วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

คำถามกระหึ่ม กองทุนไฟฟ้า เงินหายไปไหน?

จำนวนผู้เข้าชม good hits

การรับฟังความเห็นชาวบ้านในการจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมรอบแรก (ค.1) ของการไฟฟ้าแม่เมาะ เมื่อวันที่ 29 เมษายนที่ผ่านมา คือคำถามนอกประเด็น ที่ยังค้างคาใจชาวบ้านบางกลุ่ม เรื่องกองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า โดยพวกเขามีทั้งที่ขอใช้สิทธิพูดในเวที และความเห็นจำนวนมาก ผ่านช่องทาง เฟสบุ๊คไลฟ์ ของฝ่ายสื่อสารองค์กร นั่นอาจหมายถึงว่า ความพยายามที่จะอธิบายความจริง ให้คนที่ข้องใจเข้าใจยังไม่เป็นผล ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา

โดยเฉพาะการใช้เงินผิดประเภท ความไม่โปร่งใสในการอนุมัติเงินกองทุน อาจคล้ายกับกองทุนอื่นๆ สำหรับกิจการรัฐหรือเอกชนที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชาวบ้านในพื้นที่ตั้งโรงงาน แต่ที่แม่เมาะ คำถามดังกว่าที่อื่นๆ เนื่องเพราะขนาดของกองทุน แต่เสียงตอบรับกลับแผ่วเบาอย่างยิ่ง

โรงไฟฟ้าแม่เมาะ เป็นโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศ 2,400 เมกะวัตต์ เป็นโรงไฟฟ้าที่มีเงินกองทุนก้อนโตที่สุด เฉลี่ยปีละ 300 ล้านบาท ขณะที่โครงสร้างคณะกรรมการ เป็นชาวบ้านส่วนใหญ่ มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการประชุมเพื่อจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน และผู้มีส่วนได้เสียในการกำหนดขอบเขตและแนวทางการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Public Scoping หรือ ค.1) ที่หอประชุมวิทยาลัยเทคโนโลยีและการจัดการ กฟผ.แม่เมาะ อ.แม่เมาะ จ.ลำปาง เมื่อวันที่ 29 เม.ย.60 ที่ผ่านมา  มีประชาชนผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในพื้นที่ อ.แม่เมาะ กล่าวถึงเงินกองทุนพัฒนาไฟฟ้าดังกล่าว ทั้งตั้งข้อสังเกต แสดงความคิดเห็น ข้อเสนอแนะมากมาย  และสิ่งสำคัญคือ มีการตั้งคำถามที่ว่าที่ผ่านมาเงินกองทุนเหล่านี้หายไปไหน ไม่ตกถึงชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบอย่างแท้จริง

พระใบฎีกานพฤทธิ์  สิทธิญาณเมธี เลขาธิการเจ้าคณะอำเภอแม่เมาะ ผู้แทนส่วนคณะสงฆ์  กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า  การสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ก็ย่อมดีกว่าของเดิม แต่ก็ต้องตระหนักถึงผลที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะดีหรือเสีย  อาตมาเห็นดีที่จะสร้างโรงไฟฟ้าทดแทนเครื่องที่ 4-7 แต่มีประเด็นสำคัญว่าการก่อสร้างเล็งเห็นถึงผลกระทบต่อพี่น้องทั้งหลาย ทราบข้อมูลเบื้องต้นว่า งบประมาณที่จะเข้ากองทุนพัฒนารอบโรงไฟฟ้า ในปี 61 จะเพิ่มเป็น 400 กว่าล้าน แต่เงินส่วนนี้จะครอบคลุมทั่วอำเภอแม่เมาะหรือไม่ ส่วนของคณะสงฆ์เองก็ไม่เคยได้รับการติดต่อสอบถามจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แจ้งข่าวเรื่องการจัดทำโครงการเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณก้อนนี้  ที่ผ่านมาไม่เคยทราบข่าวการจัดสรรโครงการต่างๆ พอสอบถามเจ้าหน้าที่ไปก็ได้รับคำตอบว่าเสร็จสิ้นไปแล้ว เป็นเช่นนี้มา 3 ปีแล้ว  ถามไปกี่ครั้งก็ได้คำตอบแบบเดิม  จึงฝากให้ดูแลเรื่องนี้ ให้เข้าถึงประชาชนอย่างแท้จริงด้วย

นายสมโภชน์ ปานถม  ปราชญ์ชาวบ้าน อ.แม่เมาะ   กล่าวว่า ตนเห็นด้วยที่สร้างโรงไฟฟ้าทดแทน เพราะโรงเก่าหมดอายุไป ความเจริญเกิดขึ้นก็จะต้องมีไฟฟ้าให้ลูกหลานใช้ในวันข้างหน้า เรื่องผลกระทบเชื่อว่าบริษัทและ กฟผ.ได้กลั่นกรองมาแล้ว   สิ่งสำคัญคือตอนนี้ประชาชนสับสนเรื่องกองทุนรอบโรงไฟฟ้า ซึ่งเงินเยอะแยะ แต่เงินอนุมัติเป็นกลุ่มหรือเป็นกระจุกเท่านั้น มีชาวบ้านหลายคนเข้าไม่ถึง และยังมีคำถามว่าเงินส่วนนี้ลงไปให้กลุ่มใดหรือใครบ้าง  เรื่องนี้ต้องคุยกันใหม่ทั้งหมดว่าจะทำอย่างไรให้งบประมาณได้ทั่วถึงชาวบ้าน

นายสมชาย เลขวนิช ประธานชมรมผู้สูงอายุ ต.นาสัก   กล่าวว่า  อยากถามว่าเงินที่ได้มาจาก กฟผ.ปีละ 300 กว่าล้านบาท 10 ปี หายไปไหนได้อะไรให้ลูกหลาน อ.แม่เมาะได้ดู  ขอฝากคำถามนี้ไว้  และขอเสนอว่างบประมาณก้อนนี้ ขอให้หารให้ทั้ง 44 หมู่บ้าน โอนเงินให้ อปท.จัดสรรกัน  รวมทั้งเรื่องการสนับสนุนงบประมาณให้กับผู้สูงอายุของ อ.แม่เมาะ ทั้ง 5 ตำบล กว่า 4,000 ราย  ตนเองในฐานะประธานชมรมผู้สูงอายุ ก็เคยทำโครงการเข้าไป แต่ก็โดนดึงออกตลอด  เข้าไม่ถึงเงินในส่วนนี้เลย

นางบัวผัน  รุนจุ่ม  ตัวแทน อพม.ตำบลจางเหนือ  กล่าวว่า  ตนสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าทดแทน ก็เป็นการดีที่มีโรงไฟฟ้าขึ้นมา ไปต่างจังหวัดก็มีแต่คนบอกว่าโชคดีที่อยู่ อ.แม่เมาะ ซึ่งมีโรงไฟฟ้า แหล่งเงินทุนมากมาย แต่แหล่งเงินทุนมากมายที่ว่าหายไปไหน   กฟผ.ให้เงินกองทุน 360 ล้านบาทต่อปี  และยังมีเงิน 5 หมื่นบาทต่อหมู่บ้าน อยากให้ กฟผ.ติดตามบ้าง  ตนทราบว่า กฟผ.ให้เงินจริง แต่เงินที่ได้มาไม่ถึงชาวบ้าน อยากฝาก กฟผ.ให้มีกรรมการตรวจสอบเงินส่วนนี้ ไม่ใช่จ่ายเงินเพียงอย่างเดียว   เพราะ กฟผ.เป็นเจ้าของเงิน ควรจะรู้ว่าเงินส่วนนี้นำไปใช้อะไรบ้าง  เพราะชาวบ้านแท้ๆกลับไม่ได้รับผลประโยชน์ แต่ไปตกอยู่กับคนบางกลุ่มเท่านั้น
ด้าน นางจันทร์เพ็ญ จิ่วบาง ราษฎร ต.แม่เมาะ  กล่าวว่า  สิ่งที่ได้ประโยชน์จากโรงไฟฟ้าแม่เมาะ คือ  งบประมาณจากกองทุนรอบโรงไฟฟ้าปีละ 360 ล้านบาท ถ้าไม่มีโรงไฟฟ้าจะไม่ได้รับเงินทุนส่วนนี้  3 ปีที่ผ่านมาทราบว่ามีเงินเข้ากองทุนมาอีก 80 ล้านบาท หากชาวแม่เมาะช่วยกันบริหารจัดการ เชื่อว่า อ.แม่เมาะจะเป็นอำเภอที่ทันสมัยที่สุด  งบประมาณส่วนที่สองคือ ค่าภาคหลวงแร่ได้รับเข้ามาในเขตเทศบาลปีละ 60 ล้านบาท ถ้าไม่มีส่วนนี้การพัฒนาก็จะด้อยโอกาสลงไป  ส่วนที่สามคืองบประมาณของสมาคมพัฒนาคุณภาพชีวิต สำหรับคุณภาพชีวิตของ เด็ก ผู้สูงอายุ     ส่วนที่สี่งบประมาณที่ กฟผ.จัดการเองปีละ 50 ล้านบาท ที่ส่งให้กับ 5 ตำบล 44 หมู่บ้าน หมู่บ้านละ 50,000 บาท จัดทำโครงการจากชุมชนเพื่อนำสู่ กฟผ.พัฒนาในรูปของกิจกรรมประเพณีของหมู่บ้าน  ตำบลละ 500,000 บาท ใช้ด้านสาธารณูปโภค  ซึ่งงบส่วนนี้มีที่แม่เมาะที่เดียวเท่านั้นในประเทศ  ขอเสนอแนะในรูปของ อ.แม่เมาะ อยากให้เป็นรูปธรรมมากขึ้น คือ การก่อสร้างสนามกีฬาที่ได้มาตรฐานและครบวงจร  และด้านการจัดการสิ่งแวดล้อม เห็นควรให้ประชาชนทุกตำบลเข้ามามีส่วนร่วมด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น การแต่งตั้งคณะกรรมการระดับอำเภอ ตำบล ไปถึงจังหวัด เป็นต้น

ขณะที่ นายธนูศักดิ์ ศรีสว่าง ประธานชมรมผู้สูงอายุ ต.แม่เมาะ  กล่าวว่า ตนเป็นคน จ.เชียงใหม่ แต่มาอาศัยอยู่ อ.แม่เมาะ 40 กว่าปี เงินหลายพันล้านที่ผ่านมา น่าจะมาช่วยกันคิดว่าจะนำมาใช้อะไร  ส่วนของเงินกองทุนที่ได้มา ถ้าคนแม่เมาะทั้งหมดลงขันกันว่าไม่เอา แต่ให้เอาไปสร้างโรงพยาบาลที่ยิ่งใหญ่กว่า จ.เชียงใหม่  เราต้องเรียกร้องให้ตัวเอง ส่วนหนึ่งคือการสร้างสาธารณูปโภค คือ โรงพยาบาล ถ้าแม่เมาะสร้างได้ แม่เมาะจะเจริญมากขึ้น ที่ผ่านมาทุกคนเรียกร้องแต่ว่าจะเอาเงินไปซื้อนู่นซื้อนี่ แต่เป็นประโยชน์ส่วนตัวทั้งนั้น  เรียกร้องกันไปทุกปีไม่ยั่งยืน ถ้าทำอะไรเพื่อส่วนรวมได้ ไม่ใช่เฉพาะคนแม่เมาะ ซึ่งคนแม่เมาะอาจจะได้ส่วนลดในกรณีพิเศษในการเข้ารักษา  หากทำได้อย่างดีจะเรียกเงินมหาศาลเข้ามาใน อ.แม่เมาะได้

ทั้งนี้ นายศุกร์ ไทยธนสุกานต์ นายก อบต.บ้านดง เตรียมเปิดเวทีอภิปรายขอตรวจสอบการใช้งบฯการจัดสรรงบฯการบริหารงบฯกองทุนพัฒนาไฟฟ้า หน้าสำนักงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้าแม่เมาะ ในวันที่ 5 พ.ค. 50   และจะได้ยื่นหนังสือต่อพลเอกประยุทธ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อรื้อระบบต่อไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1127 วันที่ 5 - 11 พฤษภาคม 2560)
           


Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์