เรื่องของ “กองทุนไฟฟ้า” ที่ “ลานนาโพสต์”
เปิดประเด็นเป็นฉบับแรก ก่อนออนไลน์ไทยรัฐ ก่อนนสพ.ฉบับอื่นๆ
จนกระทั่งเสากิโลเมตรยักษ์ ที่อดีตผู้ว่าฯ
ใช้เงินกองทุนก้อนโตล้างผลาญสร้างกันขึ้นมา ถึงต้องทุบทิ้ง สายตาทุกคนจึงจับจ้องมาที่กองทุนที่มีคำถามเรื่องการบริหารจัดการตลอดมาว่า
ถึงเวลาที่จะสังคายนากันขนานใหญ่หรือยัง
ปรากฏการณ์การใช้เงินกองทุน
ชนิดละลายแม่น้ำนี้ ใช่ว่าจะเป็นเรื่องทุจริตแต่ประการเดียว
อาจจะมีเหตุผลอื่นๆที่คนข้างนอกไม่รู้ การใช้จ่ายเงินกองทุนในบางโครงการอาจเป็นประโยชน์กับชาวบ้านก็ได้
หรืออาจมีการใช้เงินไปเล่นแร่แปรธาตุ
โดยที่ผลประโยชน์จริงๆตกอยู่กับกลุ่มคนเพียงบางกลุ่มก็ได้
เรื่องราวนี้
จะชัดเจนอีกไม่นาน หลังจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.)
ที่กำลังบุกหนักเรื่องเงินทุจริตบูรณะและปฏิสังขรณ์วัด ลงพื้นที่มากางบัญชีตรวจสอบกันละเอียดยิบ
ไม่ให้ผ่านตาแม้แต่สตางค์เดียว
ไม่เพียงข้อกังขาเรื่องนี้
มีคนใหญ่คนโต จนกระทั่งลงมาถึงชาวบ้านหลายคน มีคำถามว่า เหตุใดองค์กรพัฒนาเอกชน
ที่ชื่อสมาคมพัฒนาแม่เมาะ
สมาคมที่มีคุณพนิดา ทักษิณาพิมุข เป็นนายกมาอย่างยาวนาน โดยไม่มีวาระ
ถึงได้รับการเอื้อเฟื้อเป็นพิเศษจากการไฟฟ้าแม่เมาะ ไม่เรียกว่าผูกขาด
ก็อาจเรียกว่าผูกปิ่นโตกินกับแม่เมาะนับสิบๆปี
แล้วผลการใช้งบประมาณมหาศาลนั้น ยังประโยชน์แก่ชุมชนแม่เมาะมากน้อย เพียงใด
เป็นเรื่องที่ต้องการคำตอบ เป็นเรื่องที่สมาคมต้องแสดงให้เห็นการมีธรรมาภิบาล
ชัดเจน โปร่งใส ตรวจสอบได้
นี่มิใช่เรื่องผิด
เรื่องถูก หรือทุจริต คอรัปชั่น แต่เป็นเรื่องปกติที่สังคมควรตั้งคำถามได้
โดยเฉพาะเมื่อเป็นเงินที่มีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่า
ตั้งขึ้นมาเพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตคนแม่เมาะในฐานะที่พวกเขาต้องอยู่ในพื้นที่เสี่ยงตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันจากการมีอยู่ของเหมืองและโรงไฟฟ้า
แม่เมาะ
สืบค้นข้อมูล พบว่า
สมาคมพัฒนาแม่เมาะ เริ่มจากคณะกรรมการ กฟผ.มีมติให้จัดตั้งกองทุนพัฒนาคุณภาพชีวิตราษฏร
อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ในปี 2543 เพื่อสนับสนุนด้านการพัฒนาและส่งเสริมการศึกษาในพื้นที่
อำเภอแม่เมาะ ส่งเสริมศิลปวัฒนธรรมและศาสนา รวมทั้งพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ
ต่อมา ในปี 2554 กองทุนได้เปลี่ยนชื่อเป็นสมาคมพัฒนาแม่เมาะ
มีคุณพนิดา ทักษิณาพิมุข เป็นนายกฯนับจากวันนั้น จนถึงวันนี้
กฟผ.ได้จัดสรรงบประมาณสนับสนุนสมาคม
ตั้งแต่ปี 2543-2558
รวมทั้งสิ้น 470 ล้านบาท เฉลี่ยปีละ 30
ล้านบาท ตัวเลขล่าสุดเท่าที่สืบค้นได้ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2557 สมาคมพัฒนาแม่เมาะมีเงินฝากสะสมคงเหลือประมาณ
55 ล้านบาท
โครงสร้างการบริหารสมาคม
กำหนดให้มีคณะกรรมการบริหารจำนวนไม่น้อยกว่า 12 คน และไม่เกิน 19 คน ประกอบด้วยตัวแทนจาก 5 ตำบล ตำบลละไม่เกิน 3
คน แต่จำนวนรวมของราษฏรต้องไม่น้อยกว่า 10 คน
และผู้แทนของส่วนราชการที่ปฏิบัติงานในอำเภอแม่เมาะ ไม่ต่ำกว่า 6 เดือน จำนวน 4 คน ซึ่งคณะกรรมการจะถูกเลือกโดยสมาชิก
ดำรงตำแหน่งวาระละ 4 ปี
ดูโครงสร้างบริหารแล้ว
ถ้าไม่นับรวมเรื่องวาระของนายกสมาคม ก็เรียกว่า ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมอย่างลงตัว
โดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่ แต่ว่ากันว่า
อย่าเพิ่งเชื่อภาพที่เห็น เรื่องกองทุนไฟฟ้า ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่า คนเสียงดัง
กับคนที่ชำนาญการเท่านั้น ที่จะได้ประโยชน์จากกองทุน
สมาคมพัฒนาแม่เมาะ
จะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ไม่มีใครยืนยัน แต่เมื่อมีคำถามจากสังคม
ก็แปลว่าคำตอบยังน้อยเกินไป หรือไม่มีคำตอบ
สมาคมจะมีธรรมาภิบาล
พอจะเข้าใจว่า เรื่องราวเหล่านี้ จำเป็นต้องแสดงความโปร่งใส ชัดเจนหรือไม่
ก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของคณะกรรมการ
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1133 วันที่ 16 -22 มิถุนายน 2560)
ดีครับ...ตรวจสอบให้ภ้วนถี่ครับ...เงินมากมาย...มันหายไปไหน...พัฒนาแม่เมาะตรงไหนบ้าง...
ตอบลบ