วันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2560

หล่มภูเขียว-ถ้ำน้ำบ่อผี หลุมยุบมหัศจรรย์

จำนวนผู้เข้าชม

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายนที่ผ่านมา เวลา 14.30 นาฬิกา ช่อง NOW 26 หากใครได้ดูรายการสุดขอบฟ้าท้าเที่ยวไทย ที่นอกจากนำเสนอสารคดีโรยตัวถ้ำน้ำบ่อผี จังหวัดแม่ฮ่องสอนแล้ว ยังมีช่วงกลางรายการที่กล่าวถึงหล่มภูเขียว อำเภองาว แหล่งท่องเที่ยวอันซีนของบ้านเราในเชิงเปรียบเทียบลักษณะทางภูมิประเทศ

นักท่องเที่ยวสายผจญภัยคงเคยได้ยินชื่อถ้ำน้ำบ่อผีในเขตหมู่บ้านลุกข้าวหลาม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน นี่คือหลุมยุบขนาดใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งสามารถลงไปเยือนได้

เราเรียกถ้ำน้ำบ่อผีว่า “ถ้ำ” แต่จริง ๆ แล้วมันคือหลุมยุบ (Sinkhole หรือ Doline) เหตุที่ถูกเรียกว่า ถ้ำ เป็นเพราะด้านล่างมีโถงถ้ำสูงใหญ่อยู่ทางด้านทิศตะวันตก ซึ่งมองเห็นได้ชัดเจนจากจุดชมวิวในบริเวณปากหลุมยุบ ไม่ไกลจากจุดพักแรม

ความยิ่งใหญ่ของหลุมยุบน้ำบ่อผีนี้ ดูได้จากขนาดที่เทียบเท่ากับสนามฟุตบอล 2 สนาม ทว่าสิ่งที่ชวนตื่นตาตื่นใจมากที่สุดคือ ความลึก ซึ่งจุดที่ลึกที่สุด วัดจากขอบปากหลุมลงไปยังพื้นดินได้ถึง 140 เมตร ห้วงลึกนั้นไม่มีทางเข้า-ออกใด ๆ จากเบื้องล่าง ทำได้เพียงวิธีเดียวคือ อาศัยเชือกยาว ๆ และอุปกรณ์เฉพาะสำหรับการโรยตัวและไต่กลับขึ้นมาเท่านั้น

ด้านหล่มภูเขียว ในทางธรณีวิทยา หล่มภูเขียวเกิดจากการยุบตัวลงมาของหินปูน ซึ่งเคยเป็นเพดานถ้ำมาก่อน แล้วจมลงใต้น้ำ เกิดเป็นแอ่งขนาดใหญ่ที่มีหินปูนโอบรอบ โดยสายน้ำได้พัดพาตะกอนหินปูนลงมา ซึ่งตะกอนหินปูนนี้ไม่ได้ทำให้น้ำขุ่น เพราะมาจับตัวกันเป็นชั้น ส่วนน้ำที่เราเห็นว่าเป็นสีเขียว จนเป็นที่มาของชื่อหล่มภูเขียวนั้น เกิดจากการสะท้อนแสงของตะไคร่น้ำและแพลงก์ตอน

การไปเที่ยวหล่มภูเขียวทำได้เพียงชมความมหัศจรรย์อยู่ห่าง ๆ ขณะที่ถ้ำน้ำบ่อผีมีทริปโรยตัวอย่างเป็นกิจจะลักษณะ จัดโดยกลุ่มนักผจญภัยรุ่นใหม่ ซึ่งเชี่ยวชาญในภูมิประเทศและการใช้อุปกรณ์โรยตัว แต่ยอมรับว่าเห็นภาพหล่มภูเขียวจากโดรนของทางรายการแล้ว ช่างน่าตื่นตา สมเป็นมรกตกลางพงไพรจริง ๆ

ชวนกันรู้จักหลุมยุบ

หลุมยุบ (Sinkhole หรือ Doline) คือลักษณะทางธรณีวิทยาประเภทหนึ่งที่เกิดขึ้นในพื้นที่ที่ชั้นหินใต้ดินเป็นหินปูน หรือหินที่ละลายได้ดีในน้ำที่มีสภาพเป็นกรด นึกภาพง่าย ๆ คือ ภูเขาที่ด้านในกลวงเป็นโถงถ้ำ แล้ววันหนึ่งเพดานถ้ำถล่มลงไปกองอยู่ที่ด้นถ้ำ เปิดช่องโหว่เป็นวงกลม หรือวงรีไว้ด้านบน ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมีตั้งแต่ไม่ถึง 1 เมตร ไปจนถึงหลายกิโลเมตร ทำให้แสงส่องลงไปได้ และมีความลึกได้ตั้งแต่ 1 เมตร จนถึงกว่าร้อยเมตร

การเกิดหลุมยุบมี 4 แบบ คือ

การละลาย เป็นการเกิดที่พบบ่อยที่สุด โดยผิวหินปูนด้านบนถูกละลายโดยน้ำที่มีสภาพเป็นกรด แล้วสึกกร่อนลงไปจนกลายเป็นหลุม มีขอบหลุมเอียงลาด

การถล่ม เกิดจากผิวหินปูนทานน้ำหนักของดินที่ทับถมอยู่ด้านบนไม่ได้ จึงถล่มลงไปกองอยู่เบื้องล่าง หลุมยุบที่เกิดจากการถล่มจะมีขอบหลุมชันดิ่ง คล้ายมีกำแพงหินรายล้อมพื้นที่ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ หล่มภูเขียวและถ้ำน้ำบ่อผีนั่นเอง

การทับถม หลุมยุบแบบนี้เกิดขึ้นเพราะตะกอนที่ทับถมอยู่บนชั้นหินถูกน้ำชะ แล้วแทรกเข้าไปในรอยแยกของชั้นหินด้านล่าง นานวันเข้าก็ทำให้ผิวด้านบนยุบลงไป

การจม เกิดขึ้นเมื่อชั้นหินใต้ดินถูกละลาย ตามมาด้วยการยุบลงของผิวด้านบน เกิดเป็นหลุมยุบขนาดใหญ่ที่ไม่ลาดชัน

ในด้านการท่องเที่ยว หลุมยุบหลายแห่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศไทย เช่น ถ้ำมรกต จังหวัดตรัง ทะเลใน หมู่เกาะอ่างทอง จังหวัดสุราษฎร์ธานี ฯลฯ ซึ่งเป็นหลุมยุบที่น้ำทะเลไหลผ่านรอยแยกเบื้องล่างมาขังรวมกันจนกลายเป็นแอ่งใหญ่ ส่วนถ้ำน้ำบ่อผีเป็นหลุมยุบที่นักสำรวจหลายคนเชื่อว่า ลำน้ำลางเคยไหลผ่าน แต่ทุกวันนี้ทางน้ำเปลี่ยนทิศ บริเวณรอบ ๆ ถ้ำน้ำบ่อผีจึงไม่มีแหล่งน้ำบนดิน

 (หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1134 วันที่ 23 - 29 มิถุนายน 2560)

Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์