วันเสาร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2560

องค์กรซ่อนเงื่อน ไทยพีบีเอส

จำนวนผู้เข้าชม free hits

าวเดือนกรกฎาคม 2560 นี้เราก็จะได้ตัวผู้อำนวยการคนใหม่ ขององค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือไทยพีบีเอส เป็นผู้อำนวยการคนที่ 4 ในรอบระยะเวลา เกือบ 10 ปี ในการก่อตั้งองค์กร ในขณะที่ผู้อำนวยการมีวาระตามสัญญาจ้าง ไม่เกินคราวละ 4 ปี

นอกจากผู้อำนวยการคนแรก ที่ลุกจากเก้าอี้ไปตามวาระ พร้อมๆกับจดหมายเปิดผนึกของพนักงานระดับล่าง กล่าวหาว่าเล่นพรรค เล่นพวก บริหารงานผิดพลาด ไม่ประสบความสำเร็จ

ผู้อำนวยการอีกสองคนถัดมา ก็ต้องออกจากตำแหน่งก่อนวาระ คนหนึ่งถูกเลิกจ้าง คนหนึ่งลาออก แต่ทั้งสองคนมีปัญหาร่วมกัน คือการสื่อสารระหว่างคณะกรรมการนโยบาย และผู้อำนวยการ

ทั้งอดีตผู้อำนวยการที่ถูกเลิกจ้าง และลาออก ล้วนเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถเป็นที่ยอมรับ ไม่ได้มีปัญหาการทุจริต คอรัปชั่น หรือไม่สามารถบริหาร ไทยพีบีเอส ให้เป็นไปตามเป้าหมาย โดยเฉพาะคุณสมชัย สุวรรณบรรณ ซึ่งมีประสบการณ์ในงานด้านสื่อมวลชนมายาวนาน และมีความรู้ ความเข้าใจในความเป็นสื่อสาธารณะชัดเจน มากกว่าหลายๆคน รวมทั้งกรรมการนโยบายบางคน ซึ่งพูดไม่ได้ อธิบายไม่ถูก ถึงบทบาทการเป็นผู้กำกับนโยบายสื่อสาธารณะ ที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.องค์กร

ด้วยความคลุมเครือไม่ชัดเจน ในเหตุเลิกจ้าง คุณสมชัย สุวรรณบรรณ จึงฟ้องไทยพีบีเอส และกรรมการนโยบาย ต่อศาลปกครอง ฐานเลิกจ้างไม่เป็นธรรม คดีอยู่ระหว่างรอวันนัดอ่านคำพิพากษา

คล้ายกับองค์กรจะมีความเป็นอิสระ คือเป็นองค์การสื่อสาธารณะด้านวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ที่ไม่ใช่ส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ  มีการออกแบบโครงสร้างการบริหารและการดำเนินกิจการ อย่างน้อย 3 ระดับ คือคณะกรรมการนโยบาย คณะกรรมการบริหาร  และผู้อำนวยการ ไม่มีความยึดโยงกับอำนาจรัฐ แปลว่า ไม่มีการเมืองมาเกี่ยวข้อง แต่ความเป็นจริง การเมืองภายใน ไทยพีบีเอส ก็ดุเดือด เลือดพล่านไม่แพ้การเมืองภายนอก

หากเทียบกับ อสมท องค์การนั้น ชัดเจนอย่างยิ่ง ที่ผู้มีอำนาจทุกยุคสมัย จะต้องส่งคนของตัวเองเข้ามากุมอำนาจบริหาร รวมทั้งยุค คสช.ที่หัวโต๊ะบอร์ด อสมท นั่งไว้ด้วย พลเอกฉัตรเฉลิม เฉลิมสุข ดังนั้น จึงไม่ต้องถามถึงความเป็นอิสระ และปัญหาการสับเปลี่ยน โยกย้าย ถ่ายโอนอำนาจในอสมท ที่ผันแปรไปตามผู้มีอำนาจตลอดเวลา

แต่สำหรับไทยพีบีเอส  ความเป็นอิสระ ปลอดจากการแทรกแซงทางการเมืองทั้งภายใน และภายนอก เป็นเรื่องจำเป็น  เนื่องเพราะนี่คือสถาบันสื่อแห่งเดียว ที่ประชาชนจะฝากความหวังไว้ได้ ท่ามกลางภูมิทัศน์สื่อ ที่ล้วนแต่เป็นสื่อใต้อำนาจรัฐ และสื่อใต้อำนาจทุน

ไทยพีบีเอสอยู่ภายใต้โครงสร้างที่ถูกออกแบบให้เป็นอิสระชัดเจน ภายใต้การกำกับดูแลจากข้อบังคับด้านจริยธรรมชนิดเข้มข้น

ไทยพีบีเอส จะยึดโยงกับอำนาจภายนอก เพียงรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปีเสนอต่อคณะรัฐมนตรี สภาผู้แทนราษฏร วุฒิสภา” เพื่อทราบ” และเผยแพร่รายงานต่อสาธารณชนเท่านั้น

ถึงกระนั้น ปัญหาอันเกิดจากสนิมในเนื้อใน การเฝ้ามองของผู้มีอำนาจที่เชื่อว่า การมีไทยพีบีเอสอยู่ ไม่มีความจำเป็นต่อโลก บังคับ ควบคุมไม่ได้ ฝากข่าวไม่ได้ ปิดข่าวไม่ได้ ก็เป็นเงื่อนไขหนึ่งที่ ไทยพีบีเอส อาจต้องหวั่นไหว และอาจถูกรวบรัด ตัดตอนเอาง่าย ๆเหมือน กสทช.ที่อำนาจรัฐคืบคลานเข้ามาเงียบๆ  และจัดการไปเป็นองค์กรใต้รัฐเรียบร้อย โดยผ่านการแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ 

นี่จึงเป็นสถานการณ์ที่เรียกร้อง ความเข้มแข็งและการยืนหยัด ต้านอำนาจภายนอก ของผู้อำนวยการคนใหม่ การที่ต้องทำให้เนื้อหาการผลิตข่าวและรายการ แม้ไม่อาจวัดด้วยเรทติ้งเช่นเดียวกับทีวีเชิงพาณิชย์ แต่ต้องมีคนดู มีคนสนใจติดตาม และอาจจะต้องทบทวนภาพของทีวีเอ็นจีโอ ที่ว่ากันว่า มีอิทธิพลมาจากสภาผู้ชมและผู้ฟังรายการ

สุดท้ายสำคัญยิ่ง คือบทบาทความสัมพันธ์ระหว่างกรรมการนโยบาย ที่เทียบเท่าคณะรัฐมนตรีของไทยพีบีเอส กับผู้อำนวยการ ต้องพูดจาภาษาเดียวกัน ต้องสื่อสารกันรู้เรื่อง และต้องชัดเจนในประเด็น อำนาจการตัดสินใจ  อะไรที่ต้องรายงาน หรือไม่รายงาน เรื่องเหล่านี้เป็นปัญหาปลีกย่อย แต่ก็ส่งผลกระทบใหญ่โตอย่างที่ไม่ควรเป็น

ใครคือคนนั้น ? ใครที่มีคุณสมบัติแบบนี้ แม้มิใช่ก็ใกล้เคียง

โปรดติดตามตอนต่อไป

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1128 วันที่ 5 - 11 พฤษภาคม 2560)

  
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์