วันศุกร์ที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2560

เลือกผอ.ไทยพีบีเอส เซ็ตซีโร่กรรมการนโยบาย

จำนวนผู้เข้าชม IP Address

 ยายระยะเวลาแล้ว ก็ยังไม่ถึง 12 คนตามเป้าหมาย และคงไม่มีเหตุผลที่ต้องขยายเวลาอีก ดังนั้น ผู้สมัครเข้ารับการสรรหาเป็น ผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ผอ.สสท) หรือผอ.ไทยพีบีเอส จากเดิม 8 คน เพิ่มมา 1 คน และที่สุดคนสมัครใหม่ลาออกไป กลับมาเหลือ 8 คนเท่าเดิม จึงต้องเพียงพอที่จะเริ่มกระบวนการสรรหา ผอ. สสท หรือไทยพีบีเอสได้แล้ว

ใครจะมาเป็น ผอ.ไทยพีบีเอส คนใหม่ ระหว่าง “ความน่าจะเป็น” กับ “ความเหมาะสม” อาจเป็นคนละเรื่อง คนละกรณีกัน คนที่น่าจะได้เป็นกลับไม่ได้ คนที่ไม่น่าได้เป็นกลับได้ เพราะเหมาะสมกว่า เนื่องเพราะความเหมาะสมหรือไม่นั้น ไม่ได้ขึ้นอยู่กับมาตรฐานทั่วไป เช่น มีความรู้ความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มีผลงานเป็นที่ประจักษ์ หรือเป็นที่ยอมรับในวงการ  หากแต่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการนโยบาย ซึ่งต่างคนอาจมีเหตุผลเฉพาะตัวที่อธิบายไม่ได้

กรณีเลือก นพ.กฤษดา  เรืองอารีย์รัชต์ นั่นก็เป็นตัวอย่างหนึ่ง ถึงแม้ไม่อาจปฏิเสธความรู้ ความสามารถ ความเอาการเอางานของ น.พ.กฤษดา ที่หากไม่ใช่ ไทยพีบีเอส เขาย่อมเหมาะสมที่สุด

ครั้งนี้ กรรมการนโยบาย หรือ กนย.กลุ่มคนที่ทรงอิทธิพลที่สุด และสับสนวุ่นวายที่สุดในไทยพีบีเอส คงพอมีบทเรียนจากกรณี นพ.กฤษดาได้ และหากยึดหลักการ ตามพรบ.สสท.ที่กำหนดคุณสมบัติสำคัญของผู้อำนวยการ ซึ่งต้องถือเป็นข้อแรกตามมาตรา 32  นอกจากคุณสมบัติพื้นฐานการมีสัญชาติไทย และอายุไม่เกิน 65 ปี ก็คือ

(3) มีความรู้ความเข้าใจและมีความเชี่ยวชาญ หรือมีประสบการณ์ในกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการวิทยุโทรทัศน์ หรือการสื่อสารมวลชน

การขาดความรู้ ความเข้าใจในวิชาชีพเฉพาะ ได้แสดงผลให้เห็นแล้ว อย่างน้อยก็ในเวทีรางวัลด้านข่าว และรายการ ซึ่งไทยพีบีเอส เคยโดดเด่นอย่างยิ่งในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมา

การขาดความรู้ ความเข้าใจในวิชาชีพสื่อมวลชน ทำให้ไทยพีบีเอส มุ่งเน้นเป้าหมายอื่น เช่นเป้าหมายในเชิงสุขภาพ พลานามัยพนักงาน มากกว่าการพัฒนาปรับปรุงเนื้อหาข่าว และรายการ

แต่ก็ไม่ได้แปลว่า ผอ.ไทยพีบีเอส มีคุณสมบัติข้อนี้แล้วจะประสบความสำเร็จ คนที่มีรากงอกจากข่าว มักอ่อนด้อยในเรื่องบริหารองค์กร บริหารจัดการคน  นี่ก็เป็นเรื่องที่ไม่ง่ายนักที่จะเลือกคนที่มีดีเอ็นเอลูกผสมแบบนี้  ดังนั้น ผอ.ไทยพีบีเอส จึงต้องมีแขนซ้าย แขนขวา ที่วางใจได้ คือ คนที่เคยผ่านการบริหารองค์กรสื่อมา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเชี่ยวชาญเรื่องข่าวมาก หรือคนที่มีความรู้ในการปรับใช้กฎหมายกับองค์กรที่มีลักษณะพิเศษ มีเจตนารมณ์พิเศษ เช่นไทยพีบีเอส

และคู่ขนานไปกับการที่ต้องบริหารข่าว บริหารรายการ อีกทั้งกู้สถานการณ์ของไทยพีบีเอส ที่ไม่ถึงขนาดตกต่ำสุด ให้ฟื้นคืนกลับมาอย่างน้อยก็เท่ากับช่วงเวลาที่มี ผอ.มาจากสายข่าว  ผอ.ไทยพีบีเอส จะต้องรับมือ กับ กนย.ที่คล้ายกับเมืองอกแตก สับสนในเป้าหมาย นโยบาย โดยเฉพาะเจตนารมณ์ของกฎหมาย สสท.ที่ออกแบบไว้ให้องค์กรนี้มีความเป็นอิสระ ปลอดจากอำนาจทุกรูปแบบ

ตัวอย่างการตัดสินใจ และการกระทำที่ผิดแบบแผน เจตนารมณ์ของกฎหมาย และอาศัยเป็นไม้หลักไม่ได้ คือ การอ้างเหตุผลที่ขัดแย้งกันเอง ในกรณีการซื้อตราสารหนี้ ซีพีเอฟ ที่กนย.ได้เคยแสดงความเสียใจและขออภัยที่สร้างความกังวลใจให้กับประชาชน

ประกาศฉบับแรก อธิบายว่า การทำนิติกรรมซื้อหุ้นกู้ ซีพีเอฟ ยังไม่ได้ดำเนินการให้ถูกต้อง ครบถ้วน ทุกขั้นตอนตามที่กฏหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้  ถึงแม้จะเคยมีมติเห็นชอบกรอบการบริหารเงินของ สสท.ไว้แล้ว

 ฉบับหลัง บอกว่า การซื้อตราสารหนี้ ของซีพีเอฟ ไม่มีข้อห้าม ตาม พรบ.สสท ถึงแม้ว่าคณะผู้บริหารยังมิได้ดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วน ทุกขั้นตอนตามที่กฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้

แต่ นพ.กฤษดา ลาออกไป ตั้งแต่มีประกาศฉบับแรกแล้ว

 เรื่องการซื้อตราสารหนี้ หรือหุ้นกู้ ซีพีเอฟ แม้ประกาศฉบับหลัง จะเสมือนเป็นการประกาศนิรโทษกรรม คือไม่มีคนผิดเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็น ผอ.หรือ กนย.เพราะมาตรา 11 (7) เขียนไว้ว่า ดอกผลที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินขององค์กร ถือว่าเป็นทุน ทรัพย์สิน และรายได้ขององค์กรด้วย

ตีความตามมาตรานี้ ถือว่าซื้อหุ้นกู้ ซีพีเอฟ ทำได้

แต่ถ้าดูมาตรา 8 และมาตรา 9 ประกอบกับเจตนารมณ์ของกฎหมาย ไม่มีบทบัญญัติใดให้อำนาจ ผอ.ไว้ เพราะดอกผลตามความใน มาตรา 11(7) หมายถึงดอกผลปกติที่เกิดจากเงินหรือทรัพย์สินของ สสท.เช่น ดอกเบี้ยเงินฝาก ค่าเช่าระบบโครงข่าย ไม่ได้รวมความถึงดอกผลจากการลงทุน โดยเฉพาะการลงทุนในธุรกิจที่มีคำถาม เช่น ซีพีเอฟ

นี่คือ กรรมการนโยบายที่ ผอ.ใหม่ จะต้องสัมพันธ์เกี่ยวข้องด้วย จะจัดลำดับความสัมพันธ์กันอย่างไร จะสื่อสารกันอย่างไร จะทำงานร่วมกันแบบไหน  เป็นภาระหนักอยู่พอ ๆกับการบริหารความหลากหลาย ในไทยพีบีเอส ซึ่งอยู่ในภาวะสุญญากาศมาระยะหนึ่งแล้ว

ถ้าเซ็ตซีโร่กรรมการนโยบายได้ปัญหาของไทยพีบีเอสจะหายไปครึ่งหนึ่ง

(หนังสือพิมพ์ลานนาโพสต์ ฉบับที่ 1133 วันที่ 16 -22 มิถุนายน 2560)
Share:

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

18 ปี ลานนาโพสต์

โครงการปั้นดาว

โครงการปั้นดาว
ขับเคลื่อนโดย Blogger.

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม

สถิติการเข้าชมเว็บไซต์