่าคนหน้าจอที่นั่งอยู่ในห้องแอร์หลายสิบเท่า เจ้าของโรงงานอุตสาหกรรมข่าว ต้องการแต่ข่าว เรื่องเป็นเรื่องตายของนักข่าวเป็นเรื่องรอง

ชะตากรรมของพวกเขาไม่เพียงแขวนอยู่บนเส้นด้ายอันเปราะบางของสถานการณ์ในพื้นที่ หากยังฝากไว้กับถ้อยคำที่ไร้ความรับผิดชอบของคนหน้าจอ ที่มุ่งแต่จะตอบสนองความสะใจของตัวเองเท่านั้น

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1118 วันที่  24 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์