วันศุกร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2560

โค้งสุดท้ายกฎหมายกดหัวสื่อ

จำนวนผู้เข้าชม http://www.hitwebcounter.com/

พลันที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ประกาศใช้บังคับ ความพยายามที่จะผลักดันร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ก็อาจมีเหตุต้องสะดุดหยุดลง ด้วยเวลาที่เหลืออยู่ราว 4 เดือนจากนี้ของ สปท.และเงื่อนไขสำคัญบางประการในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

ถึงกระนั้นก็ยังมิอาจวางใจ และสมควรต้องศึกษาทบทวน ร่างกฎหมายทั้ง 6 ฉบับว่ามีเนื้อหา มีสาระสำคัญอย่างไร อาจบางทีเราปฏิเสธกฎหมายไม่ได้ทั้งหมด แต่แค่ไหน เพียงใดที่เรารับได้ หากไม่เอากฏหมายเผด็จการเข้ม ของ สปท.

ไล่เรียงจากร่างพระราชบัญญัติคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ และส่งเสริมมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชนยุคพรรคประชาธิปัตย์ เป็นกฎหมายที่ให้หลักประกันในการเสนอข่าว และแสดงความคิดเห็นของพนักงาน  ลูกจ้างทั้งของรัฐและเอกชน ที่จะไม่ตกอยู่ภายใต้อาณัติของหน่วยราชการ หรือเจ้าของกิจการนั้น ซึ่งเนื้อหาหลักตรงกับร่างที่เสนอโดย องค์กรสื่อ ความแตกต่างอยู่ที่ การกำหนดให้มีคณะกรรมการควบคุมจริยธรรมในองค์กรสื่อทั้งส่วนกลางและภูมิภาค

ร่างพระราชบัญญัติการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ของคณะอนุกรรมาธิการศึกษากฏหมายเกี่ยวกับการจัดตั้งองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชน เพื่อปกป้องสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม คุ้มครองสวัสดิภาพ และสวัสดิการของสื่อมวลชน สปช.หลักการเดียวกับร่างของคณะอนุกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปด้านสื่อสิ่งพิมพ์ สปท.คือเป็นการกำกับร่วมระหว่างสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ และสภาวิชาชีพในปัจจุบัน

โดยการออกแบบให้เป็นการกำกับกระบวนการในการกำกับ ดูแลกันเองไม่ได้กำกับผู้ประกอบวิชาชีพโดยตรง

ร่างพระราชบัญญัติฉบับของกรรมาธิการ มีพล.อ.อ.คณิต สุวรรณเนตร เป็นประธาน หลักการคือกำกับโดยอำนาจรัฐผ่านระบบใบอนุญาต และตัวแทนในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ หลักการคล้ายกับ ร่าง พ.ร.บ.สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ ของ สนช.แตกต่างเพียง การให้ใบอนุญาตและเพิกถอนใบอนุญาตอยู่ที่สภาวิชาชีพที่กำกับ ดูแลกันเอง และตัวแทนภาครัฐ ใช้คำว่าตัวแทน ไม่ได้กำหนดตำแหน่งชัดเจนเช่น ร่างของ สปท.

ร่างสุดท้ายนี้เป็นร่างที่มีปัญหา และกรรมาธิการสื่อ สปท.พยายามคิดสูตรภายใต้หลักการเดิม คือการให้มีใบอนุญาตและตัวแทนรัฐในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติให้ได้ แต่ยังรีรอดูท่าทีฝ่ายองค์กรวิชาชีพสื่ออยู่ ซึ่งเมื่อระยะเวลาเหลือเพียงราว 4 เดือน ก็มีความเป็นไปได้ ที่พวกเขาอาจยอมจำนน ไม่ผลักดันต่อ

อีกทั้งการอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ มาตรา 77 เขียนไว้ว่า รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเท่าที่จำเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ ก่อนการตรากฎหมาย รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ

แปลว่า นี่ก็เป็นช่องทางหนึ่งที่จะคัดง้างกับ ร่างพ.ร.บ.คุ้มครองสื่อได้

ดีที่สุด ถ้าเป็นไปได้ คือสกัดกั้นกฎหมายทุกฉบับ แต่ก็ต้องเตรียมตอบคำถามการใช้เสรีภาพด้วยความรับผิดชอบให้ได้ผลอย่างจริงจังด้วย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ 1124 วันที่ 7-20 เมษายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์