วันศุกร์ที่ 26 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

แปลง'ข้าวแต๋น'เป็น'ข้าวกรอบ' ต้อม&บอล ตีตรารส-โอ-ชา

จำนวนผู้เข้าชม website counter

โลกเปลี่ยนไปสู่ยุคดิจิตอล เทคโนโลยีนวัตกรรมใหม่ๆเกิดขึ้นมากมาย  แต่ก็มีคนพูดถึงว่า ธุรกิจท้องถิ่นบางอย่างก็ยังอยู่ได้ ง่ายๆลองนึกถึงน้ำเต้าหู้หรือปาท่องโก๋ในตลาดก็ยังขายเหมือนเดิมแม้โลกจะเปลี่ยนไปเร็วแค่ไหนก็ตาม

เช่นเดียวกับขนมท้องถิ่นที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสินค้าที่เป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI: Geographical Indications) ของจังหวัดลำปาง นั่นคือ "ข้าวแต๋น" ซึ่งเดี๋ยวนี้ข้าวแต๋น หรือข้าวตัง อะไรก็ตามที่หน้าตาคล้ายๆกันมีวางขายตามท้องตลาดหลายยี่ห้อ ,ตราสินค้า หรือที่เรียกกันว่าแบรนด์ทั้งดังและไม่ดัง มากมายแต่ข้าวแต๋นที่ได้รับการยอมรับว่าเป็นของดีอร่อยต้องผลิตที่ลำปาง

‘ROS-O-CHA  (รส-โอ-ชา) ขนมท้องถิ่นดั้งเดิมที่ทำจากข้าวซึ่งผลิตจากโรงงานข้าวแต๋นในลำปาง แต่ถูกพัฒนารูปแบบสินค้าให้มีหน้าตาที่ทันสมัย โดยการจับมือทางธุรกิจของสองหนุ่มรุ่นใหม่ไฟแรง  บอล สุรเชษฐ์ เทพปินตา ผู้คลุกคลีในโรงงานผลิตข้าวแต๋นธานีของครอบครัว ที่บ้านทุ่งม่านเหนือ อ.เมืองลำปาง และ ต้อมศรันย์ สืบสอน หนุ่มเมืองเถินเจ้าของศรันย์ฟู๊ด ผู้มีประสบการณ์ตลาดแปรรูปสินค้าเกษตรในกลุ่มลูกค้าจีนมาหลายปี

ต้อมเล่าว่า หลังจากเขาทำตลาดสินค้าเกษตรแปรรูป และทำแปรรูปกล้วยส่งออกผ่านเทรดเดอร์คนกลางมาระยะหนึ่งก็พบว่ามีข้อจำกัดและอุปสรรคหลายอย่าง ทั้งเรื่องวัตถุดิบ และกระบวนการผลิตจนหยุดทำในที่สุด จากนั้นเขาเริ่มกลับมาคิดใหม่ว่า จะทำสินค้าแปรรูปอะไรจากวัตถุดิบในบ้านเราที่หาง่าย ต้นทุนต่ำ และทำรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่น ก็เลยมาคลิกที่"ข้าวแต๋น" ซึ่งเป็นสินค้าดั้งเดิมของลำปาง และมีผู้ประกอบการโรงงานข้าวแต๋นหลายแห่ง ผมจึงหาข้อมูลและบังเอิญพบกับพี่บอล ซึ่งทำข้าวแต๋นอยู่แล้ว บวกกับการแลกเปลี่ยนความรู้และแนวคิดทางธุรกิจด้วยกัน จึงเกิดความร่วมมือผลิตสินค้าที่พัฒนาจากข้าวแต๋น ให้เป็น “ข้าวกรอบ รส-โอ-ชา” โดยเน้นการพัฒนาให้เป็นขนมจากข้าวแต่มีหน้าตาแตกต่างจากข้าวแต๋นธรรมดา ออกมาสู่ท้องตลาดโดย หจก.ลำปาง รสโอชา

“จากที่ครอบครัวผมทำโรงงานข้าวแต๋นขนาดเล็กๆมานาน ผมก็เห็นผลิตภัณฑ์ข้าวแต๋นแบบเดิมๆ ซึ่งก็ยังขายได้ ตลาดก็ยังมีความต้องการ แม้จะมีคู่แข่งมากมาย หรือแม้กระทั่งมีโรงงานขนาดใหญ่กว่า ผลิตเป็นอุตสาหกรรม แต่โรงงานขนาดเล็กก็ยังอยู่ได้ ดังนั้นเมื่อเราสองคนมีแนวคิดตรงกันว่าต้องการขายความแปลกใหม่ และหาช่องทางธุรกิจใหม่ เราก็พัฒนาจากฐานความรู้เดิมของการทำข้าวแต๋นที่มีรสชาติดี มีคุณภาพอยู่แล้ว แต่เติมความหลากหลาย ของรสชาติใหม่ๆด้วยธัญพืช และ ออกแบบข้าวแต๋นให้เป็นข้าวกรอบ ตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการความแปลกใหม่ เช่น รสเนย รสช็อคโกแลต ซึ่งเดี่ยวนี้ข้าวแต๋นก็พัฒนาเป็นแบบให้เป็นขนมทานเล่น เป็นชิ้นเล็กๆ พอคำอยู่แล้ว แต่เราทำบรรจุภัณฑ์ให้มีความน่าสนใจ ดูมีคุณค่าราคาเป็นของฝากที่ดูดี” บอล สุรเชษฐ์ เทพปินตา บอกถึงแนวคิดการพัฒนากระบวนการผลิตข้าวแต๋น ให้เป็นขนมข้าวกรอบที่น่าสนใจ

นอกจากนี้ ต้อม ยังให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า แนวคิดของการนำข้าวมาเป็นวัตถุดิบหลัก เป็นเรื่องของการนำของที่มีอยู่มาเติมไอเดีย  ในอนาคตจะมีผลิตภัณฑ์หลากหลายจากข้าว เช่น ข้าวไรซ์เบอรี่ และข้าวสายพันธ์ต่างๆ มาบวกกับวัตถุดิบอื่นที่ให้คุณค่า และสีสันของขนมทานเล่นที่แตกต่าง

การสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ย่อมมีความท้าทายในเรื่องของการตลาดและการขายอยู่ไม่น้อย เพราะผู้บริโภค และพื้นที่ตลาดส่วนใหญ่ยังเคยชินและรู้จักข้าวแต๋นรูปแบบเดิมๆ การนำเสนอสินค้า ข้าวกรอบ อาจจะไม่ได้แทนที่ ข้าวแต๋น หากแต่เป็นทางเลือกของผู้บริโภคในกลุ่มใหม่และฐานกลุ่มลูกค้าเดิมอย่างไรให้ปังต่างหาก

ในระยะแรก วางเป้าหมายตลาดขายส่งในประเทศ กลุ่มร้านขายของฝากทั่วไป ทั้งในลำปางและทั่วประเทศ และยังมองตลาดที่มีฐานขายปลีกแก่ผู้บริโภคกลุ่มนักท่องเที่ยว ร้านอาหาร ร้านกาแฟในจังหวัดท่องเที่ยวหรือหัวเมืองใหญ่ทุกภาค ขณะเดียวกัน ยังคงให้ความสำคัญกับการศึกษาช่องทางตลาดออนไลน์ ซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีแนวโน้มที่ดีและมาแรง ด้านการเข้าถึงลูกค้าที่กว้างขึ้น ขณะนี้อยู่ระหว่างจัดทำเพจเฟสบุค และช่องทางหน้าร้านขายปลีก ส่ง ออนไลน์ อื่นๆ โดยที่ผ่านมาเริ่มสร้างการรับรู้แบรนด์ในกลุ่มเพื่อน เฟสบุคส่วนตัว (fb:sarun suebsorn)

“รสโอชา ถือว่าเป็นแบรนด์น้องใหม่ที่เกิดจากธุรกิจขนาดเล็กในท้องถิ่น แต่เราก็เชื่อว่า การใช้นวัตกรรมการผลิต บวกกับคุณค่าของการใช้วัตถุดิบจากท้องถิ่น มันขายคุณค่าและสตอรี่ของตัวผลิตภัณฑ์ได้ เพียงแต่เราต้องทำความรู้จัก เข้าใจกับลูกค้าผู้บริโภคให้มาก และพัฒนาสินค้าของเราตอบโจทย์เขาให้ได้ ในราคาที่เหมาะสม จับต้องได้ ในราคาขายปลีกไม่เกิน 30 บาท ส่วนแบ่งผลกำไรก็ แบ่งให้คนขายมากพอ ผู้ผลิตก็อยู่ได้ มันจะช่วยให้อยู่ในระบบการแข่งขันได้ดีกว่า”

แนวคิดของคนรุ่นใหม่ที่มีฝันเป็นเจ้าของแบรนด์และธุรกิจท้องถิ่นแบบค่อยๆโต มีพื้นฐานแนวคิดของการใช้ทรัพยากรท้องถิ่นใส่ความคิดสร้างสรรค์ลงไปจะนำสินค้าจากลำปางไปโลดแล่นในท้องตลาดอย่างน่าภาคภูมิใจ



(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1130 วันที่ 26 พฤษภาคม - 1 มิถุนายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์