คสช. ใช้มาตรา 44
ออกคำสั่งเพิ่มความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมาย และความปลอดภัยแก่ผู้ใช้รถใช้ถนน
ผมสรุปสาระสำคัญของมาตรการดังกล่าวมาให้เข้าใจกันง่ายๆ ดังต่อไปนี้ครับ
* ได้ใบสั่ง แต่ไม่จ่ายค่าปรับ
งดต่อภาษี
เป็นที่ถกเถียงกันมานาน
สำหรับกรณีที่โดนใบสั่ง แล้วไม่ได้ชำระ จะต่อทะเบียน เสียภาษีประจำปีได้หรือไม่
วันนี้มีความชัดเจนขึ้นแล้ว หากใบสั่งออกให้หลังจากวันที่ 21
มีนาคม 2560 ต้องเสียค่าปรับให้ครบถ้วน ไม่เช่นนั้น
จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย และงดออกป้ายการเสียภาษี ขั้นตอนการออกใบแจ้งเตือน
เมื่อผู้ขับขี่ได้รับใบสั่ง แล้วไม่ชำระค่าปรับหรือชำระไม่ครบถ้วน
พนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งสารวัตรขึ้นไป
จะออกหนังสือแจ้งการไม่ปฏิบัติตามใบสั่งไปให้ผู้ขับขี่ทราบไปก่อน ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระค่าปรับตามที่ระบุในใบสั่ง
และให้ผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถชำระค่าปรับที่ค้างชำระ ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง
หากเจ้าของรถไม่ชำระค่าปรับภายใน
15 วัน พนักงานเจ้าหน้าที่จะแจ้งจำนวนค่าปรับที่ค้างชำระพร้อมหลักฐาน
ไปยังนายทะเบียน
ให้ตรวจสอบข้อมูลและแจ้งให้ผู้มาติดต่อชำระภาษีประจำปีสำหรับรถคันนั้นทราบอีกครั้ง
เพื่อไปชำระค่าปรับที่ค้างชำระภายใน 30 วัน
นับตั้งแต่วันที่ได้รับแจ้ง
ถ้าเจ้าของรถยังไม่ชำระค่าปรับหรือชำระไม่ครบถ้วนภายใน 30 วันอีก พนักงานเจ้าหน้าที่จะแจ้งต่อนายทะเบียนให้งดการออกเครื่องหมายแสดงการเสียภาษีประจำปีสำหรับรถคันดังกล่าว
และให้พนักงานสอบสวนดำเนินการตามหน้าที่ต่อไป
อย่างไรก็ตามหากผู้ขับขี่หรือเจ้าของรถ
เห็นว่าตนไม่ได้กระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหา สามารถทำหนังสือโต้แย้งข้อกล่าวหาได้ภายใน
15 วัน
สรุป ถ้าได้รับใบสั่งตั้งแต่วันที่
21 มีนาคม 2560 ต้องจ่ายค่าปรับสถานเดียว
และถ้าไม่จ่าย จะต่อภาษีไม่ได้ แต่ถ้าเห็นว่าได้รับใบสั่งไม่ถูกต้อง
สามารถทำหนังสือโต้แย้งภายใน 15 วัน
รื้อเบาะรถตู้ให้เหลือ
13 ที่นั่ง และพกสมุดประจำรถตลอดเวลา
มาตรการนี้ออกมาเพื่อความปลอดภัยสำหรับผู้ที่โดยสารรถตู้โดยเฉพาะ
ให้ผู้โดยสารมีความคล่องตัวมากขึ้นในการเปิดประตูด้านข้างและด้านหลัง
สามารถออกจากตัวรถได้อย่างรวดเร็ว ขณะเกิดอุบัติเหตุรุนแรง โดยปกติแล้วรถตู้โดยสารที่ขับในพื้นที่ กทม.
จะมี 15 ที่นั่ง และรถตู้ขับระหว่างจังหวัดมี 14 ที่นั่ง ตามมาตรการเดิมที่เคยระบุไว้
โดยมาตรการล่าสุดสั่งให้ผู้ประกอบการหรือเจ้าของรถต้องนำเบาะท้ายสุดของรถตู้ออกไป 1 ที่นั่ง รวมทั้งเบาะกลางระหว่างคนขับกับผู้โดยสารตอนหน้าอีก 1 ที่นั่ง รวมแล้ว 2 ที่นั่ง
โดยมีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา แต่ยังอนุโลมให้ใช้รถได้ ต้องนำเบาะออกภายใน 60 วัน นับตั้งแต่วันที่ออกประกาศ โดยมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากผู้ประกอบการรถตู้จำนวนมาก
ที่ได้กำไรน้อยลงต่อการวิ่งรถหนึ่งเที่ยว เพราะผู้โดยสารหายไป 1-2 คน
นอกจากนี้รถโดยสารสาธารณะต้องจัดทำสมุดประจำรถ (มีประวัติคนขับ พร้อมตรวจสอบสภาพรถและความพร้อมคนขับ)
หากขับรถเร็ว ประมาท บรรทุกผู้โดยสารเกินจำนวนที่กฎหมายกำหนด ทิ้งผู้โดยสารกลางทาง
เก็บค่าโดยสารเกินกำหนด ผู้ประกอบถูกระงับ
หรือพักใช้ใบอนุญาตประกอบการขนส่งไม่เกิน 6 เดือน
สรุป
รถตู้ทุกคันต้องปรับที่นั่งให้เหลือ 13 ตำแหน่ง
โดยเอาเบาะแถวหลังสุดออก และเบาะด้านหน้ารถที่อยู่ติดกับคนขับออก อย่างละ 1 รวม 2 ที่นั่ง และต้องมีสมุดประจำรถ ถ้าบรรทุกเกิน
ขับเร็ว ทิ้งผู้โดยสาร จะถูกระงับใบอนุญาตทันที
* ห้ามนั่งท้ายกระบะ
รวมถึงแค็บ
ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับกฎหมายห้ามนั่งบริเวณท้ายกระบะ
รวมถึงแคบหลังของรถกระบะแบบ 2 ประตู ซึ่งหากฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท โดยล่าสุด
ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ออกมาชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจมากขึ้นว่า วัตถุประสงค์ของแค็บ
คือ มีไว้เพื่อตั้งวางสิ่งของเท่านั้น ที่ผ่านมากลับมีการใช้บรรทุกคนจนเคยชิน ซึ่งแค็บนั้นไม่มีอุปกรณ์สำหรับความปลอดภัยของผู้ที่นั่งอยู่ในแค็บ
และไม่ได้ออกแบบมาเพื่อให้คนนั่ง และใช้รถไม่ตรงตามประเภทที่จดทะเบียนไว้
โดยช่วงระยะแรกจะผ่อนปรนการบรรทุกผู้โดยสารภายในแคบเป็นกรณีไป
โดยหากพิจารณาว่ามีความจำเป็นและเดินทางไม่ไกลจะใช้การตักเตือน
แต่หากพบการบรรทุกในเชิงรับจ้างขนส่ง เช่น รถที่ดัดแปลงให้คนนั่ง 2
ชั้นตรงกระบะท้าย เช่นนี้เจตนาขนคนชัดเจน ก็จะถูกจับกุมดำเนินคดีตามกฎหมาย
ทั้งนี้กรณีที่เจ้าของรถไปติดตั้งเข็มขัดนิรภัยที่แค็บหลังนั้น
ต้องผ่านการตรวจรับรองประเภทรถจากกรมขนส่งทางบกก่อน ถ้าได้รับการรับรองว่าสามารถให้คนโดยสารได้ตามกฎหมายก็สามารถนั่งได้
สรุป
ห้ามนั่งบริเวณท้ายกระบะ รวมถึงแค็บหลังของรถกระบะแบบ 2
ประตู ฝ่าฝืน มีโทษปรับไม่เกิน 2,000 บาท
แต่ช่วงที่เริ่มบังคับใช้จะผ่อนปรน ตักเตือนไปก่อน
ส่วนกรณีที่เจ้าของรถไปติดตั้งเข็มขัดนิรภัยที่แคบหลังนั้น
ต้องผ่านการตรวจรับรองประเภทรถจากกรมขนส่งทางบกก่อนเท่านั้น
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1127 วันที่ 5 -11 พฤษภาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น