วันศุกร์ที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2560

สร้างแบรนด์พลิกชีวิต ชาวดินเซรามิครอดตาย ผันตลาดบ้านๆสู่-ออนไลน์ โน้ส อุดมจุดประกาย

จำนวนผู้เข้าชม http://www.hitwebcounter.com/

ใครๆก็รู้ว่าลำปางเป็นแหล่งผลิตเซรามิคมากมายหากแต่ในปัจจุบันโลกของงานเซรามิคก็เปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย และการแข่งขันให้ต้องตอบโจทย์ความต้องการใช้งานของผู้ซื้อเช่นกัน

การเปลี่ยนแปลงท่ามกลางกระแสสังคมที่กำลังก้าวไปสู่ยุคดิจิทัล ผู้ประกอบการรายเล็กรายน้อยต้องปรับกระบวนทัศน์และกลยุทธ์ แต่ก็น้อยรายนักที่จะก้าวไปแตะเป้าหมายที่ตัวเองปรารถนา

ชาวดินเซรามิค เป็นอีกหนึ่งในผู้ประกอบการเซรามิครายเล็กที่ปรับตัวครั้งแล้วครั้งเล่าฟันฝ่าอุปสรรคท่ามกลางเศรษฐกิจถดถอย จนประสบความสำเร็จในการสร้างฐานตลาดของตัวเองด้วยระบบการขายออนไลน์ได้อย่างน่าทึ่ง

จากโรงงานผลิตกระดิ่งโมบาย และแมวเกาะขอบโอ่งเล็กๆ ขายงานให้กับพ่อค้าคนกลางตามวิถีของโรงงานขนาดเล็กมานานกว่า 30 ปี แต่การเติบโตของธุรกิจโรงงานเซรามิคไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ต้องฟันฝ่าการแข่งขันราคา และปัญหาการลอกเลียนแบบในกลุ่มโรงงานด้วยกันเองอยู่ตลอดเวลา

จุดพลิกผันมาสู่การเปลี่ยนแปลงอีกครั้ง เมื่อ “แพร” วรรณกร นภาวรรณ ทายาทคนเดียวของ “กฤษ นภาวรรณ” ผู้ก่อตั้งโรงงานชาวดินเซรามิค ทิ้งความฝันเส้นทางการทำงานสายนิเทศ กลับมาเป็นลูกสาวเจ้าของโรงงานที่ต้องทำทุกอย่าง การค้นหาตัวเองและมองหาโอกาสของช่องทางตลาดที่เหมาะกับโรงงานไซส์เล็ก เปลี่ยนแนวการผลิตจากสินค้าเดิมๆมาเป็นกระถางต้นไม้ ด้วยความชอบต้นไม้เป็นการส่วนตัวเป็นทุนทางความคิดและแรงบันดาลใจ แล้วพุ่งเป้าหมายไปยังตลาดที่เฉพาะเจาะจงคือกลุ่มลูกค้าคนรักต้นไม้ ภายใต้แนวคิด “From a tree lover to a tree caretaker” ได้รับรางวัล สุดยอด SME จังหวัด (SME PROVINCIAL CHAMPIONS) ปี2559ไปหมาดๆ

"เป็นที่รู้กันดีว่าธุรกิจโรงงานเซรามิค ต้องเหนื่อยจากการแข่งขันรอบด้าน ก่อนที่แพรจะกลับมาช่วยพ่อทำโรงงาน แพรมีหน้าที่การงานที่ค่อนข้างลงตัวแล้วในบริษัทแกรมมี่ แต่ด้วยสถานะของโรงงานย่ำแย่ลงมาก ขาดสภาพคล่องจนโรงงานอาจจะไปไม่รอด ถ้าไม่สู้ต่อก็ต้องปิดตัวลง แต่พ่อพูดมาประโยคหนึ่งว่าต้นตระกูลเราทำเซรามิคมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เราจะทิ้งหรือปล่อยมือไปจริงๆเหรอ...คำพูดนั้นทำให้แพรต้องทบทวนจุดเปลี่ยนสำคัญที่มีผลต่อการตัดสินใจกลับมาทำโรงงาน อีกอย่างหนึ่งคือ ต้องขอบคุณ พี่โน้ส อุดม แต้พานิช มากเพราะในช่วงที่แพรต้องตอบตัวเองว่าจะสู้ต่อเพื่อโรงงานหรือไม่นั้นแพรไปนั่งที่ร้านไอเบอรี่ ของพี่โน้สที่เชียงใหม่ นั่งนานมากจนพี่โน้สเข้ามาคุย คุยกันไปมาเขาก็บอกว่า งานเซรามิคแบบที่เขาต้องการหาโรงงานทำให้ยากมากเลยจะให้แพรทำต่อแพรบอกว่าแพรทำไม่เป็นพี่โน้สเลยขอมาเยี่ยมชมโรงงาน และเชียร์ให้แพรกลับมาทำโรงงาน ด้วยการสั่งผลิต แก้วเซรามิค รุ่นลิมิเต็ด เดี่ยว 7 ซึ่งเป็นลูกค้ารายแรกที่จุดประกายไฟทุกสิ่งให้ชาวดินเซรามิคพลิกฟื้นมาถึงทุกวันนี้"

โจทย์ที่ยากของออเดอร์แรกจากโน้ส อุดม แต้พานิช คือการผลิตจากแนวการเผาแบบญี่ปุ่น(บารากุ) และทุกชิ้นเป็นชิ้นเดียวในโลก ผลักดันให้แพรต้องศึกษาวิธีการทำเซรามิคอย่างจริงจังอยู่หลายเดือน หลังจากแจ้งเกิดในชิ้นงานที่ใช้โชว์เดี่ยวไมโครโฟน 7 “แพร” ทำทุกวิถีทางให้รู้จักตลาดและกระบวนการผลิตไปจนถึงการขนส่งให้ก้าวเดินให้พลาดน้อยที่สุด แต่ทางตันของการตลาดที่น่าหดหู่คือ การกดราคาจากพ่อค้าคนกลาง และการลอกเลียนแบบแล้วผลิตขายแข่งตัดราคากันเองของโรงงานเซรามิค

“แพรเจอทางตันเรื่องการแข่งขันราคา ธุรกิจเซรามิคทำซ้ำกันง่าย เราวางขายสักพักก็มีเหมือนเราเต็มท้องตลาด ทั้งๆที่รู้ว่ามันเสียกลไกตลาดเขาก็ยังแข่งกันวิธีเดิมๆ มันทำให้ท้อแทบจะถอดใจ จึงกลับมาตั้งหลักใหม่  เราเปลี่ยนคนอื่นไม่ได้ก็เปลี่ยนที่เราโดยเริ่มสำรวจความต้องการตลาดให้บวกกับความชอบความรักที่จะทำเพื่อเป้าหมายที่จะทำให้ชาวดินเซรามิคเป็นแบรนด์ที่แข็งแรง ด้วยสินค้าที่มีคุณภาพ มีสไตล์เป็นของตัวเอง และราคาจะไม่มีผลต่อการตัดสินใจซื้อ และจะประกาศตัวเป็นโรงงานเซรามิคที่ไม่ขายของราคาถูกแต่ไม่มีคุณภาพอีกต่อไป”

จากปณิธานของการวางเป้าหมาย เป็นแรงขับให้"แพร" วางตัวเองมุ่งไปสู่การผลิตชิ้นงานที่แตกต่าง เริ่มจากงานกระถาง แนวสีสันสดใส มีสไตล์ใหม่ๆทั้งตั้งโต๊ะและแขวน ดีไซน์เป็นธีมต่างๆ เช่น กระถางรูปผลไม้ สัตว์ พัฒนาเรื่อยไปจนเป็นผู้ผลิตกระถางต้นไม้ที่มีตัวตนเด่นชัดเรื่องของสีและดีไซน์ เข้าถึงลูกค้ากลุ่ม"สายหวาน" นั่นคือผู้หญิงที่รักต้นไม้เป็นหลัก ส่วนสินค้าทั่วไปยังมีไว้สนองผู้ซื้อไปตกแต่งบ้าน หรือแม้กระทั่งวางบนโต๊ะทำงานเก๋ไก๋ ในราคาที่ลูกค้าพึงพอใจ

หลังจากค้นหาตัวตนของสินค้าที่เด่นชัดแล้ว แนวทางแก้ปัญหาเรื่องการตลาดและขนส่ง เป็นการบ้านที่แพรต้องแก้โจทย์อย่างหนักเริ่มจากการแพ็คสินค้าให้รองรับความเสี่ยงในการขนส่งให้สูญเสียน้อยที่สุดส่วนเรื่องตลาดก็เปลี่ยนเส้นทางการขายแบบเดิมๆที่ต้องเอางานไปเสนอให้กับร้านค้าในลำปาง เชียงใหม่ ซึ่งไม่ได้ผลตอบรับที่ดีนัก ไปเสนอขายในภาคใต้และอีสานแทน จากนั้นศึกษาระบบการขายออนไลน์และนำแบรนด์ "ชาวดิน " สู่ตลาดอีคอมเมิร์ซ ในระยะ 2 ปี ที่ผ่านมาได้สำเร็จ

“เมื่อเราเจอปัญหากดราคาจากร้านค้า พ่อค้าคนกลาง ก็แก้ด้วยการหาคู่ค้าที่ชอบและต้องการขายสินค้าแนวของเรา ในรูปแบบของตัวแทนจำหน่าย ตั้งแต่ขนาดลงทุนหลักพัน จนถึงหลักแสน ล่าสุดเราเป็นคู่ค้ากับผู้จำหน่ายวัสดุก่อสร้างและตกแต่งบ้าน “ดูโฮม (Dohome)” และองค์กรธุรกิจหลายแห่ง ทั้งหมดนี้หมายถึงเรา มียอดสั่งซื้อที่แน่นอน สามารถบริหารจัดการส่วนโรงงานได้ง่ายกว่า นอกจากนี้เรายังมีลูกค้าทั่วไปที่ซื้อราคาปลีกผ่านแฟนเพจ และโซเชียลทุกช่องทางที่โรงงานสร้างเป็นหน้าร้านเพื่อประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักในต่างจังหวัดเราจะบอกลูกค้าที่สะดวกไปซื้อที่ตัวแทนจำหน่ายสาขาที่ใกล้ที่สุดในราคาเดียวกันทั่วประเทศ คู่ค้าเราก็ขายได้ โรงงานก็อยู่ได้ นี่คือหลักการทำตลาดที่เราเดินไปพร้อมกันมั่นคง”

จากโรงงานที่กำลังจะปิดตัวมีหนี้หลายล้านบาท ไม่มีทางออก ในระยะ ไม่เกิน 5 ปี ชาวดินเซรามิค พิสูจน์แล้วว่า หนทางของการสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งด้วยการขายสินค้าที่ใส่ใจเรื่องของไอเดียโดนใจ ซึ่งลูกค้าพึงใจจ่าย ทำให้ปัญหาการแข่งขันราคาราคาไม่ใช่อุปสรรคอีกต่อไปแต่ความจริงใจ ซื่อสัตย์ต่อลูกค้าด้วยการผลิตสินค้าที่มีคุณภาพที่ดีที่สุด สวยที่สุด และมีแหล่งกระจายสินค้ามากที่สุด เป็นผลสำฤทธิ์ก้าวที่เติบโตทางธุรกิจ "มาถึงวันนี้แพรอยากจะพูดว่า ชาวดินเซรามิค ต้องขอบคุณคนที่เป็นกำลังใจอยู่เบื้อหลัง คือครอบครัว รวมถึง “อาอ๊อด” อนุรักษ์ นภาวรรณ โรงงานอินทราเซรามิค ที่มีส่วนผลักดันให้การสนับสนุนสร้างแบรนด์ชาวดินเซรามิคให้มาถึงจุดนี้" แพรย้ำว่า ชาวดินเซรามิคไม่ได้อยากเป็นโรงงานอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่แต่ยังคงเป็นโรงงานขนาดเล็กๆที่ทำงานสร้างรายได้อย่างมีความสุข เป็นส่วนหนึ่งที่สร้างชื่อเสียงให้กับลำปาง ให้สมกับเป็นเมืองที่เป็นแหล่งผลิตเซรามิคที่สำคัญของประเทศไทย

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ 1124 วันที่ 7-20 เมษายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์