หากไม่บอกว่า นี่คืองานรถม้ารถไฟลำปาง
งานประเพณีสำคัญที่อวดความเป็นเมืองเล็กๆน่ารัก ที่มีประวัติศาสตร์อันควรภาคภูมิใจ
ก็แทบจะเรียกได้ว่านี่คืองานวัดธรรมดาๆนี่เอง หรือถ้ายกระดับให้ดูดี มีชาติตระกูลสักเล็กน้อย
ก็เทียบเท่างานฤดูหนาว ที่ขึ้นหน้าขึ้นตาของเมืองนี้
เพราะในขณะที่นิทรรศการ
ความสำคัญทางประวัติศาสตร์ของงานรถม้ารถไฟ ถูกซุกไว้ในที่แคบๆ แต่คาราวานสินค้า
ทั้งขนมเบื้อง น้ำหวานสีสดใส เสื้อผ้านานาพรรณ เครื่องประดับ
ของใช้เบ็ดเตล็ดราคาเดียว ผุดพราวราวดอกเห็ดในฤดูฝน เดินเล่นได้เพลิดเพลิน
แต่หาคุณค่าให้สมราคาความเป็นงานรถม้ารถไฟลำปางไม่ได้
มีม้าหมุน
ชิงช้าสวรรค์ สัญลักษณ์ความเป็นงานวัดอย่างโดดเด่น
นี่ควรตั้งคำถามว่า
แม่งานใหญ่คือจังหวัด และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กระนั้นหรือ
มีฝีมือจัดงานสำคัญได้เพียงนี้หรือ
แล้วสุวัฒน์
พรหมสุวรรณ พ่อเมือง ที่เคยขึ้นชื่อลือชาสมัยเป็นพ่อเมืองน่าน
มิได้คิดอ่านให้การจัดงานนี้สมราคาและทำให้คนจดจำสุวัฒน์ พรหมสุวรรณ
ในฐานะพ่อเมืองลำปางอีกสถานะหนึ่งหรือ
สืบค้นจากเว็บไซต์ของปศุสัตว์ลำปาง
ก็ได้เห็นพัฒนาการของรถม้า และรถไฟที่หากคนจัดเข้าถึงรากเหง้าและเข้าใจประวัติศาสตร์มากกว่าการคิดเอางานทำมาหากินให้คาราวานสินค้ายึดพื้นที่จัดงานเทศกาลขายของความเป็นประวัติศาสตร์รถม้ารถไฟก็จะเด่นชัดและเป็น
แลนด์มาร์คสำคัญที่ถนนทุกสายจะมุ่งมาสู่
เมื่อ ปี 2458 สมัยของเจ้าบุญวาทย์มานิตตรงกับสมัยรัชกาลที่
5 รถ ม้าคันแรกได้ถูกซื้อมาจากกรุงเทพฯ
เนื่องจากสมัยก่อนรถม้าจะนิยมใช้อยู่ในกรุงเทพฯ ในหมู่ของเจ้าขุนมูลนาย
และใช้เป็นรถประจำตำแหน่งของข้าราชบริพารชั้นผู้ใหญ่ในราชสำนัก
นอกจากนั้นยังได้กระจายไปสู่เมืองหลักของภาคต่างๆ
ได้แก่ นครราชสีมาของภาคอีสาน นครศรีธรรมราชของภาคใต้ นครเชียงใหม่ เมืองเชียงราย
เมืองแพร่ เมืองน่าน เมืองแม่ฮ่องสอนของภาคเหนือ แต่ด้วยเหตุใดไม่ปรากฏผู้ประกอบการรถม้าในเมืองทั้งหมดนั้นจึงเลิกกิจการไป
เหลือเพียงแต่ที่ลำปาง
ในเดือน เมษายน พ.ศ. 2459 หรือวันปีใหม่ไทย
ซึ่งตรงกับสมัยรัชกาลที่ 6 ในครั้งนั้นมีรถม้าที่เรียกกันว่ารถม้าแท็กซี่คอยรับผู้โดยสารจากสถานีรถไฟเข้าสู่ตัวเมืองนครลำปางแล้ว
ในปี พ.ศ. 2464 เมื่อขบวนรถไฟมาถึงสถานีรถไฟนครลำปาง
และพัฒนาด้วยการขุดเจาะอุโมงค์ขุนตาลผ่านภูเขาไปถึงนครเชียงใหม่ จนกระทั่ง ปีพ.ศ. 2492
กิจการรถม้าได้ดำเนินต่อเนื่องเรื่อยมาได้ 34 ปี
จึงได้มีผู้ก่อตั้งสมาคมล้อเลื่อนจังหวัดลำปางขึ้น โดยขุนอุทานคดี เป็นผู้ริเริ่มและยังดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนแรกที่ได้ร่างกฎระเบียบว่า
ด้วยสมาคมขึ้น
ต่อมาในปี พ.ศ. 2495 เจ้าบุญส่ง
ณ ลำปาง เข้ามาบริหารงานและได้เปลี่ยนชื่อสมาคมเป็นสมาคมรถม้าจังหวัดลำปาง (THE
HORSE CARRIAGE IN LAMPAMG PROVINCE) และได้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคมคนที่สอง
รถม้าลำปางได้เจริญขึ้นอย่างรวดเร็ว
ปี พ.ศ.2500
รถม้าของจังหวัดลำปางมีถึง 185 คัน ซึ่งถือได้ว่ามีมากที่สุด
ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งสมาคมรถม้าขึ้น รถม้าในจังหวัดลำปาง เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Queen Victoria จะ มีล้อ 4 ล้อ เบาะหลังเป็นเก๋ง เป็นเบาะใหญ่ นั่งได้ 2 คน
และม้านั่งเสริม สามารถนั่งได้อีก 2 คน รวมแล้วรถม้าคันหนึ่ง ถ้าเป็นคนไทย
หรือตัวไม่ใหญ่มาก นั่งได้ 4 คน ปกติแล้ว รถม้ารับฝรั่ง จะนั่งเพียง 2 คน
ปี พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์
ธนะรัชต์ ได้มอบเงินให้แก่เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง
และได้ขอรับรถม้าเข้าไว้ในความอุปถัมภ์ให้รัฐบาลช่วยเหลือสมาคมรถม้าและตั้ง
กองทุนให้สมาคมรถม้าอีก 1 กองทุน
20 เมษายน พ.ศ.2507
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ
พระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าลูกยาเธอได้เสด็จพระราชดำเนินมายังจังหวัดลำปาง
ในโอกาสนั้น เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง นายกสมาคม ได้น้อมเกล้าฯ ถวายรถม้าแบบ 2 ล้อ พร้อมด้วยม้าเทียมรถชื่อบัลลังก์เพชรแด่พระเจ้าลูกยาเธอ
เจ้าฟ้าวิชราลงกรณ์ ในนามของเจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง และสมาคมรถม้า
ซึ่งชาวรถม้าถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง
หากลึกซึ้งเรื่องประวัติศาสตร์รถม้ารถไฟลำปาง
ไม่เพียงเป็นความภาคภูมิใจของคนลำปางทั้งระบบ หากเมื่อคราวที่เจ้าบุญส่ง ณ ลำปาง
น้อมเกล้าถวายรถม้า “บัลลังค์เพชร” แด่พระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าวชิราลงกรณ์
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวองค์ปัจจุบัน ก็ควรค่าแก่การบันทึกไว้ และทำให้งานปีนี้
ทรงคุณค่า เป็นที่จดจำของคนไทยทั้งประเทศด้วย
น่าเสียดายที่วิสัยทัศน์ของคนจัดงาน
คิดได้แค่งานขายของเท่านั้น
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ 1124 วันที่ 7-20 เมษายน 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น