เวลาที่นักวิชาการ หรือนักวิพากษ์สังคม
วิพากษ์ปรากฏการณ์สื่อหนังสือพิมพ์ เช่น อนาคตของหนังสือพิมพ์
ที่อยู่ในภาวะใกล้ตาย ความรุ่งเรืองไพบูลย์ของสื่อออนไลน์ สื่อทีวีดิจิตอล
ที่จะเข้ามาเป็นอนาคตของการสื่อสารยุคใหม่ พวกเขาต่างมองข้าม หนังสือพิมพ์ท้องถิ่น
หรือหนังสือพิมพ์บ้านนอกที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศนี้ไปทั้งสิ้น
ทั้งที่ในบรรดากลุ่มสื่อทั้งหลาย
หนังสือพิมพ์บ้านนอก ยังมีโอกาสมากที่สุด สำหรับการนำเสนอข่าวที่มุ่งตลาดเฉพาะ
หรือ Niche
Market เช่น ข่าวชุมชน ข่าวธุรกิจ เศรษฐกิจ ในชุมชน
ข่าวการเมืองท้องถิ่น ข่าวคุณภาพชีวิตและสิ่งแวดล้อม
โดยเฉพาะหากจะพูดถึงคุณภาพข่าว
ที่หนังสือพิมพ์กระแสหลักในเมืองใหญ่ ต่างอ่อนแรง ง่อยเปรี้ยเสียขา
แทบไม่มีฉบับไหน ทำข่าวในเชิงสืบสอบ สอบสวน – Investigative Reporting อีก
นอกจากการไปสอยเอาข่าวคุณภาพต่ำ หรือข่าวเลื่อนลอย จากสื่อสังคมออนไลน์มาใช้
จนในบางครั้งถึงตกหลุมดักควาย
มีผู้ตั้งคำถามวิจัยว่า
เหตุใดหนังสือพิมพ์บ้านนอก จึงไม่ค่อยได้ทำข่าวเชิงสืบสวน สอบสวน
หรืออาจไม่มีแรงกดดันในแง่การแข่งขัน ไม่มีประเด็น ไม่มีเวลาคิด ไม่มีเวลาวางแผน
การทำข่าวอาชญากรรม หรือข่าวประจำวันที่มีสีสัน เร้าใจ
มีเนื้อหาที่ตอบสนองสัญชาตญาณความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์เท่านั้น ก็น่าจะเพียงพอ
ไม่เหนื่อย ไม่เปลืองแรง ไม่เปลืองมันสมอง
คำตอบอาจมีหลากหลาย
อาจมีทั้งคนบ้านนอกเขาไม่สนใจข่าวที่มีสาระ เสนอข่าวเรื่องเพศ ฆาตกรรม
อาชญากรรมรูปแบบต่างๆ เท่านั้นก็ขายได้มีคนอ่าน หรือทำดีไป พยายามมากเกินไป
ก็ไม่ได้ทำให้กิจการร่ำรวยมีเงิน มีทองมากขึ้น
ทั้งคำตอบดูแคลนผู้บริโภคข่าวสาร
และคำตอบแบบทำข่าวที่ขายได้ สะท้อนจิตสำนึกความไม่รับผิดชอบ
และมุ่งแต่ผลประโยชน์ในเชิงรายได้ มากกว่าการคำนึงถึงบทบาทหน้าที่บนพื้นที่สาธารณะ
ซึ่งเป็นโรคร้ายของสื่อส่วนกลางขณะนี้
เรา-ลานนาโพสต์
หนังสือพิมพ์บ้านนอกของคนลำปาง กำลังท้าทายทฤษฏี “ข่าวดีขายไม่ได้
ข่าวร้ายขายดี” ด้วยการรายงานข่าวเชิงสืบสวน สอบสวน เรื่องทุจริตสร้างสนามกีฬา
7 แห่ง ภายใต้ความรับผิดชอบของศูนย์สร้างทางลำปาง
ลานนาโพสต์ เกาะติดข่าวการก่อสร้างสนามกีฬาแห่งใหม่มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม
2556 โดยนายธวัชชัย
เทอดเผ่าไทย ผู้ว่าราชการจังหวัดในขณะนั้น มีโครงการที่จะก่อสร้างสนามกีฬาจังหวัดลำปาง
งบประมาณก่อสร้าง 500 ล้านบาท
โดยความร่วมมือระหว่าง 3 หน่วยงาน
ประกอบด้วย จังหวัดลำปาง อบจ. และ
กกท. จะดำเนินก่อสร้างบริเวณด้านหลัง อบจ.ลำปาง พื้นที่ 230 ไร่
เสร็จแล้ว กทท.จะมอบให้กับ อบจ.เป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาต่อไป และคาดว่าในปี 2558 จะเริ่มการก่อสร้าง
จะก่อสร้างแล้วเสร็จ ในปี 2560 เพราะงบประมาณ 500 ล้าน
เป็นงบประมาณผูกพัน 3 ปี
แต่ล่าสุด ยังไม่พบการก่อสร้างสนามกีฬาดังกล่าวมีความคืบหน้าแต่อย่างใด
สนามกีฬานี้อยู่ในความรับผิดชอบของศูนย์สร้างทางลำปาง
โดยศูนย์สร้างทางลำปาง ยังรับผิดชอบสร้างสนามกีฬาอีก 6 แห่งทั่วประเทศ นอกจากลำปางแล้ว ยังมี
สกลนคร สระบุรี 2 แห่ง นราธิวาส สมุทรปราการ และสระแก้ว ทั้ง
7 สนามนี้ยังไม่คืบหน้าทั้งสิ้น
ความยากลำบากของข่าวนี้
คือความเป็นหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ที่ไม่ได้มีเงินทุน มีเครื่องไม้เครื่องมือ
เครือข่ายที่จะครอบคลุมสนามกีฬาทั้งหมด แต่ก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเข้าถึงแหล่งข่าวเท่าที่จะเป็นไปได้
โดยเป็นแหล่งข่าวที่สามารถให้ข้อมูลที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ เช่น
ผู้ว่าการสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
ความไม่ชอบมาพากล
ที่สตง.ตามดมกลิ่นจนพบ กำลังคลี่คลายความจริงออกมาทีละเปลาะ
กำลังใกล้เข้าไปถึงตัวบุคคลทุกที เป้าหมายของเราคือจับทุจริตคนโกงชาติ
นำไปสู่การดำเนินคดี และการกระตุ้นให้สื่อท้องถิ่นทั้งระบบ ได้ตื่นตัวทำหน้าที่
แสดงบทบาทของสื่อในการตรวจสอบคอรัปชั่น ในท่ามกลางความอ่อนแอของสื่อเมืองกรุง
ประสา
“ม้าสีหมอก” ที่ทำหนังสือพิมพ์ใหญ่ในเมืองมาเกือบทั้งชีวิต บอกได้ชัดเจนว่า
นาทีนี้หากมุ่งมั่นตั้งใจ หนังสือพิมพ์บ้านนอกมีโอกาสคว่ำหนังสือบางกอกไม่ยากเย็น
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์
ฉบับที่ 1122 วันที่ 24-30 มีนาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น