สั ปดาห์ก่อน “จอกอ” ติดสอยห้อยตาม
บรรดาผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการสื่อ ไปจับเข่าคุย กับอาจารย์ ดร.วิษณุ เครืองาม
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้ที่ได้รับมอบหมายจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
นายกรัฐมนตรีให้ดูแลกฎหมายสื่อที่ส่งมาจาก สปท.
รายละเอียดคงบอกไม่ได้ทั้งหมด
แต่หลักคือจะต้องทบทวนกฎหมายนี้ใหม่ทั้งฉบับ
โดยเฉพาะประเด็นการแทรกแซงการทำงานของสื่อ
โดยผ่านตัวแทนรัฐในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ทั้งนี้จะยึดหลักส่งเสริมสนับสนุนให้สื่อกำกับ ดูแลกันเอง
ก่อนหน้านี้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ
(สปท.) ได้ผ่าน ร่างพ.ร.บ.การคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ
ส่งเสริมจริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน
พ.ศ....ตามข้อเสนอของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน
แม้ว่าองค์กรวิชาชีพสื่อ
รวม 30
องค์กร จะได้ คัดค้านร่างกฎหมายดังกล่าว ว่าเป็นกฎหมายที่มีหลักการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย
ทั้งขัดแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญหลายมาตรา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเนื้อหาสำคัญของกฎหมายที่เปิดโอกาสให้มีการครอบงำ
และแทรกแซงการทำงานของสื่อมวลชน ลิดรอนสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชนและประชาชน สิทธิการรับรู้ข้อมูลข่าวสารของประชาชน
และจะยังส่งผลกระทบต่อสังคมอย่างกว้างขวางในอนาคต จะก้าวเดินต่อไปอย่างไร
ตามขั้นตอน สปท.ให้ความเห็นชอบ
และแก้ไขถ้อยคำตามที่มีการตั้งข้อสังเกตแล้ว ก็จะส่งไปยังรัฐบาล โดยพล.อ.ประยุทธ์
จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้นายวิษณุ เครืองาม
รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นผู้กำกับ ดูแล ซึ่งนายวิษณุ
ได้แสดงท่าทีในการรับฟังความเห็นแย้ง
โดยจะเชิญองค์กรสื่อที่เกี่ยวข้องร่วมแสดงความเห็น
อีกด้านหนึ่งอาจส่งร่าง
พ.ร.บ.ให้คณะกรรมการที่ปรึกษาเพื่อกำกับการปฏิรูปกฎหมาย อันมีนายบวรศักดิ์
อุวรรณโณ พิจารณากลั่นกรอง แล้วส่งให้คณะกรรมการกฤษฏีกา กฤษฏีกาพิจารณาแล้ว
ก็ส่งกลับให้รัฐบาล คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ
แล้วเสนอสภานิติบัญญัติตราเป็นกฎหมายใช้บังคับต่อไป
ที่ว่ามานี้เป็นขั้นตอนปกติ
แต่อาจมีเหตุพิเศษในการใช้วิธีรวบรัดตัดตอน เพื่อให้ออกเป็นกฏหมายโดยเร็ว
เนื่องจากเป็นกฎหมาย 3
ดาวของรัฐบาล ซึ่งยังคาดเดาไม่ได้ว่าจะใช้อำนาจพิเศษแบบใด
หรือจะใช้หรือไม่ เมื่อประเมินท่าทีล่าสุดของนายกรัฐมนตรีแล้วพบว่า
มีความเข้าใจเรื่องการทำงานของสื่อมากขึ้น
มีบางประเด็นที่ไม่ได้ข้อยุติ
และต้องหาทางออก เช่น นิยามคำว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน”
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ นิยามคำว่า ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ให้หมายความว่า
บุคคลซึ่งประกอบวิชาชีพเป็นสื่อกลาง เพื่อนำข่าวสาร สาร
และเนื้อหาเพื่อประโยชน์สาธารณะทุกประเภทไปสู่มวลชนไม่ว่าจะอยู่ในรูปแบบใดอย่างเป็นปกติธุระ
หรือทำอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ได้รับค่าตอบแทนเป็นประจำจากเจ้าของสื่อ
หรือมีรายได้จากการงานที่กระทำนั้น ไม่ว่าทั้งทางตรงและทางอ้อม
เมื่อพิจารณานิยามคำว่าผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน
ตามร่างกฎหมายฉบับนี้ ประกอบกับความเห็นสาธารณะของประธานกรรมาธิการฯ
นิยามนี้มุ่งหมายจะครอบคลุมไปถึงผู้ใช้สื่อทุกประเภท ทั้ง “สื่อบุคคล” และ
“สื่อวิชาชีพ” ความหมายก็คือ ประชาชนทั่วไป ที่ใช้สื่อโดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์
ซึ่งมีกฎหมายเฉพาะกำกับความรับผิดอยู่แล้ว จะต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย
ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสิทธิพื้นฐานในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
อันจะมีภาระผูกพันตามกฎหมายซึ่งจะต้องมีใบอนุญาตและอาจถูกเพิกถอนใบอนุญาต
ดังจะกล่าวต่อไป
ประเด็นถัดมาคือ
การกำหนดให้มีใบรับรองแทนใบอนุญาต ซึ่งก็ยังไม่ชัดว่าคำว่าใบรับรองนั้น
คือใบอนุญาตซ่อนรูปหรือไม่ เพราะนี่เป็นหลักการใหญ่ที่กรรมาธิการต้องการ
หากระดับความเข้มของใบรับรองไม่ต่างไปจากใบอนุญาต ก็ถือเป็นการกำหนดหลักการที่ขัดแย้งกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
ในหลายมาตรา เช่น มาตรา 26 ว่าด้วยการตรากฎหมายที่มีผลเป็นการจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคล มาตรา 34
และมาตรา 35 ว่าด้วยสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น การพูด
การเขียน การพิมพ์ การโฆษณา และการสื่อความหมายโดยวิธีอื่นของประชาชน และสื่อมวลชน
มาตรา 77 ว่าด้วยการที่รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จำเป็น
และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจำเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์
หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีวิตหรือการประกอบอาชีพ
นอกจากนั้น มาตรา 77 ยังบัญญัติว่า ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ
รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง
วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ ซึ่งร่างพระราชบัญญัตินี้ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการดังกล่าวแต่อย่างใด
มาตรา 77
ยังกล่าวถึง การที่รัฐจะใช้ระบบอนุญาต
พึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฏหมายเฉพาะกรณีที่จำเป็น
พึงกำหนดหลักเกณฑ์การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ
ที่บัญญัติไว้ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกำหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง
ประเด็นเรื่องการมีตัวแทนรัฐในคณะกรรมการสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ กำหนดให้มีตัวแทนของรัฐ
ร่วมเป็นคณะกรรมการโดยตำแหน่งสองตำแหน่ง คือปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และปลัดกระทรวงวัฒนธรรม
ซึ่งขัดแย้งกับบทบาทหน้าที่ การทำงานของสื่อมวลชน ที่ต้องตรวจสอบอำนาจรัฐ
ตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน เมื่อผู้ที่ต้องถูกตรวจสอบ
กลายมาเป็นผู้ตรวจสอบเสียเอง
ก็เกิดกรณีที่อาจมีความขัดแย้งในเชิงอำนาจและผลประโยชน์ได้ เป็นอำนาจซ้ำซ้อน
ที่ไม่ส่งผลดีต่อการบริหารราชการแผ่นดิน ที่ต้องมีธรรมาภิบาล และมีความโปร่งใส
นอกจากนั้น
เมื่อพิจารณาเปรียบเทียบกับสภาวิชาชีพอื่นๆ เช่น แพทยสภา สภาทนายความ
ก็ไม่ปรากฏว่าสภาวิชาชีพเหล่านั้น
มีบุคคลภายนอกหรือตัวแทนภาครัฐเข้าไปเป็นกรรมการแต่อย่างใด
จึงไม่มีเหตุผลความจำเป็นอย่างใด
ที่จะต้องมีตัวแทนภาครัฐในสภาวิชาชีพสื่อมวลชนแห่งชาติ
ประเด็นเหล่านี้ยังไม่ตกไป
และองค์การสื่อยังต้องเคลื่อนไหวคัดค้านจนถึงที่สุด เพราะคนเขียนกฏหมาย “ตีนลอย”
ไม่เคยรู้ ไม่เคยสัมผัสเรื่องสื่ออย่างแท้จริงเลย ยิ่งคิด ยิ่งเขียน
ยิ่งเตลิดไปไกลสุดกู่
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1134 วันที่ 23 - 29 มิถุนายน 2560)
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1134 วันที่ 23 - 29 มิถุนายน 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น