· ใช้เงินไม่คุ้ม
หลักกิโลเมตรยักษ์
ตั้งอยู่บริเวณสี่แยกภาคเหนือ ซึ่งเป็นประตูที่จะเดินทางเชื่อมโยงไปหลายจังหวัด
ไม่ว่าจะเป็น เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย แพร่
น่าน พะเยา โดยใช้งบประมาณก่อสร้างจากงบกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
จำนวน 2.89 ล้านบาท ในสมัยที่นายดิเรก
ก้อนกลีบ เป็นผู้ว่าราชการ จังหวัดลำปาง ตั้งแต่เริ่มก่อสร้างเมื่อปี
2551
ได้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์มาอย่างต่อเนื่องถึงการนำงบประมาณกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้ามาใช้แบบไม่เกิดประโยชน์
ซึ่งการก่อสร้างหลักกิโลเมตรยักษ์
มีการตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการก่อสร้างที่ใช้งบประมาณสูงเกินไป
ลักษณะการก่อสร้างตรงกลางเปิดโล่งมีเพียงการก่ออิฐขึ้นมารอบ 4 ด้านเท่านั้น ล่าสุด พบว่าแขวงทางหลวงลำปางที่ 1 เตรียมจะก่อสร้างถนนยกระดับซึ่งจะต้องพาดผ่านบริเวณสี่แยกภาคเหนือ เชื่อมโยงกับถนนวงแหวนของ
จ.ลำปาง
ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการประมาณปี 2561 ซึ่งจะต้องทำการทุบหลักกิโลเมตรยักษ์ดังกล่าว
· ทั้งเห็นด้วย ไม่เห็นด้วย
ทั้งนี้
จากกระแสทางสื่อสังคมออนไลน์ ในกลุ่มลำปางซิตี้ สมาชิกหลักเป็นชาวลำปาง กว่า 1.5 แสนคน
ซึ่งนายสุวัฒน์ พรหมสุวรรณ ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง
ได้นำเรื่องราวของหลักกิโลเมตรยักษ์ลงในกลุ่มลำปางซิตี้
เพื่อสอบถามความเห็นของประชาชนชาวลำปางว่าควรทำอย่างไรกับหลักกิโลเมตรยักษ์ ต่างแสดงความคิดเห็นกันอย่างกว้างขวาง
มีทั้งต้องการให้ทุบเพื่อก่อสร้างถนนยกระดับ เพราะไม่เห็นว่าหลักกิโลยักษ์มีความสวยงาม
หรือเป็นสัญลักษณ์ของ จ.ลำปางแต่อย่างใด
ควรรับความเจริญเข้ามาในพื้นที่ดีกว่า ส่วนกลุ่มที่ไม่อยากให้ทุบทิ้ง ให้เหตุผลว่าหลักกิโลเมตรยักษ์ถือเป็นแลนมาร์คของลำปาง เป็นจุดเด่นที่ทำให้ทราบว่าที่นี่คือ จ.ลำปาง ควรจะคงไว้ หรือใช้วิธียกออก
และย้ายไปตั้งในสถานที่อื่น
· มีแผนสร้างถนนวงแหวน
สำหรับการจะทุบหลักกิโลเมตรยักษ์ทิ้งหรือไม่นั้น
นายเอกนรินทร์ จินทะวงศ์ ผอ.แขวงทางหลวงลำปางที่ 1 เปิดเผยว่า ในระยะเวลา 6
ปีที่จะถึงนี้ จ.ลำปางจะมีการก่อสร้างถนนวงแหวนรอบนอก
จึงต้องสร้างทางยกระดับข้ามบริเวณสี่แยกเชียงใหม่และสี่แยกภาคเหนือ
เนื่องจากบริเวณดังกล่าว มีกายภาพทางแยกไม่ดีมาตั้งแต่ต้น เพราะมีสะพานข้ามแม่น้ำวังขนาดใหญ่อยู่ใกล้กับทางแยก
มีสี่แยกไฟแดงใกล้กันมาก การแก้ปัญหารถติดในบริเวณดังกล่าว
ทางผู้ออกแบบจึงได้จัดทำโครงการสร้างสะพานยกระดับ ตั้งแต่สะพานข้ามแม่น้ำวังนาก่วม
ข้ามแยกไฟแดงเชียงใหม่ และข้ามแยกไฟแดงภาคเหนือ
โดยไม่ติดไฟแดงเพื่อเข้าสู่เส้นเลี่ยงเมืองได้เลย
เป็นการเชื่อมต่อกับถนนวงแหวนสายอื่นให้สมบูรณ์ในปี 2566 สำหรับคนที่จะเดินทางไป จ.ตาก จ.กรุงเทพฯ จะมีทางเบี่ยงซ้ายอ้อมลงใต้สะพานเพื่อไปติดไฟแดงมุ่งหน้าเข้าสู่ถนนทางหลวงหมายเลข
1 ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่าสร้างทางยกระดับแล้ว
เหตุใดยังมีการติดไฟแดงอยู่ เป็นเพราะกายภาพของทางแยกไม่เอื้อต่อการทำจุดทางโค้งและทางกลับรถเต็มรูปแบบ
เนื่องจากต้องมีการเวนคืนบ้านเรือนจำนวนมากและใช้เงินงบประมาณมหาศาล
· หลักกิโลยักษ์ขวาง
นายเอกนรินทร์
กล่าวต่อไปว่า เรื่องหลักกิโลเมตรยักษ์ได้มีการปรึกษากับทีมผู้ออกแบบ หากสร้างสะพานยกระดับผู้ออกแบบยืนยันว่าหลักกิโลเมตรยักษ์ได้รับผลกระทบแน่นอน
เพราะต้องขยายโครงสร้างเป็นตัวตอม่อต่างๆ จะต้องทำชิดเขตทางด้านใน ซึ่งตัวหลักกิโลยักษ์ไม่ใช่โครงสร้างที่สามารถจะตัดเฉือนออกบางส่วนได้ ถ้าโดนเฉือนไปนิดหน่อยก็ต้องทุบออกอยู่ดี เมื่อทำสัญญาก่อสร้างและดำเนินการตามสัญญา
คาดว่าเริ่มวันที่ 1 ต.ค.60
ทางวิศวกรจะสรุปปัญหาและอุปสรรคแจ้งเข้ามาที่แขวงทางหลวง เมื่อพบว่าหลักกิโลเมตรยักษ์เป็นปัญหาอุปสรรคก็จะต้องดำเนินการรื้อถอน
ซึ่งการรื้อมีเงื่อนไขตาม พ.ร.บ.ทางหลวง พ.ศ.2535 มาตรา 37 สรุปได้ว่า
ไม่ว่าการขออนุญาตในเขตทางหลวงจะถูกหรือผิด หากกรมทางหลวงมีความจำเป็นแก่งานทาง
สามารถรื้อถอน ทำลาย ได้โดยอาศัยอำนาจตามกฎหมายได้
· เข้าใจคนลำปาง
ผอ.แขวงทางหลวงลำปางที่ 1 กล่าวว่า เข้าใจความรู้สึกของคนลำปาง ที่รู้สึกผูกพันกับหลักกิโลยักษ์เพราะสร้างมานาน
9 ปีแล้ว การที่จะหายไปคงต้องทำใจระดับหนึ่ง ซึ่งทางผู้ว่าฯท่านก็เป็นห่วง ได้สอบถามมาว่าจะต้องรื้อออกหรือไม่
เมื่อมองดูความจำเป็นแล้วก็ต้องย้อนถามกลับว่าหลักกิโลยักษ์มีความจำเป็นอย่างไร
ที่เห็นได้ชัดคือหลักกิโลยักษ์มีไว้สำหรับถ่ายภาพเป็นที่ระลึกเท่านั้น
ไม่ได้เป็นอาคารควบคุมการจราจรอยู่ด้านใน หรือมีอะไรพิเศษเลย
· ดูแลหลักกิโล ไม่ใช่ภารกิจ
และจากที่มีคนสอบถามเข้ามามากมายว่าทำไมกรมทางหลวงไม่ดูแล
ไม่ทำความสะอาด ไม่ตกแต่งตัดหญ้า เรื่องนี้ประชาชนเข้าใจผิดว่าเป็นหน้าที่ของกรมทางหลวง
ขอชี้แจงว่าถึงแม้ว่าสถานที่จะเป็นของกรมทางหลวงก็จริง แต่ภารกิจของหลักกรมทางหลวงเป็นการปรับปรุงซ่อมทาง
เพื่อให้ประชาชนปลอดภัย ซึ่งการดูแลหลักกิโลยักษ์ไม่ใช่ภารกิจของกรมทางหลวง
· นับหนึ่งใหม่ให้ถูกต้องได้
นายเอกนรินทร์
กล่าวอีกว่า กรมทางหลวงมีพื้นที่ 10 ไร่
ที่ได้ดำเนินการเวนคืนแล้ว เป็นจุดที่จะใช้สร้างช่วงโค้งของถนนยกระดับ
ซึ่งตรงกลางจะเป็นพื้นที่ว่าง
ความคิดเห็นส่วนตัวมองว่าหากจะมาเริ่มต้นกันใหม่อย่างถูกต้อง
ก็สามารถขอใช้พื้นที่ในบริเวณนี้มาทำประโยชน์ได้ อาจจะทำเป็นสวนสาธารณะ ปลูกต้นไม้
ดอกไม้สวยๆ หรือจะสร้างหลักกิโลยักษ์ขึ้นใหม่ แต่หลักการทำต้องขึ้นอยู่กับความปลอดภัยของผู้ใช้รถใช้ถนน
และมีการบริหารจัดการที่ดี ซึ่งสามารถขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมทางหลวงอย่างถูกต้องตามระเบียบและขั้นตอน
· สตง.ขอตรวจสอบ
ทั้งนี้
ในเรื่องดังกล่าว ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินภาค 9 ได้เข้าพบผู้อำนวยการแขวงทางหลวงลำปางที่ 1 และสำนักงานกองทุนพัฒนาไฟฟ้า โรงไฟฟ้าแม่เมาะ
เพื่อขอตรวจสอบโครงการก่อสร้างหลักกิโลเมตรยักษ์ดังกล่าว ว่ามีการใช้งบประมาณ
และดำเนินการอย่างถูกต้องหรือไม่
เนื่องจากทราบว่าการก่อสร้างไม่ได้รับอนุญาตจากกรมทางหลวงแต่อย่างใด
· รองผู้ว่าฯเรียกประชุมกองทุน
ขณะเดียวกัน
นายสมชัย กิจเจริญรุ่งโรจน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดลำปาง ได้มีการเรียกประชุมคณะกรรมการกองทุนพัฒนาไฟฟ้า
โรงไฟฟ้าแม่เมาะ วันที่ 9 มิ.ย. 60 เพื่อความกระจ่างในการใช้จ่ายเงินงบประมาณ
หลังจากที่มีกระแสข่าวถึงการใช้งบประมาณออกไปว่ายังไม่เห็นโครงการที่เป็นรูปธรรม
ซึ่งเบื้องต้นทราบว่าชาวแม่เมาะต้องการโรงพยาบาลที่ทันสมัย
รวมไปถึงมหาวิทยาลัยแม่เมาะเกิดขึ้น
· ตามรอยหลักกิโลยักษ์
จากการตรวจสอบข้อมูลย้อนหลัง
ทราบว่า หลักกิโลเมตรยักษ์สี่แยกห้าเชียงสู่ประตูล้านนา
มีขนาดสูง 14 เมตร
กว้าง 7 เมตร ตั้งอยู่ที่บริเวณสี่แยกภาคเหนือ อ.เมือง
จ.ลำปาง เริ่มก่อสร้างเมื่อปี 2551 ใช้งบประมาณจากกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
อ.แม่เมาะ 2.89
ล้านบาท โดยนายดิเรก ก้อนกลีบ
ผู้ว่าราชการจังหวัดลำปางในสมัยนั้น
มองว่าเส้นทางสายนี้สามารถไปสู่เชียงใหม่ เชียงราย เชียงตุง เชียงรุ่ง
และเชียงทองได้
จึงมีความคิดว่าหลักกิโลยักษ์จะเป็นจุดเริ่มต้นศูนย์กลางของภาคเหนือตอนบน
และเป็นสัญลักษณ์ของการกำหนดเมืองลำปาง จะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน
เพิ่มศักยภาพของจังหวัดลำปาง ให้ไม่เป็นแค่เมืองผ่านธรรมดา
· ผู้ว่าฯดิเรกยันใช้เงินถูกต้อง
นายดิเรก
ยืนยันว่า การก่อสร้างหลักกิโลเมตรขนาดใหญ่ โดยใช้เงินจากกองทุนฯรอบโรงไฟฟ้า
ไม่ผิดหลักเกณฑ์ เพราะถือว่าผ่านบอร์ดคณะกรรมการฯ
เป็นเรื่องของการบริหารจัดการจังหวัด ซึ่งคณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า
ก็ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการพัฒนาศักยภาพจังหวัดลำปาง โดยได้มีการตรวจรับงานเมื่อวันที่ 16 ก.ค.51
· ทางหลวงไม่อนุญาต
ขณะที่ผู้อำนวยการสำนักทางหลวงที่
1 เชียงใหม่ มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดไม่อนุญาตให้ก่อสร้าง
เนื่องจากเกรงว่าจะมีผลกระทบต่อการใช้รถใช้ถนน
เพราะบริเวณที่ก่อสร้างหลักกิโลเมตรอยู่ติดกับแยกไฟแดงและสถานที่จอดรถไม่สะดวกมากนัก แต่การก่อสร้างก็ได้ดำเนินต่อไปจนแล้วเสร็จ
โดยไม่ไม่ได้รับอนุญาตจากกรมทางหลวงแต่อย่างใด เมื่อได้มีการก่อสร้างไปแล้วจึงปล่อยให้เลยตามเลย
เนื่องจากขณะนั้นยังไม่ได้มีการก่อสร้างถนนวงแหวน หรือถนนยกระดับ
แต่ทางจังหวัดก็ยังไม่มีการเข้าไปปรับภูมิทัศน์ในพื้นที่ เนื่องจากทางแขวงการทางมีแผนงานก่อสร้างทางยกระดับบริเวณสี่แยกดังกล่าว
จึงส่งเรื่องให้แขวงการทางพิจารณาว่าสามารถทำได้หรือไม่
· ปรับภูมิทัศน์ แม้สร้างผิด
ต่อมาในเดือน
ธ.ค.53 แขวงการทางลำปางเห็นด้วยที่จะจัดให้มีการปรับปรุงภูมิทัศน์บริเวณหลักกิโลเมตรยักษ์ และได้มอบหมายให้สำนักภูมิสถาปัตย์ออกแบบ งบประมาณในการปรับปรุงภูมิทัศน์ไว้
ประมาณ 8 ล้านบาท โดยนายสังวร พรหมศร รองผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ แขวงการทางลำปาง
ในสมัยนั้น ยอมรับว่าการก่อสร้างไม่ถูกต้องเพราะหลักกิโลเมตรยักษ์ก่อสร้างก่อนที่จะได้รับอนุญาตจากกรมทางหลวง แต่เมื่อได้มีการก่อสร้างไปแล้วและเป็นที่ยอมรับของประชาชนและนักท่องเที่ยว
จะไปทุบทิ้งเลยก็ทำไม่ได้ ประกอบกับได้มีคนสอบถามเข้ามาที่แขวงการทางว่าจะมีการปรับปรุงหรือไม่
คิดว่าน่าจะมีการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิม จึงมีการจัดทำเป็นสวนหย่อม
ปลูกต้นไม้ ให้นักท่องเที่ยวได้แวะถ่ายภาพเป็นที่ระลึกได้
· คาดทุบปลายปีนี้
กระทั่งล่าสุดได้มีการก่อสร้างขยายถนน 8 เลน
จึงได้มีการรื้อสวนหย่อมออกไป
และอีกไม่กี่เดือนนี้จะมีการเริ่มก่อสร้างถนนยกระดับ
คาดว่าจะมีการทุบหลักกิโลเมตรยักษ์ช่วงปลายปี 2560 นี้
(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1132 วันที่ 9 - 15 มิถุนายน 2560)
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น