วันพฤหัสบดีที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

ชู 'หินตั้ง' อุทยานเขลางค์ฯ กก.เคาะแล้วป่าใกล้เมือง



จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ เห็นชอบจัดตั้งอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต จ.ลำปาง  ป่าใกล้เมืองลำปาง ชูแหล่งวัฒนธรรมหินตั้ง  ขั้นตอนต่อไปรอเจ้าหน้าที่กรมอุทยานฯเข้ารังวัดพื้นที่

จากที่เครือข่ายประชารัฐขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ จ.ลำปาง   นำโดยนายสำคัญ วรรณบวร ประธานเครือข่ายฯ  ได้รวมตัวกันเพื่อผลักดันให้มีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ บริเวณดอยพระบาทซึ่งครอบคลุมพื้นที่ป่ากว่า 99,000 ไร่ เขตติดต่อ 3 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.แม่เมาะ และ อ.แม่ทะ  ทั้งนี้ เพื่อต้องการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะเป็น ปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า  ปัญหาหมอกควันไฟป่า  ปัญหาน้ำแล้ง  ซึ่งการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ จะทำให้เกิดการควบคุมดูแลป่าได้อย่างเป็นระบบ และทั่วถึงมากขึ้น 

โดยเมื่อวันที่ 14 ก.พ.60  ที่ผ่านมา คณะกรรมการอุทยานแห่งชาติ นำโดยปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานการประชุมเพื่อพิจารณาจัดตั้งอุทยานแห่งชาติรวม 3 แห่ง ประกอบด้วย อุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต จ.ลำปาง  อุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม จ.ประจวบคีรีขันธ์ และอุทยานแห่งชาติไม้กลายเป็นหิน จ.ตาก  ซึ่งจากการนำเสนอปรากฏว่าที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้จัดตั้งอุทยานแห่งชาติทั้ง 3 แห่ง   โดยเฉพาะที่ จ.ลำปาง  เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกที่ขับเคลื่อนด้วยภาคประชารัฐที่ต้องการให้มีการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติขึ้นเพื่อรักษาผืนป่าของตัวเอง เป็นการร่วมมือที่เข้มแข็ง  ซึ่งในที่ประชุมได้กล่าวชื่นชม หากประสบความสำเร็จจะยกให้เป็นโมเดลของประเทศ

นายสำคัญ วรรณบวร ประธานเครือข่ายประชารัฐขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ  จ.ลำปาง กล่าวว่า เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่อุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพตได้ก้าวหน้าไปอีกก้าวหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นไปอย่างรวดเร็ว เพราะมีการเตรียมการได้ไม่ถึง 1 ปี ก็ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอุทยานแห่งชาติให้มีการจัดตั้งอุทยานแล้ว  ไม่เหมือนกับจังหวัดอื่นที่เตรียมการไว้ไม่น้อยกว่า 3 ปี   ซึ่งเราโชคดีที่ทางท่านอธิบดีกรมอทุยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ให้การสนับสนุน รวมทั้ง  ผอ.ดำรัส โพธิ์ประสิทธิ์  สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (สาขาลำปาง) ที่คอยช่วยเหลือขับเคลื่อนงานไปร่วมกัน  นอกจากนั้นทราบว่าในที่ประชุมได้กล่าวชื่นชมว่าอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต เป็นแห่งแรกที่จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือจากภาคประชาชนและหลายภาคส่วน

นายดำรัส  โพธิ์ประสิทธิ์  ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 13 (สาขาลำปาง)   กล่าวว่า ขั้นตอนต่อไปหลังจากที่ประชุมมีมติเห็นชอบแล้ว ต้องรอทางกรมอุทยานฯ ออกคำสั่งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เข้ามาดำเนินการสำรวจรังวัด แนวเขตร่วมกับท้องถิ่น  ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการลงพื้นที่สำรวจแนวเขตไปแล้ว แต่ยังไม่เป็นทางการ จึงต้องสำรวจร่วมกับกรมอุทยานฯอีกครั้ง ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะใช้เวลานาน

ทั้งนี้  จากการวิจัยและศึกษาหาข้อมูลของมหาวิทยาลัยราชภัฎลำปาง พบการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์โบราณในพื้นที่ของดอยพระบาท ดอยผางาม   โดยค้นพบหลุมศพแสดงเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์อย่างชัดเจน ซึ่งเรียกว่า หินตั้ง จึงนำเรื่องนี้เป็นประเด็นหนึ่งในการนำเสนอเรื่องราว และเตรียมที่จะขออนุรักษ์เป็นมรดกโลกด้วย

สำหรับการขับเคลื่อนการจัดตั้งดอยพระบาทให้เป็นอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต เริ่มต้นเมื่อเดือน มิ.ย.59  ได้มีการรวมตัวกันขึ้น  ประกอบด้วย 6 ฝ่าย คือ เกษตรกร  ราชการ เอกชน  อปท.  กำนันผู้ใหญ่บ้าน และสื่อมวลชน  ในนามของเครือข่ายประชารัฐขับเคลื่อนเพื่อจัดตั้งอุทยานแห่งชาติ จ.ลำปาง  โดยนายสำคัญ วรรณบวร ได้รับเลือกให้เป็นประธานเครือข่าย เนื่องจากเล็งเห็นว่าในพื้นที่ อ.แม่ทะ ประสบปัญหาภัยแล้ง น้ำไม่เพียงพอที่จะใช้ทำการเกษตร ซึ่งตนเองอยู่ในพื้นที่ อ.แม่ทะ ได้มองเห็นถึงปัญหาว่าแหล่งน้ำที่เข้าสู่ อ.แม่ทะ มีอยู่ 2 เส้นทางคือ น้ำจากเขื่อนกิ่วลม กิ่วคอหมา ส่งมาตามคลองส่งน้ำ ต.กล้วยแพะ ลงอ่างเก็บน้ำแม่ทะ หรืออ่างเก็บน้ำวังเฮือ  อีกเส้นทางหนึ่งคือจากเขื่อนแม่จางของ กฟผ.แม่เมาะ ทั้งสองแหล่งก็ไม่เพียงพอที่จะส่งน้ำมาให้ในพื้นที่   จึงได้ทำการวิจัยหาสาเหตุ โดยการนำคนเดินเท้าสำรวจบนดอยพระบาท จากการสำรวจดังกล่าวได้สรุปวิธีการแก้ไขปัญหาออกมาได้ 3 วิธี คือ 1.ต้องใช้คนขึ้นไปฟื้นฟูป่า  2.ตั้งเป็นวนอุทยาน  3.ตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ   จากการปรึกษากับคณะทำงาน ได้เล็งเห็นว่า ข้อดีของการจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติ คือ สามารถใช้กฎหมายเข้าไปบังคับได้ชัดเจน และจะมีงบประมาณลงมาได้พื้นที่โดยตรง มีการตั้งหน่วยพิทักษ์ป่าในแต่ละจุด ซึ่งจะดูแลป่าได้อย่างทั่วถึง ช่วยให้ลดปัญหาการเกิดไฟป่า การตัดไม้ทำลายป่าลงได้  จึงเดินหน้าขับเคลื่อนการจัดตั้งอุทยานแห่งชาติดอยพระบาท  และได้มีการตั้งชื่อว่าเป็นอุทยานแห่งชาติเขลางค์บรรพต  ซึ่งเป็นชื่อเรียกตามประวัติศาสตร์ในอดีต

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์  ฉบับที่ 1118 วันที่  24 กุมภาพันธ์ - 3 มีนาคม 2560 )
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์