วันศุกร์ที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

300 ล้านใช้อะไร เลขาฯกองทุนพร้อมเปิดบัญชี

จำนวนผู้เข้าชม Hit Web Stats

หลังกระหึ่มแห่งคำถาม ในรายงานข่าวของ “ลานนาโพสต์” ฉบับที่ผ่านมา ว่าด้วยเรื่องการบริหารจัดการ กองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า ปรากฏเสียงขานรับอย่างกว้างขวางจากชาวบ้าน คล้ายปัญหานี้ค้างคาใจพวกเขามาเนิ่นนาน ทั้งที่มีเงินกองทุนมหาศาล แต่ไม่มีเนื้องานชัดเจน หรือมีผลงานในแบบที่ต้องตั้งคำถามว่า คุ้มค่าหรือไม่ รวมทั้งมีความไม่ชอบมาพากลในการอนุมัติโดยคณะกรรมการซึ่งมีข้อครหา ว่าเป็นการบริหารอยู่บนพื้นฐานของระบบอุปถัมภ์หรือไม่

โรงไฟฟ้าแม่เมาะของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ขนาด 2,400 เมกกะวัตต์ และเป็นกองทุนฯ ที่มีเงินก้อนโตที่สุด โดยเฉลี่ยมีเงินเข้ากองทุนถึงปีละราว 300 ล้านบาท

ปลายปี 2550 มีการตั้งกองทุนพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้าอย่างเป็นทางการ ตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) โดยมีคณะกรรมการ 19 คน ตามระเบียบการจัดตั้งกองทุนกำหนดไว้ว่า กรรมการภาคประชาชนต้องมากกว่ากึ่งหนึ่ง ภาคประชาชนจึงมีกรรมการ 10 คน เป็นของอำเภอแม่เมาะ 7 คน อำเภอแม่ทะ 1 คน อำเภอเมือง 1 คน และที่เหลืออีก 10 อำเภอ คัดสรรกันมาอีก 1 คน

การได้มาของกรรมการภาคประชาชน 7 คนในอำเภอแม่เมาะนั้นได้มาจากการตั้งกรรมการสรรหาของแต่ละตำบล ซึ่งมีอยู่ 5 ตำบล โดยมีผู้นำชุมชน ท้องถิ่น กลุ่มองค์กรต่างๆ ในตำบลนั้นๆ เป็นกรรมการสรรหา ส่วนวิธีการสรรหาก็ค่อนข้างยืดหยุ่นสูง แล้วแต่วิธีการของแต่ละพื้นที่ ส่วนที่เหลืออีก 2 คน คนหนึ่งมาจากกลุ่มมวลชนต่างๆ ที่อยู่ในอำเภอ เช่น กลุ่ม อสม. กลุ่มอาชีพ ตัวแทนทั้งหมดมาประชุมกันแล้วเลือกตัวแทนกลุ่มมา 1 คน อีกคนหนึ่งจะมาจากชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้านของอำเภอ

ขณะที่คณะกรรมการภาครัฐ มีนายอำเภอ 1 คน ซึ่งได้รับเลือกเป็นเหรัญญิกด้วย ปลัดอำเภอ 1 คน พัฒนาการจังหวัด 1 คน พลังงานจังหวัด 1 คน  ซึ่งเป็นเลขานุการด้วย ผู้แทน กฟผ.  1 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการด้วย ที่เหลือเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งมาจากการสรรหาของคณะกรรมการภาคประชาชน และทั้งหมดนี้คัดสรรประธานกันเองซึ่งก็คือ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง

กระแสวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม ผ่านสื่อสังคมออนไลน์เกี่ยวกับเรื่องนี้มีมาอย่างต่อเนื่อง และยังคงแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า  อ.แม่เมาะ เป็นอำเภอที่รวยที่สุดในประเทศก็ว่าได้ งบประมาณเยอะ  แต่ไม่มีความเจริญทางด้านเศรษฐกิจของ อ.แม่เมาะเลย น่าจะสร้างอะไรที่เป็นจุดเด่นที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวและนักลงทุนมาลงทุนและพัฒนา อ.แม่เมาะให้เป็นอำเภอตัวอย่าง  และอยากให้ช่วยกันตรวจสอบ เพราะเชื่อว่ามีการโกงกินกับงบประมาณในส่วนนี้   ที่สำคัญคือคณะกรรมการกองทุนต้องออกมาชี้แจงและตอบคำถามกับประชาชน

นางมะลิวรรณ นาควิโรจน์  ประธานเครือข่ายสิทธิผู้ป่วยแม่เมาะ  กล่าวถึงกองทุนพัฒนาไฟฟ้าว่า  ตนได้ยื่นฟ้องกรรมการกองทุนนี้ไปแล้ว  เหตุเพราะมีการอนุมัติงบประมาณและการบริหารจัดการที่ไม่ได้เอื้อต่อชาวบ้านที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่  เน้นไปในทางที่กรรมการบริหารเห็นชอบ แม้ว่าโครงการที่ชาวบ้านนำเสนอจะตรงกับวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนฯ  แต่โครงการที่ได้รับการสนับสนุนดูเหมือนจะเน้นในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้างงานก่อสร้างหรืองานโครงสาร้างพื้นฐานที่มีหน่วยงานหลักดำเนินการอยู่แล้ว  ทำให้เกิดข้อสงสัยว่ามีความไม่โปร่งใส และเอื้อประโยชน์ ให้ใครจากเม็ดเงินมหาศาลนี้  ปัจจุบันคดียังคงอยู่ในศาลปกครองสูงสุด

วิธีการคือ การจัดการที่ต้นทางของการอนุมัติงบประมาณให้เป็นไปตามเจตนาการจัดตั้งกองทุน. คือเพื่อการอยู่ร่วมกัน ลดความขัดแย้งของชุมชนที่อยู่รอบโรงไฟฟ้า ที่มาของกรรมการก็ไม่ได้มีธรรมมาภิบาลการมีส่วนร่วม  เช่น ตัวแทนภาคส่วนต่างๆ ตามที่ระเบียบระบุว่าต้องมีตัวแทนภาคส่วนต่างๆ

เช่น ตัวแทนเยาวชน ตัวแทนศาสนา ตัวแทนผู้ได้รับผลกระทบ เข้ามาร่วมบริหารจัดการ ยังคงมีแต่คนหน้าเก่าสับเปลี่ยนตำแหน่งเก้าอี้ ตั้งแต่มีกองทุนนี้ทำให้ชาวบ้านเองไม่ได้รับความเสมอภาคในการเข้าถึงกองทุน

นางมะลิวรรณ กล่าวว่า  ในช่วงก่อตั้งกองทุน 5 ปีแรก  เราถูกดึงโครงการทิ้งหมดโดยกรรมการที่อคติกับเรา  11 โครงการที่เคยเสนอไป โดนตัดทิ้งหมดนั้น  และเรื่องยังอยู่ในศาล ซึ่งทางตนเองได้มีการยื่นฟ้องไปก่อนหน้านี้ แต่พอเราออกมาเรียกร้องผ่านสื่อผ่านผู้ตรวจการแผ่นดิน ในช่วงหลังนี้เราได้รับปีละ 2 โครงการเฉลี่ยปีละ 6 แสน บาทจากเงิน 300 กว่าล้านบาท เขาแค่ตัดความรำคาญเราเท่านั้น  นางมะลิวรรณ กล่าว

ข้อสังเกตคือ ชาวบ้านธรรมดาจะเข้าถึงกองทุนนี้ได้อย่างไร จะมีปากเสียงไปเถียงกับพวกเขาได้ที่ไหน ในเมื่อคนที่เป็นกรรมการไม่มีจิตสาธารนะ  กรรมการที่เป็นภาคประชาชน  แค่ตัวประกอบ เพราะตัวจริงคือผู้บริหารหน้าเดิมที่ไม่มีวันตายนั่นต่างหาก ผู้ทรงคุณวุฒิที่มาจากการแต่งตั้ง ก็ล้วนมีความสัมพันธ์กันดี   

นายศุกร์ ไทยธนสุกานต์  นายก อบต.บ้านดง กล่าวว่า งบประมาณในส่วนของโครงการสร้างพื้นฐาน การปรับปรุงซ่อมแซมที่ไม่ใช่การก่อสร้างใหม่ เป็นถนน แหล่งน้ำ ไม่ว่าตำบลไหนของ อ.แม่เมาะ แต่โครงการโดนบล็อกไว้หมด แม้กรรมการจะอนุมัติแล้ว เช่น  บางโครงการชุมชนไม่มีศักยภาพในการดำเนินการจัดซื้อจัดจ้าง จึงส่งให้ อบต.เป็นผู้ดำเนินงานแทน  เมื่อ อบต.รับทำโครงการก็แจ้งกลับไปยังกองทุน  กองทุนได้มีหนังสือกลับมาอีกระบุว่าให้ตรวจสอบพิกัดพื้นที่  ถ้าตรวจสอบก็จะพบว่าส่วนใหญ่ อ.แม่เมาะเป็นพื้นที่ป่าหมด เมื่อทำไม่ได้ก็ดึงงบคืน และมีการโยกงบไปที่อื่น คือวิธีการของกองทุนนี้

ได้ชวนกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อ.แม่เมาะ เปิดเวทีคุยกันถึงเรื่องนี้ แต่มีพรรคพวกที่เป็นกรรมการกองทุนอยู่ ขอเวลาและโอกาสที่จะแก้ไขก่อน  ตอนนี้อยู่ระหว่างการร่างหนังสือเพื่อขอตรวจสอบการบริหารจัดการกองทุน ตลอดทั้งการจัดสรรงบ การอนุมัติงบไม่สอดคล้องกับสภาพพื้นที่  สร้างเงื่อนไขให้ไม่สามารถใช้งบประมาณได้  เป็นเหมือนกันทุกตำบล

การส่งเสริมอาชีพของชาวบ้านก็นำโครงการมารวมกัน เช่นโครงการจัดซื้อสุกร วัว  แต่ละหมู่บ้านได้ตั้งงบประมาณไว้ แต่เมื่อไปถึงคณะกรรมการระดับจังหวัดก็ให้เหมารวมเป็นโครงการเดียว เป็นอำนาจการจัดซื้อจัดจ้างของกองทุนหมด  โครงการเลี้ยงหมูของ ต.บ้านดง 2 ปีก็ยังไม่สำเร็จจนถึงทุกวันนี้  เรื่องนี้ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่งบประมาณลงไม่ถึงชาวบ้าน และบางโครงการอนุมัติได้แต่ดำเนินการไม่ได้ อยากรู้ว่าเป็นเพราะอะไร
ด้านนายพร้อมพงษ์ วงศ์มณีนิล เลขานุการคณะกรรมการกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า (คพรฟ.) กล่าวว่า  การที่มีแต่ละคนออกมาพูดถึงเรื่องกองทุน ทั้งในเวที ค.1 หรือไม่ว่าจะเวทีใดก็ตาม ก็น่าจะเป็นความเข้าใจของบุคคลนั้น  แต่กองทุนมีกระบวนการใช้จ่ายเงินตามระเบียบกฎหมายค่อนข้างมาก กองทุนบริหารในรูปคณะกรรมการ เรียกว่าคณะกรรมการกองทุนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า มีผู้ว่าฯเป็นประธาน และหลายภาคส่วน  ตนเองยินดีที่จะให้ข้อมูล ซึ่งการให้ข้อมูลต่างๆ จึงต้องนำเรียนให้ท่านผู้ว่าฯทราบด้วย  

ในกระบวนการพิจารณาโครงการต่างๆ ก็จะมีเวทีระดับหมู่บ้าน กรรมการเองไม่มีสิทธิ์ที่จะคิดโครงการให้ชาวบ้าน  ต้องเกิดจากการประชาคมระดับหมู่บ้าน ตำบลขึ้นมา  เพราะฉะนั้นโครงการต่างๆที่ขออนุมัติเข้ามาก็จะเกิดจากชาวบ้านโดยตรง จำนวนโครงการแต่ละปีที่เท่าไร มีใครเกี่ยวข้อง สามารถเปิดเผยข้อมูลได้ทั้งหมด   การที่มีบุคคลบอกว่าไมได้รับการสนับสนุนในส่วนนี้ก็ต้องกลับไปตรวจสอบว่าเขาเคยได้เข้าร่วมเวทีประชาคมหมู่บ้านหรือไม่ เคยได้รับการสนับสนุนไหม  เป็นต้น 

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1128 วันที่ 5 - 11 พฤษภาคม)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์