องค์กรวิชาชีพสื่อ
ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อทั่วประเทศ รวมตัวกันครั้งใหญ่ ในวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกปีนี้
(วันที่ 3 พฤษภาคม) ที่สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย โดยมีทูต
และตัวแทนประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา สวีเดน ออสเตรีย ฟินแลนด์
เข้าร่วมสังเกตุการณ์การต่อสู้เพื่อเสรีภาพครั้งสำคัญของสื่อไทย
พวกเขามารวมตัวกัน
เพื่อแสดงจุดยืนคัดค้าน ร่าง พ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริมจริยธรรม
และมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน ซึ่งมีเนื้อหาในการควบคุมเสรีภาพในการรายงานข่าว
การแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชน
อันขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยว่าด้วยการรับรองสิทธิ
เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อและประชาชน
อีกทั้งดัชนีชี้วัดการพัฒนาสื่อขององค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์
และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ยูเนสโก)
นับเป็นการรวมตัวครั้งใหญ่ที่สุดอีกครั้งหนึ่ง
ของสื่อมวลชนไทย หลังจากยุคการต่อสู้เพื่อให้ยกเลิกกฎหมายลิดรอนเสรีภาพสื่อ คือ
ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดินฉบับที่ 42 (ป.ร.42) ในสมัยของนายกรัฐมนตรี
พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ
“หยุดตีทะเบียนสื่อ
หยุดครอบงำประชาชน” อันมาจากเนื้อหาของร่างกฎหมายฉบับนี้ คือการประกาศถ้อยคำที่เป็นหมุดหมายสำคัญในวาระวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลกวันนี้ความหมายของถ้อยคำคือการตอกย้ำการที่รัฐกำหนดให้สภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติซึ่งมีตัวแทนรัฐอยู่
2 ตำแหน่ง ตามกฎหมายฉบับนี้
มีอำนาจรับขึ้นทะเบียน ออกและเพิกถอนใบอนุญาตให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
สื่อมวลชนที่ไม่มีใบอนุญาต
องค์กรสื่อที่รับสื่อมวลชนที่ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน จะต้องรับโทษทางอาญา
จำคุกไม่เกิน 3
ปี หรือปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท
หรือทั้งจำทั้งปรับ
ถึงแม้ว่า
กรรมาธิการจะยอมถอยในที่สุด ตัดอำนาจออกและเพิกถอนใบอนุญาต
ยกเลิกกำหนดโทษจำคุกสื่อมวลชนที่ไม่มีใบอนุญาต
กับองค์กรสื่อที่รับผู้ไม่มีใบอนุญาตเข้าทำงาน แต่ก็ยังมีความพยายาม ออกใบรับรอง
ซึ่งอาจเชื่อมโยงถึงอำนาจของกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติได้
ในขณะที่ตัวแทนรัฐยังอยู่ในคณะกรรมการ
และคำนิยาม ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
ซึ่งขยายปริมณฑลไปไกลกว่าสื่อวิชาชีพยังคงอยู่
นี่คือภาวะถดถอยของเสรีภาพในยุครัฐบาลทหาร
ที่จะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อความเชื่อถือในประเทศไทย
ตลอดไปจนถึงผลกระทบทางด้านการเมือง สังคม การลงทุนและเศรษฐกิจ
องค์กรสื่อไร้พรมแดน
ได้จัดอันดับเสรีภาพสื่อโลกปี 2017 พบว่า
เสรีภาพสื่อไทยร่วงลงไป 6 อันดับ อยู่อันดับที่ 142 ได้คะแนน 49.49 คะแนน อยู่ในกลุ่มสีแดง หรือยังอยู่ในสถานการณ์สื่อที่ยากลำบากต่อไป
ก่อนหน้านี้
ผลการสำรวจของฟรีดอม เฮ้าส์ สหรัฐ ปี 2016 ประเทศไทยจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่
“ไม่มีเสรีภาพ” อันดับที่ 168 จาก 190 ประเทศและเป็นอันดับที่ 8 ของกลุ่มประเทศอาเซียน
การอยู่ในภาวะที่เสรีภาพสื่อถูกจำกัด
หรือไม่มีเสรีภาพนี้หากมิใช่ประเทศสังคมนิยมแล้วก็คงมีประเทศที่ปกครองโดยผู้นำแบบอำนาจนิยมเท่านั้น
ซึ่งโดยหลักการลักษณะเฉพาะของผู้นำแบบอำนาจนิยมคือความพยายามกำจัดศัตรูทางการเมืองหรือกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้ามทุกวิถีทาง
ผู้นำแบบอำนาจนิยมจะไม่ยอมให้มีกลุ่มคิดทางการเมืองที่แตกต่าง
มีการจำกัดเสรีภาพของประชาชนเห็นประชาชนอยู่ในฐานะที่เป็นเครื่องมือที่จะสร้างความยิ่งใหญ่ให้กับตนเองและสุดท้ายคือมีการควบคุมสื่อสารมวลชน
หรือช่องทางสาร เสนอข้อมูลข่าวสารด้านเดียว เสนอข้อมูล ข่าวสาร
และทัศนคติของตัวเองซ้ำๆโดยยึดถือว่าแนวทางเช่นนี้เท่านั้นที่ถูกต้อง
ซึ่งขัดกับหลักประกันเสรีภาพที่จะต้องเสนอข่าวอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และรอบด้าน
ดัชนีชี้วัดความตกต่ำของเสรีภาพสื่อไทย
ไม่เพียงอันดับขององค์กรสื่อไร้พรมแดน ผลสำรวจของฟรีดอมเฮ้าส์ของสหรัฐเท่านั้น
แต่ร่างกฎหมายคุมสื่อล่าสุดของรัฐไทย ยังชี้วัดถึงการพัฒนาที่ถดถอยของสื่อไทย
อันขัดกับหลักเกณฑ์ของยูเนสโกด้วย
การกำหนดข้อจำกัดทางกฎหมายที่ไม่จำเป็น
บทบัญญัติของกฎหมายที่กำหนดว่าใครจะทำงานด้านสื่อมวลชนได้หรือไม่ได้
หรือกำหนดให้นักข่าวต้องขอใบอนุญาตหรือลงทะเบียน เป็นตัวชี้วัดหลักการพัฒนาของสื่อ
ของยูเนสโก ซึ่งหากพิจารณาประกอบกับร่างกฎหมายคุมสื่อฉบับนี้
เป็นการพัฒนาที่ถอยหลังลงคลอง มากกว่าก้าวไปข้างหน้า
แน่นอนว่าสื่อไทยไม่อาจยืนยันเสรีภาพเต็มร้อยในสถานการณ์พิเศษเช่นนี้
ถึงแม้ว่าจะเป็นเสรีภาพที่มีความระมัดระวังมีความพยายามที่จะนำเสนอข้อมูล ข่าวสาร
ที่ถูกต้อง รอบด้านพอสมควรแล้ว ถึงกระนั้นก็ยังเป็นด้านที่ตรงกันข้ามกับความคิดทัศนคติของผู้มีอำนาจอยู่เสมอ
กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือการมีเสรีภาพอยู่ภายใต้แนวคิดแบบอำนาจนิยม
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1127 วันที่ 5 -11 พฤษภาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น