การปฏิรูปสื่อวิทยุกระจายเสียงและโทรทัศน์
อันเป็นผลพวงจากการต่อสู้ในเหตุการณ์เดือนพฤษภาคม 2535 กระแสลมกำลังหวลกลับ
อย่างน้อย 2 องค์กร ที่ก่อเกิดมาจากความตาย
และการสูญหายของผู้คนจำนวนมาก ในปฏิบัติการบิดเบือนข้อมูล ข่าวสารโดยสื่อของรัฐ
คือ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
รากงอกของสถานีโทรทัศน์เสรีแห่งแรก กำลังสั่นคลอน
ผลของการแก้ไขเพิ่มเติม
เปลี่ยนแปลงหลักการสำคัญของ พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง
วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เปลี่ยนสถานะขององค์กรนี้
ให้กลายเป็นองค์กรใต้รัฐ ไม่ใช่องค์กรของรัฐที่เป็นอิสระอีกต่อไป
นอกจากนั้น
การได้มาซึ่ง “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์
และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” หรือ กสทช ก็ถูกออกแบบไว้สำหรับบุคคลบางประเภท เช่น
ข้าราชการระดับสูง หรือข้าราชการทหาร ยศตั้งแต่พันเอก
ขั้นเงินเดือนพันเอกพิเศษขึ้นไป ซึ่งเรื่องของ กสทช.นี้
คงต้องอธิบายในรายละเอียดอย่างลึกซึ้งรอบด้านอีกครั้งหนึ่ง
แต่องค์การ
ที่ยังคงต้านทานอำนาจภายนอกไว้ได้ หากแต่อยู่ในสถานะที่อ่อนไหวอย่างยิ่งขณะนี้ คือ
ไทยพีบีเอส
นานเดือนแล้วที่
ไทยพีบีเอส ตกอยู่ในสภาวะสุญญากาศ นับแต่มรสุมหุ้นกู้ ซีพีเอฟ ที่ทำให้
ทันตแพทย์กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์
ต้องพ้นจากตำแหน่งก่อนวาระ
และทำให้ต้องสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส กันใหม่ ที่กระบวนการสรรหา
เพิ่งเริ่มต้นและจบลงเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา
จากนี้
ก็เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการนโยบาย หรือ
กนย.ที่จะพิจารณารายชื่อที่ผ่านด่านแรกจากกรรมการสรรหา ซึ่งโดยกระบวนการ
กนย.ก็น่าจะได้เลือก ผอ.ไทยพีบีเอส ประกอบกับ คุณสมบัติของ ผอ.ที่กำหนดไว้ในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย
พ.ศ.2551
รวมทั้งลำดับคะแนน
ที่ได้จากการลงมติของกรรมการสรรหา
ซึ่งเขียนติดข้างฝาไว้ได้ว่า
เขาคือ ....
ผมยังยืนยันว่า
คุณสมบัติสำคัญอย่างยิ่ง ที่กำหนดไว้เป็นข้อแรกตามกฎหมาย
นอกเหนือจากคุณสมบัติพื้นฐาน คือ จะต้องมีความรู้ ความเข้าใจ และมีความเชี่ยวชาญ
หรือมีประสบการณ์ในกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์
หรือการสื่อสารมวลชน เป็นคุณสมบัติที่
“ต้องมี” ไม่ใช่ “พึงมี”
ความสง่างามของ
ผอ.ไทยพีบีเอส คนใหม่ และกนย.เฉพาะภาระหน้าที่เลือก ผอ.ไทยพีบีเอสครั้งนี้
คือการเลือกคนให้เหมาะสมกับงาน
มิใช่เลือกงาน แล้วพยายามอธิบายให้ได้ว่า งานนั้นๆ
เป็นงานที่เกี่ยวข้องกับสื่อสารมวลชน
ที่ว่า
เฉพาะภาระหน้าที่ เลือก ผอ.ไทยพีบีเอส ก็เนื่องเพราะ
ยังมีภาระการพิสูจน์ในเรื่องการซื้อหุ้นกู้ ซีพีเอฟ
ที่น่าจะไม่ได้จบที่แถลงการณ์ของ กนย.เพียง 2 ฉบับ
เพราะการยืนยันความถูกต้องในการซื้อหุ้นกู้ที่ขัดต่อบทบัญญัติกฎหมาย
และเจตนารมณ์ของกฎหมายจัดตั้ง ไทยพีบีเอส ถูกกำหนดไว้ในข้อบังคับว่าด้วยจริยธรรมของกรรมการว่า
จะต้องยึดหลักการยอมรับการตรวจสอบ
ทั้งนี้
กรรมการจะต้องยอมรับการตรวจสอบ
และรับผิดชอบต่อการตัดสินใจทั้งในระดับนโยบายและการปฏิบัติงานตามลำดับชั้น
ว่าที่ ผอ.ไทยพีบีเอส
คนใหม่ คงไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้อง ต้องมาร่วมรับผิดชอบกรณีการซื้อหุ้นกู้ ซีพีเอฟ
แต่ในช่วงจังหวะเวลาที่กฎหมายกำหนดให้ อย่างน้อยทุกๆ สิบปี
นับจากวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ ให้มีการทบทวนรายได้ ภารกิจ สร้างและส่งเสริมการสื่อสารสาธารณะ
แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ก็เป็นภาระหนักที่ต้องสังคายนา ไทยพีบีเอส
ทุกด้าน ควบคู่ไปกับการกู้วิกฤติศรัทธาไทยพีบีเอส
ซึ่งถดถอยไปมากในห้วงเวลาที่ผ่านมา
อีกทั้งต้องฟื้นฟู
เรียกขวัญกำลังใจพนักงานให้กลับมาเดินเคียงบ่าเคียงไหล่ ฝ่าฟัน
พิสูจน์ความเป็นสื่อสาธารณะกันอีกครั้ง
เรียกว่าเป็นความกล้าหาญที่เสนอตัวเข้ามาทำงานในภาวะเช่นนี้
ไทยพีบีเอส
เป็นป้อมค่ายสุดท้ายแล้วของความเป็นสื่อสาธารณะ ที่เป็นอิสระ
เป็นด่านสุดท้ายของการปฏิรูปสื่อวิทยุและโทรทัศน์
ถ้าไทยพีบีเอสอ่อนแอเหมือน กสทช.โรคร้ายของอำนาจจะเข้ามาแทรกทันที
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1135 วันที่ 30 มิถุนายน - 6 กรกฎาคม 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น