เมื่อวันที่
14 มี.ค.60 ที่ผ่านมา ชาวเกษตรที่ปลูกข้าวโพดใน
อ.แม่ทะ ประมาณ 50 คน นำโดยนางศศิธร เครือดวงคำ ได้เดินทางมายื่นหนังสือต่อศูนย์ดำรงธรรมอำเภอแม่ทะ
พร้อมกับแนบรายชื่อเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน เพื่อขอให้ช่วยเหลือเรื่องปัญหาราคาข้าวโพดตกต่ำ
และขอให้ช่วยเรื่องหาเมล็ดพันธุ์ในฤดูกาลที่จะถึง เพราะที่ผ่านมาขาดทุนจนไม่มีทุนมาทำต่อ
นางศศิธร เครือดวงคำ
ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด กล่าวว่า เนื่องจากราคาข้าวโพดตกต่ำลงอย่างมาก
ไม่พอที่จะขายได้และนำเงินมาเป็นต้นทุนในการผลิตครั้งต่อไป
และยังไม่พอจะใช้หนี้คืนให้กับธนาคารเพื่อการเกษตรฯ และกลุ่มวิสาหกิจต่างๆที่เกษตรกรได้กู้ยืมมา
ทั้งที่หน่วยงานจะให้ความช่วยเหลือในการจ่ายคืนดอกเบี้ยก็ตาม นอกจากนั้นค่าปุ๋ย
ค่าเมล็ดพันธุ์ ยาฆ่าหญ้า ก็ไม่มีเพียงพอที่จะไปจ่ายหนี้สินส่วนนี้
เพราะต้องใช้จ่ายเป็นค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายในครอบครัวไปทั้งหมด ไม่มีแม้แต่ค่าไถ หยอดในฤดูกาลต่อไป ซึ่งเกษตรกรต้องทำการเพาะปลูกในเดือน
พ.ค.-ก.ค. นี้
ตอนนี้ก็ยังไม่มีต้นทุนที่จะซื้อเมล็ดพันธุ์
เมื่อไม่ได้ชำระหนี้สินเดิมที่ไปกู้มา จึงไม่สามารถกู้เงินใหม่ได้
จากต้นทุนค่าซื้อเมล็ดพันธุ์
5,823 บาทต่อตัน
แต่ขายผลผลิตได้เพียง 5,200 บาทต่อตันเท่านั้น และบางพื้นที่ก็เจอปัญหาน้ำฝนมาก
ทำให้เกิดน้ำขังในไร่ข้าวโพด เมื่อเก็บเกี่ยวก็ไม่ได้น้ำหนักเท่าที่เคยได้
หากไม่ทำไร่ข้าวโพดชาวบ้านก็ไม่รู้จะไปทำอะไรเพื่อหาเงินใช้หนี้ในตอนนี้
จะหากู้นอกระบบก็ส่งดอกเบี้ยไม่ไหว
ดังนั้นจึงได้รวมตัวกันเพื่อมาขอความช่วยเหลือจากศูนย์ดำรงธรรม อ.แม่ทะ นางศศิธร กล่าว
ตัวแทนเกษตรกรปลูกข้าวโพด กล่าวอีกว่า ถึงแม้ว่าจะมีสหกรณ์การเกษตรตำบล
แต่ปรากฏว่าราคารับซื้อข้าวโพดยังต่ำกว่าของเอกชนอีก
นอกจากนั้นยังมีปัญหาอีกหลายเรื่อง เช่น ราคาซื้อขึ้นอยู่กับ เจ้าหน้าที่จะกำหนดเองไม่มีมาตรฐาน
ตั้งเงื่อนไขมากมาย ไปซื้อข้าวโพดราคาถูกจากต่างอำเภอมาเก็บไว้
แต่พออบไล่ความชื้นไม่ทันก็เสียหาย ทั้งๆที่มีเงินสนับสนุนจาก ธกส. มา 3 ล้านต่อปี
แต่เหมือนไม่ได้ช่วยอะไร ในขณะที่เอกชนสามารถรับซื้อได้ในราคาสูงกว่า จึงดูเหมือนว่าสหกรณ์การเกษตร
คือพ่อค้าคนกลางเพิ่มมาอีกคนหนึ่งเท่านั้น
ด้านนางสุพัตรา เสนา
ผู้จัดการสหกรณ์การเกษตร ต.แม่ทะ กล่าวว่า ที่เอกชนซื้อราคาดีเพราะข้าวโพดมีคุณภาพกว่า และมีความสามารถในการจัดการดีกว่า เช่น มีรถขนเอง มีที่เก็บสต๊อกของเอง
แต่ถ้าสมาชิกมาขายที่ สกต.มั่นใจได้ว่าเรื่องการตรวจความชื้นจะเป็นธรรมแน่
ซึ่งมีผลต่อราคาและน้ำหนักด้วย การนำไปข้าวโพดไปขายให้ ทางบริษัทซีพี และบริษัท เบทาโกร
มีเงื่อนไขมากมาย
เช่นต้องมาจากพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิตามนโยบายรัฐบาลที่ห้ามปลูกในที่ป่า
ความชื้นต้องไม่เกิน 18 เปอร์เซ็นต์ และถึงแม้ว่าทาง ซีพี
จะมีโครงการรับซื้อหน้าโรงงาน โดยไม่ต้องรอคิวขาย
แต่เกษตรรายย่อยมีจำนวนไม่พอต้องมาส่งที่สหกรณ์การเกษตรตำบลดำเนินการแทน
นอกจากนั้นโรงงานจะรับซื้อข้าวโพดนอกที่ดินเอกสารสิทธิด้วยราคาที่ต่ำ
ทางผู้จัดการยังกล่าวอีกว่าปัญหาหลักๆที่ผ่านมาก็คือเรื่องของคุณภาพ
และห้วงเวลาที่ข้าวโพดออกสู่ตลาด และไม่สามารถกำหนดราคาได้ล่วงหน้า
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับวันที่ 17-23 มีนาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น