จำนวนผู้เข้าชม
ลำปางนำร่อง SMART THAI BIZ ดึงผู้เชี่ยวชาญเป็นพี่เลี้ยงสร้างโมเดลต่อยอดธุรกิจพร้อมรับไทยแลนด์ 4.0 ปลดล็อค ปัญหายึดติดรูปแบบและวิธีทำธุรกิจแบบเดิมๆ ปั้น SMEsลำปางเป็นโมเดลพัฒนาธุรกิจท้องถิ่นไทย
ในยุคเศรษฐกิจไทยกำลังเปลี่ยนแปลงเข้ากับยุคสมัยของการพัฒนาสู่ไทยแลนด์
4.0 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รวมถึงหน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้องในด้านธุรกิจ จัดโครงการ สร้างโมเดลธุรกิจพิชิตตลาดใหม่ ด้วยการอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างโมเดลธุรกิจด้วยนวัตกรรม
ขึ้นเพื่อยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการ ที่อยากจะ
พัฒนาต่อยอดธุรกิจด้วยความคิดใหม่ๆ และสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้นในธุรกิจ
เพื่อตอบโจทย์ลูกค้าเป้าหมาย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
และก้าวทันโลกยุคดิจิตอลที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รู้จุดแข็ง
จุดอ่อนของธุรกิจ เตรียมพร้อมพัฒนา ประเมินสถานะทางธุรกิจ และ
คำแนะนำเบื้องต้นเปลี่ยนธุรกิจให้ ได้ลูกค้าใหม่เพิ่มยอดขาย เพิ่มพันธมิตร
ต่อยอดธุรกิจให้เข้มแข็งสร้างเครือข่ายธุรกิจ ที่สำคัญต้องช่วยตอบโจทย์ยุคดิจิทัล 4.0 ขึ้นที่กรุงเทพมหานครเป็นโครงการแรกเสร็จสิ้นไปแล้ว
และขยับขับเคลื่อนโครงการมาที่จังหวัดลำปางเป็นเป้าหมายที่ 2
เป็นประเด็นที่น่าสนใจว่าทำไมจึงเลือกลำปาง?
อิศรา
ดิสรเตติวัฒน์
นายกสมาคมการค้าเอสเอ็มอีไทย และ รองประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ผู้เชี่ยวชาญด้าน
การบริหารองค์กรและทรัพยากรบุคคล ผู้รับผิดชอบโครงการสร้างโมเดลธุรกิจพิชิตตลาดใหม่
การอบรมเชิงปฏิบัติการ การสร้างโมเดลธุรกิจด้วยนวัตกรรม (SMART THAI BIZ) ที่จังหวัดลำปาง เปิดเผยว่า โครงการนี้จัดขึ้นในส่วนกลางที่กรุงเทพฯ มาก่อนแล้ว
ในส่วนของระดับภูมิภาคคณะทำงานได้เลือกจังหวัดลำปางเป็นจังหวัดนำร่อง เนื่องจากลำปางเป็นเมืองขนาดกลางถึงเล็กซึ่งมี GDP
ไม่สูงมาก อยู่ในระดับกลางๆค่อนข้างต่ำ แต่มีความโดดเด่น
ในด้านของธุรกิจอุตสาหกรรมในท้องถิ่น ที่มีความเป็นอัตลักษณ์ของตัวเอง
แต่ยังขาดการต่อยอดพัฒนาทิศทางให้ก้าวไปสู่การแข่งขันที่กำลังเปลี่ยนไปสู่ยุคไทยแลนด์
4.0
โครงการนี้ได้เชิญผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน
จำนวน 8
ท่าน ในการเป็นพี่เลี้ยงที่ปรึกษาหรือ"โค้ช"
ชี้แนวทางในรูปแบบของการทำ Workshop และพัฒนาโมเดลธุรกิจ
แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการให้สามารถพัฒนาตนเอง เหมือนคลินิกที่มีหมอเฉพาะด้านหลายๆทางมาช่วยกันวินิจฉัย
เป็นแบบสหวิชาชีพ โดยเน้นการพัฒนาแบบยั่งยืน ไม่เกินกำลัง แต่อาศัยนวัตกรรมใหม่ๆช่วยพัฒนาสินค้าและบริการขยับขึ้นไปจากจุดเดิมที่เป็นอยู่
อย่างน้อย 20 ราย ได้สำเร็จ เป็นตัวชี้วัดว่า
โมเดลนี้น่าจะนำไปใช้กับธุรกิจไทยในทุกจังหวัดได้เช่นกัน
ข้อมูลเบื้องต้นที่ได้จากการพบปะระหว่างผู้ประกอบการกับที่ปรึกษาทั้ง
8 ท่าน พบประเด็นสำคัญที่น่าสนใจเกี่ยวกับปัญหาของผู้ประกอบการคือ มีหลายกรณี อย่างแรกคือผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในลำปาง
ประกอบธุรกิจที่มีความโดดเด่นอยู่แล้ว แต่ยังขาดการพัฒนาด้านการบริหารจัดการธุรกิจของตัวเอง
ทั้งด้านการบริหารจัดการภายใน ความเสี่ยง ความสูญเสีย และโลจีสติกส์ การตลาดให้ถูกทิศทาง
บุญเสก
พันธุ์อุดม ผู้อำนวยการอาวุโส SME Bank ชี้ให้เห็นชัดเจนในประเด็นเรื่องการเงิน
ว่า ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ไม่ทราบต้นทุนที่แท้จริง ไม่สามารถควบคุมงบประมาณ จึงมีผลต่อการวางแผนงาน
ไปจนถึงการกำหนดราคาขายสินค้า โดยส่วนใหญ่มองแต่ต้นทุนวัตถุดิบ
แต่ลืมคิดต้นทุนบริหารจัดการ ซึ่งมีผลต่อการบริหารต้นทุนกำไรและสภาพคล่องที่สมดุล
ดังนั้นการชี้แนะจุดอ่อนที่จำเป็นในเรื่องนี้จะช่วยให้ผู้ประกอบการมองเห็นข้อเท็จจริงในธุรกิจของตัวเองและหาจุดเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสม
สอดคล้องกับข้อชี้แนะของผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรม Layout Production "อิทธิพันธ์ อมรอรรถโกวิท" มองว่า
หากผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ต้องการพัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพในการแข่งขัน ต้องหันกลับมาดูเรื่องการวางแผนการทำงานอย่างมีระบบ
ลดของเสีย ลดขั้นตอนการทำงาน ลดต้นทุนที่ไม่จำเป็น
ด้วยนวัตกรรมซึ่งอาจจะไม่ต้องลงทุนสูงแต่ได้ผลทางบวก
ทั้งนี้มองว่าผู้ประกอบการที่พร้อมจะเปลี่ยนแปลงตัวเองจุดนี้ไปพร้อมกับพัฒนาส่วนอื่นจะดีมาก
ขณะที่ อมรชัย นาคศุภมิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบนวัตกรรม
(Innovation
Design) และ ดำรงค์ ตั้งธนากาล ผู้เชี่ยวชาญการวิเคราะห์สินเชื่อและการเงินจากSME
Bank มองตรงกันว่า
ผู้ประกอบการท้องถิ่นส่วนใหญ่ยัง ยึดติดกับสินค้าแบบเดิมๆ วิธีการบริหารและการตลาดแบบเดิมๆ
ขาดการวิจัยและพัฒนา ขาดดีไซน์ และนวัตกรรมใหม่ๆที่จะช่วยให้ขายความเป็นอัตลักษณ์นั้นออกไปอย่างเต็มที่
ไม่มีการโฟกัสลูกค้าเป้าหมายที่ชัดเจน เช่นสินค้าบางอย่างขายเฉพาะในท้องถิ่น
รู้จักวงแคบ ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ มุ่งแต่จะขายสินค้าให้ได้มากที่สุด ขายสินค้านั้นให้กับลูกค้าทุกกลุ่ม
ไม่เฉพาะเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งมีผลต่อสต็อคสินค้า รูปแบบของตัวสินค้าไม่ถูกพัฒนา
ขณะเดียวกันก็พบว่าในด้านบวกก็พบว่าลำปางมีจุดขาย และปัจจัยด้านการท่องเที่ยว ดังนั้นต้องผลิตสินค้าหรือพัฒนาบริการการท้องถิ่นให้เชื่อมโยงกับเรื่องราว
อัตลักษณ์ที่มีอยู่ให้เป็นโอกาสทางธุรกิจ
อย่างไรก็ตามคำถามที่หลายฝ่ายยังให้คามสนใจว่า
โครงการนี้จะนำพาผู้ประกอบการท้องถิ่นไปสู่การสปริงตัวเองขึ้นจากจุดเดิมได้มากน้อยแค่ไหน
นายกสมาคมการค้าเอสเอ็มอีไทย
กล่าวว่า ต้องยอมรับว่าหลายโครงการที่มีลักษณะการเทรนด์เป็นพี่เลี้ยงผู้ประกอบการให้พัฒนา
แต่เป็นโครงการที่ "เทรนด์แล้วทิ้ง" ขาดความต่อเนื่อง ดังนั้นโครงการนี้จะนำผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการทั้งหมด
แยกเป็นหมวดหมู่ตามความจำเป็นที่ต้องการพัฒนาแต่ละด้าน มีแผนงานติดตามโครงการในอีก
3 เดือนข้างหน้าเพื่อชี้แนะเป็นพี่เลี้ยงต่อไปจนสามารถเป็นกรณีตัวอย่างที่ชี้วัดความสำเร็จในการพัฒนาไปจากจุดเดิมได้อย่างน้อย
20 ราย และเป็นโมเดลตัวอย่างในระดับประเทศอย่างน้อย 3-5 ราย
ในส่วนของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ
สวนใหญ่มีความเห็นตรงกันว่า โครงการนี้เป็นหลักสูตร
การสร้างโมเดลธุรกิจที่ตรงไปตรงมา
มีหลักสูตรการวิเคราะห์ธุรกิจของตนเองที่ครอบคลุมสามารถประเมินเบื้องต้นให้มองเห็นทิศทางการปรับเปลี่ยนแผนการพัฒนาธุรกิจของตัวเองได้ง่ายกว่าหลายๆหลักสูตร
แต่เชื่อว่าส่วนหนึ่งอาจจะต้องอาศัยเวลาในการพัฒนาเนื่องจากข้อจำกัดของขนาดธุรกิจท้องถิ่นที่ไม่มีทีมบริหารที่เก่งพอ
ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจครอบครัวหรือที่เจ้าของดำเนินการเองเป็นหลัก
รวมถึงอุปสรรคเรื่องเงินทุน หากมีพี่เลี้ยงที่ชี้แนะนำทางไปอย่างน้อย 30-50 % จะมีผลต่อการเปลี่ยนแปลง
เช่นเดียวกับความเห็นของ
รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด(อบจ.)ลำปาง เกรียงเดช สุทธภักติ ซึ่งมีส่วนผลักดันโครงการนี้ให้เกิดที่ลำปาง
โดยเชื่อมโยงความร่วมมือกันกับภาคเอกชนที่มีบทบาททางเศรษฐกิจลำปาง มาร่วมกันจัดโครงการนี้กล่าวว่า
การพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปสู่ไทยแลนด์ 4.0
ไม่ใช่เรื่องเรื่องไกลตัวแต่ ต้องอาศัยปัจจัยหลายด้าน
ทั้งตัวผู้ประกอบการเองและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการส่งเสริมพัฒนาเศรษฐกิจและสถาบันการเงิน
และภาครัฐสนับสนุนให้สอดคล้องเป็นเรื่องเดียวกัน ลำปางเป็นเมืองที่มีของดี
แต่ขาดการยกระดับให้มีศักยภาพในการแข่งขันตามยุคสมัยหากดันให้ถูกจุดเชื่อว่ามีผลต่อการเปลี่ยนแปลงแน่นอน
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1116 วันที่ 10 - 16 กุมภาพันธ์ 2560 )
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น